อดเมื่อไร...ตายเมื่อนั้น (ตอนที่ 3)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 2 มกราคม 2562
- Tweet
หรือในกรณีที่รุนแรง อาจ
- หายใจลำบาก
- ผิวหนังอาจบาง แห้ง ไม่ยืดหยุ่น ซึด และเย็น
- แก้มตอบและตาลึก
- ผมแห้งและบางตา หลุดร่วงง่าย
ซึ่งในที่สุด ระบบหายใจและหัวใจอาจวาย โดยการอดอาหารทั้งหมดอาจทำให้เสียชีวิตได้ใน 8-12 สัปดาห์ และแม้จะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม ในระยะยาวจะมีผลต่อการทำงานของจิตใจ (Mental function) และมีปัญหาเรื่องการย่อย
ส่วนอาการในเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร สังเกตุได้จาก
- ไม่โตตามเกณฑ์
- พฤติกรรมเปลี่ยน เช่น มักจะหงุดหงิด เชื่องช้า หรือ กระวนกระวาย (Anxious)
- แรงน้อยและเบื่อง่ายกว่าเด็กคนอื่น
สำหรับสาเหตุของภาวะขาดสารอาหารอาจเกิดได้จาก
1. ได้รับอาหารที่น้อย – ซึ่งอาจเป็นผลจากการเจ็บป่วย ฟันไม่ดี ทำให้กลืนลำบาก (Dysphagia)
2. มีปัญหาด้านจิตใจ – เช่น โรคซึมเศร้าหดหู่ สมองเสื่อม (Dementia) โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคคลั่งผอม (Anorexia nervosa) และ โรคบูลิเมียหรือโรคล้วงคอ (Bulimia)
3. ปัญหาทางสังคมและการเคลื่อนไหว - บางคนไม่สามารถออกจากบ้านไปหาซื้ออาหารเพราะไม่มีเงิน หรือไม่สามารถทำอาหารกินได้เพราะทำไม่เป็น
4. มีปัญหาเรื่องการย่อยและช่องท้อง – กรณีที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหาร เช่น กรณีที่เป็นโรคโครห์น (Crohn's disease) หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative colitis)
[โรคโครห์น (Crohn's Disease) เป็นความผิดปกติเรื้อรังของลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดการระคายเคืองและทางเดินอาหารบวม ซึ่งโรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel diseases = IBD) โรคโครห์นส่วนใหญ่มีความผิดปกติที่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น แต่การอักเสบนี้ก็สามารถเกิดส่วนใดของทางเดินอาหารก็ได้ โรคโครห์นรักษาไม่หาย แต่มีการรักษาหลายวิธีที่ช่วยคุมอาการได้ ผู้ป่วยโรคโครห์นส่วนใหญ่จะมีช่วงทุเลา คือ ไม่มีอาการและช่วงที่โรคกำเริบ ซึ่งอาการจะแย่ลง]
5. โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ที่สามารถทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคกระเพาะ และตับอ่อนถูกทำลาย ซึ่งทำให้ย่อยอาหารได้ลำบาก ดูดซึมวิตามินได้น้อย
และเนื่องจากในแอลกอฮอล์มีแคลอรี่ ดังนั้น คนดื่มแอลกอออล์จึงอาจจะไม่รู้สึกหิว ทำให้กินอาหารไม่ถูกต้องนัก จนร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่พอเพียง
6. ไม่ได้กินนมแม่ – โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา
7. ยาบางชนิด – ที่มีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร
แหล่งข้อมูล:
- Malnutrition: What you need to know. https://www.medicalnewstoday.com/articles/179316.php [2018, January 1].
- Malnutrition. https://www.nhs.uk/conditions/malnutrition/ [2018, January 1].