อหิวาตกโรค (Cholera)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

อหิวาตกโรค หรือโรคอหิวาต์ (Cholera) หรือโบราณเรียกว่า ‘โรคห่า หรือโรคลงราก’ คือโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ ‘วิบริโอ โคเลอรี (Vibrio cholerae)’ ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของลำไส้เล็ก และส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย (ท้องร่วง) รุนแรง ที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมง

อหิวาตกโรค จัดเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้เท่ากัน เป็นโรคพบทั่วโลก แต่พบบ่อยในประเทศยังไม่พัฒนา/กำลังพัฒนา ซึ่งพบเกิดได้ตลอดทั้งปี และมีการระบาดเป็นครั้งคราวเสมอ แต่พบได้น้อยมากในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มักพบในคนที่กลับจากการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังไม่พัฒนา ทั่วโลกพบโรคนี้ได้ประมาณ 3 - 5 ล้านคนต่อปี และอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ในปี 2010 ประมาณ 58,000 - 130,000 คน

ประเทศไทยรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์อหิวาตก โรคในประเทศไทยไม่แน่นอน มีการรายงานในช่วงปี พ.ศ. 2549-2558 พบผู้ป่วยได้ 0.01-2.51 รายต่อประชากร 1 แสนคน โดยมีอัตราเสียชีวิตจากโรคนี้ 1-14 ราย/ปี

อหิวาตกโรคเกิดจากอะไร? ติดต่ออย่างไร?

อหิวาตกโรค

อหิวาตกโรค เป็นโรคติดต่อรวดเร็วรุนแรง และก่อการระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเกิดจากการได้รับเชื้ออหิวาตกโรคซึ่งอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย (ซึ่งแบคทีเรียสามารถอยู่ได้นานถึง 7 - 14 วัน) แล้วปนเปื้อนในอาหาร, น้ำดื่ม, น้ำแข็ง, จากผิวน้ำในแหล่งน้ำดื่ม, จากน้ำตามชายฝั่ง ชายคลอง, น้ำใช้, และเมื่อกินอาหารและ/หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฯจากอุจจาระเหล่านี้ จึงก่อการติดโรค

นอกจากนั้น อาจพบเชื้ออหิวาตกโรคได้ในอาหารทะเลโดยเฉพาะในหอย ในแพลงตอน/Plankton (สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากที่อาศัยอยู่ในน้ำ) และในสาหร่าย ซึ่งเมื่อบริโภคอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อนี้ได้

เมื่อเชื้ออหิวาตกโรคเข้าสู่ร่างกาย เชื้อบางส่วนจะถูกทำลายจากกรดในกระเพาะอาหาร ดังนั้น คนที่กินยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือผ่าตัดกระเพาะอาหาร เมื่อติดเชื้อจึงมักมีอาการรุนแรงเพราะจะได้รับเชื้อในปริมาณสูง

เมื่อเชื้ออหิวาตกโรคส่วนที่รอดจากการทำลายของกรดในกระเพาะอาหาร เชื้อฯจะผ่านจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็ก เชื้อจะเจริญเติบโตและสร้างสารพิษซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบของผนังลำไส้เล็ก ผนังลำไส้เล็กจึงไม่สามารถดูดซึมน้ำและเกลือแร่ได้ และยังกระตุ้นให้น้ำและเกลือแร่ในร่างกายซึมผ่านผนังลำไส้ฯออกมาในลำไส้เล็กในปริมาณมาก ดังนั้นจึงก่ออาการท้องเสีย/ท้องร่วงเป็นน้ำในปริมาณมาก มีรายงานมากได้ถึงวันละ 10 - 20 ลิตรโดยไม่มีมูกเลือด และสีของอุจจาระจะออกเป็นสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว ทั้งนี้เชื้อจะไม่รุกรานเข้าร่างกายแต่จะจำกัดอยู่เฉพาะในลำไส้ฯ ผู้ป่วยจึงมักไม่มีอาการไข้ซึ่งต่างจากการติดเชื้อชนิดอื่นที่ทำให้เกิดท้องเสีย

อหิวาตกโรคมีอาการอย่างไร?

