อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก: กฎหมาย...เรื่องการขับรถ

ตั้งแต่ทราบว่าตนเองเป็นโรคลมชักมาหนึ่งปี ออยไม่ได้ขับรถเลยเหตุผลหนึ่งก็คงเพราะกลัว และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ หลายคนที่เพิ่งทราบว่าออยเป็นโรคลมชัก มักจะบอกออยว่าอย่าขับรถ เพราะเขาเคยเห็นมีประสบการณ์จากเพื่อนที่เป็นโรคลมชักขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุบ้าง พิการบ้าง ไม่ใช่แค่กับตนเองอย่างเดียว ล่าสุดเพิ่งมีข่าวที่ญี่ปุ่น ชายคนหนึ่งขับรถฝ่าไฟแดง พุ่งชนรถแท็กซี่และคนที่กำลังเดินถนนมากมาย ก่อนจะชนกับเสาไฟฟ้า ทำให้คนขับรถและคนอีก 7 คนเสียชีวิต และบาดเจ็บอีก 8 คน

ในหลายๆประเทศก็มีกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ป่วยโรคลมชักขับรถ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ประเทศทางยุโรป ออสเตรเลีย ในเอเชียก็มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งผู้ป่วยที่ยังควบคุมอาการชักไม่ได้จะถูกห้ามมิให้ขับรถ จนกว่าจะควบคุมอาการชักได้ (หมายถึงไม่มีการชักเลย) ตั้งแต่ 1-5 ปี ระยะเวลาก็แตกต่างกันไปในกฎหมายของแต่ละประเทศและแต่ละรัฐ (เช่น สมมติว่าเราไม่มีอาการชักเลยมา 3 ปี อาจจะขับรถได้ในประเทศที่ให้ขับรถได้หลังจากไม่ชัก 1 ปี แต่จะขับไม่ได้ในประเทศที่ให้ขับรถได้หลังจากที่ไม่ชัก 5 ปี) แต่ในบางประเทศก็ห้ามผู้ป่วยลมชักขับรถตลอดชีวิต เช่น แอฟริกา สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน บัลแกเรีย ส่วนอีกในหลายประเทศก็ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาตให้ผู้ป่วยโรคลมชักขับรถได้รวมถึงประเทศไทย จึงยังมีผู้ป่วยโรคลมชักที่เกิดอุบัติเหตุจากการชักขณะขับรถอยู่ไม่น้อย

ที่อยากจะเน้นเรื่องนี้เพราะออยได้ฟังประสบการณ์จากผู้ป่วยหลายๆคนมา รวมทั้งตัวเองก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุรถชนด้วย ออยเคยขับรถชนนู้นเฉี่ยวนี่มาหลายครั้ง โชคดีที่ออยยังไม่เป็นอะไรมาก (ที่รุนแรงที่สุดคือชนกับรถบรรทุก รถออยบุบไปครึ่งคัน แต่ออยโดนกระจกบาดนิดเดียว) แต่บางคนถึงกับพิการ หมดสติ หลับไม่ฟิ้นเลยก็มี ยิ่งเป็นปํญหาให้กับชีวิตและครอบครัวมากยิ่งขึ้นไปอีก

แต่ก็เข้าใจว่าในสังคมปัจจุบัน การจะไปไหนมาไหนก็คงไม่สะดวกหากไม่มีรถส่วนตัว โดยเฉพาะสำหรับคนวัยทำงาน และในเมืองไทยการคมนาคมในเมืองใหญ่ก็ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการเดินทางในเวลาเร่งรีบหรือไปไม่ทั่วถึง ทำให้บางทีก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขับรถเอง ถ้าเมืองไทยมีระบบขนส่งมวลชนที่ไปได้ทั่วทุกมุมเมืองอย่างรถไฟที่ญี่ปุ่น ค่ารถไฟก็ไม่แพง สะอาด คนมีระเบียบวินัย ทีที่สำหรับคนพิการอีกด้วย ก็คงจะดีไม่น้อย แต่ถ้าจะแก้เงื่อนไขเรื่องนี้คงใช้เวลานานเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น ถ้าใครอยากจะขับรถก็ควรปรึกษาคุณหมอก่อน เพราะถ้ายังควบคุมอาการชักได้ไม่ดี หลีกเลี่ยงไม่ขับรถได้จะดีที่สุด แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องใช้อย่างอื่นเข้าช่วย เช่น ไม่อดนอน ไม่ลืมทานยา ไม่เครียด สรุปแล้ว คือ ดูแลตนเองให้ดี หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เพื่อให้โอกาสเกิดอาการชักน้อยที่สุดค่ะ