อลูมิเนียม ซิลิเกต (Aluminium silicates)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สาร/ ยาอลูมิเนียม ซิลิเกต(Aluminium silicates หรือ Aluminum silicate) เป็นสารประกอบที่เกิดจากการรวมตัวของธาตุอลูมิเนียม/อะลูมิเนียม(Aluminium), ซิลิคอน(Silicon), ออกซิเจน(Oxygen) และอาจมีน้ำปนอยู่ด้วย ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตยังมีชื่อเรียกอื่นอีกตามที่บุคคลในพื้นที่ตั้งให้ เช่น ดินขาว(China clay), ดินขาวใช้ทำกระเบื้อง(Porcelain clay), โบลัส อัลบา(Bolus alba) และเกาลิน (Kaolin) นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สารอลูมิเนียม ซิลิเกตหรือเกาลิน มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำเหลือง และพิษจากพืชจำพวกไอวี่(Poison ivy) หรือโอ๊ค (Poison oak) นอกจากนั้น ยังช่วยให้ผิวหนัง แห้ง นวล จึงนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางสำหรับการดูแลทาผิวหน้าได้ด้วย

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทางการแพทย์จึงได้นำเอาสารอลูมิเนียม ซิลิเกตมาใช้เป็นยาบำบัดอาการท้องเสียจากภาวะลำไส้อักเสบ และในอดีตก็เคยใช้ร่วมรักษาอาการอหิวาตกโรค และโรคบิด อย่างไรก็ตามสูตรตำรับยาอลูมิเนียม ซิลิเกตดังกล่าวไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ธรรมชาติของสาร/ยาอลูมิเนียมซิลิเกตจะไม่ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดด้วยตัวมันไม่ละลายน้ำ หลังจากดูดซับพิษของเชื้อโรคที่กระตุ้นให้มีอาการท้องเสียแล้ว ก็จะถูกขับถ่ายทิ้งไปทางอุจจาระ และใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางสำหรับใช้ทาผิวหนัง/ผิวหน้า

ยังมีข้อจำกัดการใช้ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังนี้

  • ห้ามใช้กับปู้แพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอื่นๆร่วมกับสูตรตำรับยาที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม ซิลิเกต ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยาเหล่านั้นถูกปิดกั้นหรือถูกบดบัง จนส่งผลให้ยาต่างๆที่รับประทานร่วมเหล่านั้นด้อยประสิทธิภาพในการรักษา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาต่างๆร่วมกับยา อลูมิเนียม ซิลิเกต ควรรับประทานยาชนิดอื่นก่อนยาอลูมิเนียม ซิลิเกตประมาณ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ หรือไม่ก็รับประทานยาอื่นๆเหล่านั้นหลังจากรับประทานยาอลูมิเนียม ซิลิเกตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
  • ห้ามรับประทานยาอลูมิเนียม ซิลิเกตเป็นปริมาณสะสมเกิน 262 กรัม/วัน และไม่ควรใช้ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตติดต่อกันนานเกิน 2 วันขึ้นไป
  • แพทย์มักจะหลีกเลี่ยงการใช้ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ด้วยตัวยาจะรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุสำคัญๆอย่างเช่น ธาตุเหล็ก และโปแตสเซียม ซึ่งจะทำให้ร่างกายของมารดามีภาวะขาดแคลนเกลือแร่ต่างๆตามมา
  • แพทย์มักจะไม่นิยมใช้ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตเพียงอย่างเดียวในการบำบัดอาการท้องเสียที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย แต่จะพบเห็นการใช้ควบคู่ไปกับยาปฏิชีวนะ และสารละลายเกลือแร่(ORS) ร่วมกันเพื่อบำบัดอาการท้องเสีย

สูตรตำรับของยาอลูมิเนียม ซิลิเกตที่มีจำหน่ายในประเทศจะเป็นลักษณะแบบยาสูตรผสม เช่น ผสมร่วมกับ Pectin, Neomycin, Furazolidone, Aluminium hydroxide, Atropine sulfate, Magnesium trisilicate, ด้วยสูตรตำรับแต่ละรายการมีตัวยาสำคัญต่างๆไม่เท่ากันและไม่เหมือนกันที่รวมถึงยาอลูมิเนียม ซิลิเกต จึงส่งผลให้ขนาดการรับประทานยาเหล่านี้มีความแตกต่างกันออกไป ผู้บริโภค/ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งของแพทย์หรือขอคำแนะนำการใช้จากเภสัชกรก่อนใช้ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตทุกครั้ง

อลูมิเนียม ซิลิเกตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อลูมิเนียมซิลิเกต

ยาอลูมิเนียม ซิลิเกต มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการท้องเสียของผู้ใหญ่และเด็กโต
  • ช่วยเพิ่มมวลให้กับอุจจาระ ทำให้ช่วยหยุดอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ
  • ป้องกันการดูดซึมของพิษจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  • เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางใช้ทาผิวหนัง

อนึ่ง บทความนี้ จะกล่าวถึงยาอลูมิเนียม ซิลิเกต เฉพาะกรณีใช้เป็นยารับประทานเพื่อแก้ท้องเสียเท่านั้น ส่วนการใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางฯ แนะนำให้อ่านจากเอกสารกำกับยา/เอกสารกำกับการใช้เครื่องสำอางต่างๆเหล่านั้นจากผู้ผลิต

