อยู่อย่างไรให้เป็นสุขกับโรคลมชัก : ความรักของพ่อ-แม่...ต่อลูก

ความรักเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุด พ่อแม่สามารถตายแทนลูกได้ สำหรับโรคลมชัก พ่อแม่ของลูกที่เป็นโรคลมชัก แทบจะขาดใจตายแทนลูกที่เห็นลูกชักทุกครั้ง จึงพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไม่ให้ลูกชัก และมิให้เกิดอันตรายถ้ามีการชักนั้น ยิ่งถ้าลูกมีการชักบ่อยก็ยิ่งมีความกังวลมากขึ้น ไม่ยอมให้ลูกห่างจากสายตาตนเอง ผมขอเล่าเรื่องของ 1 ครอบครัวเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความรักของพ่อแม่

น้องผู้หญิงเป็นโรคลมชักชนิดชักเกร็งกระตุกทั้งตัว ควบคุมการชักได้ดีพอสมควร แต่ครั้งแรกที่เป็นนั้นอาการรุนแรงต้องอยู่โรงพยาบาลนาน 6 เดือน พ่อแม่จึงไม่สบายใจถ้าลูกต้องห่างจากสายตาตนเอง เริ่มจากทุกกิจกรรมที่บ้าน ตั้งแต่ตื่นจนนอนหลับไม่ห่างสายตาเลยจริงๆ เช่น อาบน้ำก็จะไม่ให้ล็อกปิดประตู นอนก็นั่งเฝ้า เปลี่ยนกันเข้าเวรเฝ้าลูก เพราะกลัวว่าลูกจะชักตอนนอน แล้วจะเกิดอันตราย ไม่อนุญาตให้ลูกทำกิจกรรมนอกหลักสูตร ขณะที่ลูกเรียนหนังสือก็โทรไปหาทุกๆ 15 นาที บางวันก็ไปเฝ้าที่โรงเรียนและในที่สุดก็ไม่ให้ลูกไปโรงเรียน เชิญครูมาสอนพิเศษที่บ้าน ไม่อนุญาตให้ลูกเล่นกีฬา เห็นไหมครับว่าพ่อแม่รักห่วงลูกแค่ไหน แต่เรื่องยังไม่จบครับ

น้องผู้หญิงยิ่งมีปัญหามากขึ้นเพราะไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ต้องดูแลใกล้ชิดมากมายขนาดนี้ ห่วงหรือหวงกันแน่ น้องอายเพื่อนที่พ่อแม่เฝ้าติดตามทุกฝีก้าว เมื่อลูกไม่เข้าใจพ่อแม่ จึงเกิดปัญหาไม่ให้ความร่วมมือในทุกๆเรื่อง ยาไม่ทาน ไม่เรียนหนังสือ อาการชักจึงเป็นมากขึ้น เห็นไหมครับความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก่อให้เกิดปัญหา

ผมจึงวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาคืออะไร ผมค่อยๆแก้ปัญหาที่ละขั้น เริ่มต้นผมเริ่มคุยกับผู้ป่วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ชอบหรือไม่ชอบที่พ่อแม่เป็นห่วงเรามาก ถ้าไม่ชอบเพราะอะไร แล้วอยากให้เป็นอย่างไร ต่อมาจึงคุยกับพ่อแม่ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ลูกไม่พอใจตรงไหน และได้อธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดของโรคลมชักว่า มีการดำเนินโรคอย่างไร ลูกปลอดภัยในขณะนี้ การชักตอนกลางคืนจะไม่เป็นอันตราย

ผมต้องไกล่เกลี่ยความเข้าใจที่ไม่ตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย ใช้เวลาปรับตัวและวางแผนในการรักษากว่า 6 เดือน จึงเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ แต่คุ้มค่าครับ น้องผู้หญิงก็ให้ความร่วมมือในการรักษา พ่อแม่มีความสุขมาก ผมก็ได้ประสบการณ์อันล้ำค่าในการดูแลรักษาครอบครัวนี้ และสามารถนำไปใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยรายอื่นได้