อหิวาตกโรค จะมีอาการหลังได้รับเชื้อแล้ว 2 - 3 ชั่วโมงไปจนถึงประมาณ 5 วัน (ระยะฟักตัวของโรค ทั่วไปประมาณ 2-3 วัน) ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับ และความรุนแรงของเชื้อซึ่งมีหลายชนิดย่อยที่มีความรุนแรงโรคต่างกัน

โดยอาการสำคัญของอหิวาตกโรค คือ

  • ท้องเสียเฉียบพลัน
  • ท้องเสียเป็นน้ำโกรก มีเศษอุจจาระปนได้เล็กน้อย
  • อุจจาระมีสีขาวเหมือนน้ำซาวข้าว
  • อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา
  • อาจร่วมกับมี
    • คลื่นไส้อาเจียนหรือไม่ก็ได้ และ
    • มักไม่มีไข้

นอกจากนั้น อาการอื่นๆที่พบร่วมได้ (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) คือ

  • ปวดท้อง แบบปวดบีบ
  • อาการจากภาวะขาดน้ำและขาดเกลือแร่ที่ออกมาพร้อมกับอุจจาระ เนื่องจากอุจจาระเป็นน้ำอย่างมาก รวมทั้งเมื่อมีอาเจียนร่วมด้วย อาการจากการขาดน้ำและเกลือแร่ ที่สำคัญคือ
    • กระหายน้ำมาก
    • ปาก/คอแห้ง ผิวหนังแห้งจนจับตั้งได้
    • รอบตาคล้ำ ลึกโบ๋
    • ในเด็กอ่อนจะร้องไห้ไม่มีน้ำตา และมีกระหม่อมบุ๋ม
    • ปัสสาวะน้อย สีเหลืองเข้มมาก หรือไม่ถ่ายปัสสาวะเลย
    • เหนื่อยอ่อน อ่อนเพลียมาก
    • ชีพจรเต้นเร็ว หัวใจเต้นเร็ว
    • ความดันโลหิตต่ำ และ
    • โคม่าในที่สุด

แพทย์วินิจฉัยอหิวาตกโรคอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยอหิวาตกโรคได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติสัมผัสโรค และที่สำคัญที่สุด คือ ลักษณะอาการท้องเสีย และลักษณะอุจจาระ(ดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’)
  • การตรวจอุจจาระ
  • การวินิจฉัยที่แน่นอน จะได้จากการเพาะเชื้อจากอุจจาระ
  • นอกจากนั้นคือการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตาม อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเลือดซีบีซี/CBC
    • การตรวจเลือดดูค่าเกลือแร่ในเลือด (Blood electrolyte)

รักษาอหิวาตกโรคอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคอหิวาตกโรค ที่สำคัญที่สุด คือ

  • *การให้น้ำและเกลือแร่อย่างเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (มักให้ทางหลอดเลือดดำและการดื่มเท่าที่จะดื่มได้) ซึ่งเมื่อรุนแรงจะส่งผลให้โคม่าและเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาเป็นชั่วโมง ซึ่งบ่อยครั้งการรักษาให้น้ำและเกลือแร่จำเป็นต้องให้ในโรงพยาบาลโดยเป็นผู้ป่วยใน
  • ร่วมกับการให้ยาผงละลายเกลือแร่ (ORS) ในกรณีผู้ป่วยบริโภคทางปากได้
  • แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ เป็นรายผู้ป่วยไป เพราะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น และที่สำคัญช่วยฆ่าเชื้ออหิวาในอุจจาระ จึงลดโอกาสโรคติดต่อไปสู่ผู้อื่นและโอกาสระบาดของโรค

อหิวาตกโรครุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของอหิวาห์ตกโรค ได้แก่

  • เมื่อรักษาได้ทันท่วงทีก่อนเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง โอกาสเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคน้อยกว่า 1%
  • แต่เมื่อพบแพทย์/มาโรงพยาบาลช้า โอกาสเสียชีวิตสูงถึงประมาณ 50 - 60% เพราะอาจถ่ายอุจจาระได้ถึงวันละ 10 - 20 ลิตร

แต่อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคนี้ยังขึ้นกับ

  • ชนิดย่อยของเชื้อฯ เช่น เชื้อมีรายงานการระบาดในอินเดียเมื่อ 2004 ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 2 ชั่วโมงหลังอาการท้องเสีย
  • การได้รับเชื้อในปริมาณมาก
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยก่อนติดเชื้อ
  • อายุ โดยโรคจะรุนแรงมากขึ้นใน เด็ก และ ผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ โดยทั่วไป อหิวาตกโรคมักรักษาหายได้ภายใน 3 - 6 วัน และระยะแพร่เชื้อคือ ช่วงมีอาการท้องเสีย แต่ดังกล่าวแล้วว่าเชื้อสามารถอยู่ในอุจจาระได้นานถึง 7 - 14 วันซึ่งช่วงเวลานี้จะแพร่เชื้อได้เสมอ