อลูมิเนียม ซิลิเกตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตมีกลไกในการออกฤทธิ์เพื่อบรรเทาอาการท้องเสีย โดยจะทำตัวเหมือนสารดูดซับที่คอยดักจับแบคทีเรียและพิษของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย การลดปริมาณแบคทีเรียและพิษของตัวมัน จะช่วยทำให้อาการท้องเสียทุเลาเบาบางลง

อลูมิเนียม ซิลิเกตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตที่ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน

อลูมิเนียม ซิลิเกตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการรับประทานยาอลูมิเนียม ซิลิเกต เพื่อรักษาอาการท้องเสีย ขึ้นอยู่กับอาการความรุนแรงของผู้ป่วย และด้วยสูตรตำรับที่มีในประเทศเป็นสูตรตำรับแบบผสมยาอื่นๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ”บทนำ” ขนาดการใช้ยานี้จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามทางคลินิก มีข้อแนะนำของขนาดรับประทานทั่วไปดังนี้

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานยาอลูมิเนียม ซิลิเกตขนาด 26.2 กรัมหลังเกิดอาการท้องเสียทุกๆ 6 ชั่วโมง จนกระทั่งการขับถ่ายอุจจาระกลับมาปกติ
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิคในการใช้ยานี้กับเด็กวัยนี้

อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้เกิน 262 กรัม/วัน
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกิน 2 วันติดต่อกัน
  • สำหรับสูตรตำรับยานี้ภายในประเทศจะมีขนาดการใช้ตัวยาอลูมิเนียม ซิลิเกตแตกต่างกันออกไป จึงอาจไม่ตรงกับขนาดรับประทานที่เขียนในบทความนี้ จึงควรใช้ยานั้นๆตามคำสั่งแพทย์ หรือตามคำแนะนำของเภสัชกร

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอลูมิเนียม ซิลิเกต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอลูมิเนียม ซิลิเกต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

การรับประทานยาประเภทอลูมิเนียม ซิลิเกตจะขึ้นอยู่กับอาการท้องเสีย หากรับประทานยาครั้งแรกแล้วยังพบอาการท้องเสียอีก จะต้องรับประทานยาครั้งถัดไปโดยเว้นระยะเวลาห่างกัน 6 ชั่วโมง กรณีลืมรับประทานยาสามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

กรณีใช้ยาแก้ท้องเสียนี้ด้วยตนเอง แต่ยังมีอาการท้องเสียอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบแพทย์ที่สถานพยาบาลโดยเร็ว เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเอง

อลูมิเนียม ซิลิเกตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตที่รับประทานแก้ท้องเสีย สามารถรบกวนการดูดซึมเกลือแร่ เช่น โซเดียม โปแตสเซียม จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย จึงอาจส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย

มีข้อควรระวังการใช้อลูมิเนียม ซิลิเกตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอลูมิเนียม ซิลิเกต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยาอลูมิเนียม ซิลิเกตร่วมกับยาอื่นๆพร้อมกัน ควรเว้นระยะเวลารับประทานยาห่างกันตามที่ได้เสนอไว้ใน “บทนำ”
  • ห้ามใช้ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตติดต่อกันเกิน 2 วัน ด้วยอาจทำให้สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายสูญเสียไป กรณีที่อาการท้องเสียยังไม่หยุด ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณษปรับเปลี่ยนการรักษา
  • ห้ามใช้ยานี้ที่หมดอายุแล้ว เพราะอาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย หรือประสิทธิภาพการทำงานของตัวยาไม่ดีเท่าเดิม
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ควรอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • กรณีใช้ยานี้แล้วอาการท้องเสียยังไม่ทุเลา ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณษปรับแนวทางการรักษา ไม่ควรปล่อยให้อาการท้องเสียรุนแรงจนร่างกายทรุดหนักแล้วจึงมารักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอลูมิเนียม ซิลิเกตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อลูมิเนียม ซิลิเกตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาอลูมิเนียม ซิลิเกตร่วมกับ ยาDolutegravir เพราะจะทำให้การดูดซึม ของยา Dolutegravir จากระบบทางเดินอาหารลดน้อยลง จนอาจหมดประสิทธิภาพในการรักษาอาการโรคเอชไอวี(HIV)
  • ยังมียาบางกลุ่มเมื่อรับประทานพร้อมกับยาอลูมิเนียม ซิลิเกตจะทำให้การดูดซึมตัวยาเหล่านั้นจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น เช่น ยาCodeine ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ ง่วงนอน หรือวิงเวียน อย่างรุนแรงตามมา

ควรเก็บรักษาอลูมิเนียม ซิลิเกตอย่างไร?

ควรเก็บยาประเภทอลูมิเนียม ซิลิเกตภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อลูมิเนียม ซิลิเกตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอลูมิเนียม ซิลิเกต มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Kaolin-Pectin (เกาลิน-เพคติน)Suphong Bhaesaj
Kaopectal (เกาเพคตัล)Silom Medical
Kaolin Mixture w/ Pectin Osoth (เกาลินมิกเชอร์ วิทเพคติน โอสถ)Osoth Inter Laboratories
Kaolin Mixture Chew Brothers (เกาลินมิกเชอร์ จิวบราเทอร์) Chew Brothers
Kaolin & Pectin Mix DHA (เกาลิน & เพคติน มิกซ์ ดีเอชเอ)DHA

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Aluminium_silicate [2018,March3]
  2. https://www.drugs.com/npc/kaolin-hydrated-aluminum-silicate.html [2018,March3]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/kaolin/?type=brief&mtype=generic [2018,March3]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/kaolin-index.html?filter=3&generic_only= [2018,March3]