อยากเป็นหมอต้องอ่าน: การประเมินผล หนักหนาจริงหรือไม่
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 25 พฤษภาคม 2564
- Tweet
การเรียนของนักศึกษาแพทย์นอกจากเรียนหนักแล้ว การสอบก็ต้องหนักตามไปด้วย คือ เนื้อหาที่เรียนนั้นก็มีมาก ข้อสอบก็ไม่ได้ออกเฉพาะที่เรียน ออกตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ แล้วการสอบก็บ่อยมาก มีการสอบหลากหลายรูปแบบอีกด้วย ลองติดตามดูครับน้องๆ ที่สนใจจะเป็นหมอ ควรรู้ก่อนเข้าเรียน
1. การสอบจะสัมพันธ์กับรูปแบบการเรียน ในชั้นปีที่ 1 ก็เรียน และสอบเหมือนกับคณะอื่นๆ คือ สอบภาคทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่ สอบเป็นเทอม หรือภาคการศึกษาในเทอมต้น พอเข้าสู่ภาคการศึกษาที่ 2 จะเริ่มเรียนวิชาในคณะแพทย์ การสอบก็จะเป็นไปตามรายวิชานั้นๆ อาจไม่ได้สอบเป็นภาคการศึกษาเหมือนกับคณะอื่นๆ คือ เรียนทีละรายวิชา เมื่อเรียนจบก็สอบเป็นรายวิชานั้นๆ
2. การสอบในชั้นปีที่ 2, 3 นั้น เป็นรายวิชาที่เรียนเฉพาะคณะแพทย์ เรียนเป็นระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ใช้เวลาเรียนประมาณ 4-6 สัปดาห์ในแต่ละระบบ จึงมีการสอบทุก 4-6 สัปดาห์เช่นเดียวกัน รูปแบบการสอบก็มีทั้งการสอบข้อเขียนแบบ choice เลือกคำตอบ แบบบรรยาย แบบตอบคำถามสั้นๆ และเป็นแบบกรณีศึกษา การสอบปฏิบัติทั้งในห้องแล็บและสอบกับครูใหญ่ ซึ่งในการสอบแล็บนั้น ก็จะมีรุ่นพี่จำลองการสอบให้เหมือนจริง เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้น้องๆ คุ้นเคยก่อนการสอบจริง
3. ในปลายปีของชั้นปีที่ 3 ก็ต้องสอบ national license เป็นการสอบวัดมาตรฐานของนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศ จากทุกสถาบันทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการยืนยันว่านักศึกษาแพทย์ไทยนั้นมีมาตรฐานเดียวกันที่เป็นที่ยอมรับของระดับประเทศ การสอบนี้ก็ต้องเตรียมพร้อมในทุกวิชาที่เรียนมาทั้งหมดในชั้นปีที่ 2, 3 ดังนั้นเนื้อหาก็มีมาก การสอบนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่ผ่านก็อาจส่งผลต่อการขึ้นเรียนในชั้นปีที่ 4 ได้เหมือนกัน
4. การสอบในชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นการเรียนในชั้นคลินิก คือ เรียนควบคู่กับการฝึกฝนทักษะต่างๆ ไปด้วย จึงต้องมีการสอบสอบทั้งจากผู้ป่วยจริง ผู้ป่วยจำลอง (คนปกติที่ผ่านการฝึกฝน และนำมากำหนดหรือสมมุติว่าเป็นผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่งให้นักศึกษาแพทย์รักษา) การสอบข้อเขียนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบ choice ตอบคำถามสั้นๆ ตอบคำถามจากกรณีศึกษาเป็นขั้นเป็นตอน เหมือนกับการรักษาผู้ป่วยจริงๆ การบรรยายแบบยาว ที่สำคัญยังมีการให้คะแนนทัศนคติ คือ อาจารย์ และแพทย์รุ่นพี่จะมีการประเมินการทำงานของนักศึกษาแพทย์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีความสนใจ ตั้งใจทำงาน ช่วยเหลือทีมในการรักษาผู้ป่วยหรือไม่ อย่างไร การเขียนรายงานรับผู้ป่วยก็เป็นการประเมินอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญของการเรียนในชั้นปีที่ 4-6 ถ้าเขียนรายงานไม่ผ่าน ก็จะทำให้การประเมินในภาพรวมเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ดังนั้นการเขียนรายงานผู้ป่วยก็เป็นเรื่องสำคัญ การประเมินไม่ได้ทำเพียงแค่นี้ ยังมีการหักคะแนนอีก ถ้ามาสาย ทำงานไม่ทันเวลาที่กำหนด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
5. การสอบ national license ขั้นที่ 2 ในปลายชั้นปีที่ 5 และขั้นที่ 3 ก่อนจบชั้นปีที่ 6 หรือ extern เป็นการสอบเพื่อประเมินความรู้ ความสามารถของนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศ เหมือนกับขั้นที่ 1 แต่การสอบในขั้นที่ 2 และ 3 นี้มีการสอบในภาคปฏิบัติ การสอบกับผู้ป่วยจำลอง สถานการณ์จำลองเสมือนจริง ถ้าไม่ผ่านก็ไม่จบเป็นหมอเต็มตัว ดังนั้นการสอบ national license ต้องผ่านทั้ง 3 ขั้น จึงจะจบเป็นหมอสมบูรณ์
น้องๆ คงพอจะเข้าใจถึงรูปแบบ และวิธีการประเมินผลของนักศึกษาแพทย์แล้วนะครับ ถ้ายอมรับและชอบก็มาเป็นรุ่นน้องผมได้เลยครับ พบกันนะครับ