รวมถึงเมื่อหายแล้ว ยังสามารถกลับมาติดเชื้อได้อีกถ้าได้รับเชื้ออหิวาห์อีก เพราะการเป็นโรคนี้ไม่ได้ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้

ในส่วนผลข้างเคียงจากโรคคือ

  • ภาวะร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่ ดังกล่าวแล้ว

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีท้องเสียที่อาการเข้าข่ายอหิวาตกโรคดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบบริโภคยาผงเกลือแร่ (โออาร์เอส/ORS) และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน

เมื่อมีผู้ป่วยอหิวาตกโรคในบ้าน ทุกคนในบ้านต้อง

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่างเคร่งครัด
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆเสมอ และทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังการดูแลผู้ป่วย
  • ทำลายอุจจาระผู้ป่วยด้วยการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีน หรือตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล
  • เสื้อผ้า เครื่องใช้ ผู้ป่วยต้องซักล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีนหรือน้ำต้มเดือดเช่นกัน
  • ดื่มแต่น้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก อาหารทุกชนิดต้องปรุงสุก และบริโภคทันทีหลังปรุง ไม่ทิ้งค้าง

ป้องกันอหิวาตกโรคอย่างไร?

การป้องกันอหิวาตกโรคที่สำคัญคือ

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • ดื่มแต่น้ำสะอาด
  • ระวังการกินน้ำแข็ง
  • เมื่ออยู่ในแหล่งโรค ต้องรักษาความสะอาดของอาหาร และต้องเป็นอาหารปรุงสุก กินทันที และโดยเฉพาะน้ำดื่ม
    • ควรดื่มน้ำที่ต้มสุก หรือน้ำขวดที่ขวด/ฝาขวดปิดมิดชิดก่อนบริโภค ขวดไม่มีรอยรั่วซึม รวมถึงน้ำที่ใช้ แปรงฟัน บ้วนปาก
    • ไม่บริโภคน้ำแข็ง
  • กินแต่อาหารปรุงสุกโดยเฉพาะอาหารทะเล
  • ผัก ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาด ผลไม้ควรปอกเปลือกเสมอเมื่ออยู่ในแหล่งโรคนี้
  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค (แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่องวัคซีนนี้ ในเว็บ haamor.com) เป็นวัคซีนชนิดกินที่ต้องกินอย่างน้อย 2 - 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 สัปดาห์ และภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นพอเพียงประมาณ 1 สัปดาห์หลังได้วัคซีนครบ และต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นทุก 6 เดือน - 2 ปี ขึ้นกับอายุ
    • ซึ่งองค์การอนามัยโลก แนะนำการได้รับวัคซีนเฉพาะในประเทศที่มีการระบาดของโรคเป็นประจำ และเฉพาะในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงคือ เด็ก และผู้ป่วยโรคเอดส์
    • ส่วนสหรัฐอเมริกาแนะนำวัคซีนนี้ เฉพาะในผู้จะไปท่องเที่ยวในประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้เป็นประจำ
    • ในประเทศไทยการใช้วัคซีนตัวนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ ดังนั้น เมื่อผู้อ่านสนใจควรปรึกษาแพทย์
    • *ต้องตระหนักว่า วัคซีนฯไม่ได้ป้องกันอหิวาตกโรคได้100% ดังนั้นถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องดูแลรักษาความสะอาดใน อาหาร น้ำดื่ม มือ และในการใช้ส้วม

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Ryan, E, and Ferraro, M. Z2011). Case 20-2011. N Engl J Med. 364, 2536-2541.
  3. http://www.boe.moph.go.th/Annual/AESR2015/aesr2558/Part%201/07/cholera.pdf [2019,Aug3]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Cholera [2019,Aug3]
  5. https://www.cdc.gov/cholera/general/index.html [2019,Aug3]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/962643-overview#showall [2019,Aug3]
  7. https://www.netdoctor.co.uk/medicines/infection/a8605/dukoral-cholera-vaccine/ [2019,Aug3]