หูดับเฉียบพลัน (Sudden hearing loss)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

หูดับเฉียบพลันเกิดได้อย่างไร?

สาเหตุของหูดับเฉียบพลัน หรือบางท่านเรียกว่า หูดับฉับพลัน (Sudden hearing loss) คือการที่หูข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างเกิดการไม่ได้ยิน หรือการได้ยินลดลงทันที โดยสา เหตุเกิดจาก 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1.จากโรคติดเชื้อของหู

2.จากโรคหลอดเลือดของหู

3.จากโรคของหูชั้นในพิการ

โรคติดเชื้อพวกไหนที่เป็นสาเหตุของหูดับเฉียบพลัน?

หูดับเฉียบพลัน

โรคติดเชื้อกลุ่มที่เป็นต้นเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดหูดับเฉียบพลัน ได้แก่

  • จากเชื้อไวรัส เช่น จากโรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน โรคไข้หวัดใหญ่ชนิด B โดยจากสถิติพบว่ามีผู้ป่วย 1 ใน 3 ของอาการหูดับ มักมีหูดับหลังจากเป็นไข้หวัดใหญ่ภายใน 1 เดือน หรือจากติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/ โรคเอดส์
  • นอกนั้นหูดับอาจเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน เช่น ในโรคซิฟิลิส

โรคหลอดเลือดชนิดใดที่ทำให้หูดับเฉียบพลันได้บ่อย?

กลุ่มผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดผิดปกติได้บ่อย ซึ่งรวมทั้งหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหู ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดหูดับเฉียบพลัน ได้แก่

  • คนที่มีไขมันในเลือดสูงมาก (โรคไขมันในเลือดสูง)
  • คนที่เป็นโรคเบาหวาน
  • สตรีที่ใช้ยาคุมกำเนิด (การคุมกำเนิด) และ
  • คนที่ชอบให้หมอนวดกดบริเวณลำคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงหู

โรคของหูชั้นในพิการเกิดได้อย่างไร?

หูชั้นในพิการ เกิดได้จาก

  • การกระแทก การตบแก้วหูแรงๆ ถูกระเบิด หรือไอ จามแรงๆ ทำให้หนังหุ้มหูชั้นในส่วนลาบิลินทีน (Labyrinthine หูชั้นในที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน) แตกหรือฉีกขาด จึงเป็นสาเหตุให้เกิดหูดับเฉียบพลันได้

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุหูดับเฉียบพลันอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุหูดับเฉียบพลันโดย

  • ก่อนอื่นแพทย์จะถามถึงสาเหตุทั้งหลาย
  • แล้วจะตรวจร่างกายในระบบเส้นประสาทสมอง
  • ตรวจหู ตรวจการได้ยิน
  • และตรวจระบบการรั่วไหลของผนังหุ้มหูชั้นใน (Fistular test การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันภายในหู แล้วสังเกตการเคลื่อนไหวของลูกตาว่าปกติหรือไม่)
  • จากนั้นจะเจาะเลือด/ตรวจเลือดดู ไขมันในเลือด และดูโรคอื่นๆ เช่น ดูน้ำตาลในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน

รักษาหูดับเฉียบพลันอย่างไร?

แนวทางการรักษาหูดับเฉียบพลัน มี 2 วิธีคือ โดย

  • ยา และ
  • โดยการผ่าตัด

ก. การใช้ยา: โดยทั่วไป หูดับเฉียบพลันส่วนมากรักษาหายได้ถึงประมาณ 65% ยิ่งมาหาแพทย์ได้เร็วภายใน 24-48 ชั่วโมงที่หูดับ โอกาสรักษาหายยิ่งสูงขึ้น ซึ่งยาที่ใช้มักเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาขยายหลอดเลือด อาจให้ดมแก๊สออกซิเจน 95% ผสมกับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 5% ตามตารางคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเข้าสู่หูชั้นในได้ดีขึ้น เช่น สูดดมนานครั้งละประมาณ 30 นาที วันละประมาณ 6 ครั้ง ทุก 2 ชั่วโมง เฉพาะในช่วงกลางวัน นานประมาณ 5 วัน เป็นต้น

ข. การผ่าตัด: นอกจากนั้น ถ้าให้ยา หรือให้ดมแก๊สประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วไม่หาย และถ้ามีการรั่วของผนังหุ้มหูชั้นในชัดเจน แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด เพื่อรักษารอยรั่ว

หูดับเฉียบพลันรุนแรงไหม? ดูแลตนเองอย่างไร?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของหูดับเฉียบพลัน และการดูแลตนเอง ได้แก่

  • ถ้ามาหาหมอเร็ว โอกาสรักษาหูดับเฉียบพลันได้หายมีมากขึ้น โดย พบว่าการได้ยินเสียงต่ำมีโอกาสหายเร็วกว่าการได้ยินเสียงสูง
  • การรักษาโดยวิธีดมแก๊ส นาน 1-2 สัปดาห์ ไม่มีผลข้างเคียง หรืออันตรายใดๆ แต่ต้องดมในห้องผ่าตัด โดยวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด มีโอกาสหายมากกว่าการใช้ยาขยายหลอดเลือด
  • พบว่าการนวดโบราณบริเวณต้นคอ นอกจากหูจะดับแล้วอาจมีหลอดเลือดแตกในสมอง เป็นอัมพาตได้
  • ช่วงหูดับ ไม่ควรซื้อยากินเอง หรือรักษาตัวเองด้วยยาสามัญประจำบ้าน การดูแลตัวเองดีที่สุดคือ
    • พักผ่อนให้มาก
    • งดอาหารไขมันทุกชนิด
    • งดแอลกอฮอล์
  • ถ้าหูดับถาวร จะไม่มีวิธีรักษาใดๆ ที่จะทำให้หายขาดได้
    • ควรต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดหูดับอีกข้างหนึ่งอย่างสุดชีวิตถ้าหูอีกข้างยังได้ยินดีอยู่ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด
    • การที่จะป้องกันหูดับ ต้องเข้าใจสาเหตุดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้นของบทความนี้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ดังได้กล่าวแล้วว่า เมื่อมีหูไม่ได้ยิน เป็นอาการที่ไม่สามารถดูแลตนเองให้หายได้ และโอกาสหายขึ้นกับการพบแพทย์/แพทย์ หูคอ จมูก ได้เร็ว

ดังนั้นเมื่อมีอาการหูดับเฉียบพลัน ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน หรืออย่างน้อยภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

บรรณานุกรม

  1. Wilson W. The relationship of idiopathic sudden hearing loss in diabetes mellitus. Laryngoscope 1982, 92 : 155-160.
  2. Fisch UF. Management of sudden deafness. Otolaryngol Head Neck Surg 19839 91:3-8.
  3. Jaffe BF. Viral causes of sudden inner ear deafness. Oto Clin North Am 1978, 11:63-69.
  4. Harris J. Sudden hearing loss : membrane rupture. Am. J Otol 1984, 5 : 484-487.
  5. https://emedicine.medscape.com/article/856313-overview#showall [2019,June1]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/856313-treatmen [2019,June1]