หูดหงอนไก่ หูดอวัยวะเพศ (Condyloma acuminata)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หูด ที่เกิดบริเวณอวัยวะเพศที่เรียกว่า หูดหงอนไก่ หรือหูดอวัยวะเพศ หรือ หูดกามโรค (Condyloma acuminata หรือ Genital wart) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human papilloma virus หรือย่อว่า HPV (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง เอชพีวี:โรคติดเชื้อเอชพีวี) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด จากการเก็บข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นหูดหงอนไก่ ที่มาทำการรักษาคิดเป็นประมาณ 1% ของจำนวนประ ชากรทั้งหมด โดยพบมากในกลุ่มอายุ 17-33 ปีทั้งชายและหญิง

หูดหงอนไก่เกิดได้อย่างไร?

หูดหงอนไก่

สาเหตุของโรคหูดหงอนไก่ คือการที่อวัยวะเพศผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV) โดยปัจจุบันพบได้ทั้งหมดประมาณ 100 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์ก่อให้เกิดหูดที่ผิวหนัง บางสายพันธุ์ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ บางสายพันธุ์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์ (เช่น มะเร็งปากมดลูก) และต่อการเกิดมะเร็งทวารหนัก

ประมาณ 90% ของหูดหงอนไก่นั้น เกิดจากสายพันธุ์ย่อย HPV 6, และ 11 ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคมะเร็งค่อนข้างต่ำ ส่วน HPV ชนิดที่เพิ่มโอกาสเกิดโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์และทางเดินอุจจาระ คือ HPV 16, และ 18

เมื่อผิวหนังได้รับเชื้อ/ติดเชื้อ HPV ผ่านทางรอยถลอกที่ผิวหนัง จะมีระยะฟักตัวของโรคที่ยังไม่แสดงอาการของโรคได้หลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งเมื่อผ่านระยะฟักตัวแล้ว เชื้อไวรัสก็จะมีการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างเซลล์ที่ผิดปกติในชั้นผิวหนัง โดยทั่วไปร่าง กายจะสามารถกำจัดไวรัสชนิดนี้ได้เอง ส่วนน้อยที่เชื้อไวรัสไม่ถูกกำจัด และหากเป็นไวรัสสายพันธุ์รุนแรง ก็มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งในตำแหน่งติดเชื้อนั้นได้

แหล่งของเชื้อ HPV นั้นสามารถพบได้จากการสัมผัสรอยโรคโดยตรง คือทางเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อนี้ สำหรับหูดหงอนไก่นั้นถึงแม้เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับหูดทั่วไป คือเป็นเชื้อไวรัส HPV แต่การติดต่อหลัก คือการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ฝาสุข ภัณฑ์ ไม่ทำให้ติดหูดหงอนไก่ได้

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดหูดหงอนไก่?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดหูดหงอนไก่ คือ

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย มีโอกาสติดเชื้อ HPV จากคู่นอนที่เป็นโรคนี้ได้
  • เนื่องจากหูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากพบหูดหงอนไก่ในเด็ก จำเป็นต้องสืบหาเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราเด็กด้วย
  • การมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ยังน้อย เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหูดหงอนไก่

หูดหงอนไก่มีอาการอย่างไร?

อาการของหูดหงอนไก่ คือ

  • รอยโรคที่เกิดหูดหงอนไก่ อาจมีอาการคัน หรือไม่มีอาการใดๆเลยก็ได้
  • บริเวณที่พบ เนื่องจากหูดหงอนไก่พบได้ตามเนื้อเยื่อร่างกายชนิดที่สามารถสร้างเมือกที่เรียก ว่า เนื้อเยื่อเมือก (Mucosa) จึงพบหูดหงอนไก่เกิดได้ที่ อวัยวะเพศ ท่อปัสสาวะ ปากมดลูก ทวารหนัก ช่องปาก ในลำคอ และสามารถพบเกิดได้หลายๆตำแหน่งในผู้ป่วยรายเดียวกัน เช่น ผู้ป่วยที่พบรอยโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ หากมีประวัติมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ก็อาจพบโรคในบริเวณทวารหนักด้วย
  • ลักษณะรอยโรค มีได้หลายรูปแบบทั้งขนาดและรูปร่าง อาจมีลักษณะเป็นตุ่มเดียว, หลายตุ่ม, หรือมีขนาดใหญ่คล้ายดอกกะหล่ำ, หรือหงอนไก่, สีชมพู หรือสีเนื้อผิวขรุขระ
  • อาการของโรคจะเป็นมาก/ก้อนเนื้อหูดใหญ่ขึ้น และ/หรือเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในคนท้อง หรือในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่ ?

เมื่อพบรอยโรค หรือความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นรอยโรคหูดหงอนไก่ ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษา และเพื่อลดการแพร่กระจายโรคไปสู่บริเวณเนื้อเยื่อเมือกอื่นๆ หรือติดต่อสู่ผู้ อื่น

แพทย์วินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหูดหงอนไก่จาก

  • ลักษณะรอยโรคเฉพาะที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
  • หรือยืนยันได้ด้วยการตรวจพยาธิสภาพจากชิ้นเนื้อตรงรอยโรค (การตรวจทางพยาธิวิทยา)
  • ทั้งนี้ถ้ายังไม่มีรอยโรค/ยังไม่เห็นก้อนหูด จะวินิจฉัยโรคไม่ได้
  • และในกรณีที่ตรวจพบว่าเป็นหูดหงอนไก่ ควรต้องตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น โรคเอดส์ และ โรคซิฟิลิส ด้วยเสมอ เพราะมักพบเกิดร่วมกันได้
  • อนึ่ง อาจมีการตรวจเพิ่มเติม/การตรวจสืบค้นด้วยวิธีอื่นๆในแต่ละกรณีที่สงสัยว่ามีหูดหงอนไก่ในบริเวณที่พบได้ไม่บ่อย เช่น
    • การส่องกล้องตรวจดูช่องคอ
    • และ/หรือ การส่องกล้องตรวจดูทวารหนัก เป็นต้น

แพทย์รักษาโรคหูดหงอนไก่อย่างไร?

โครงสร้างของเชื้อ HPV มีลักษณะเฉพาะที่ทำให้เชื้อนั้นไม่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงที่รุน แรงของสิ่งแวดล้อมที่เชื้ออาศัยอยู่ เราจึงสามารถกำจัดเชื้อนี้/รักษาโรคนี้ได้ด้วยการใช้

  • ความร้อนจัด
  • ความเย็นจัด
  • หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด

ซึ่งวิธีการรักษา จะขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของรอยโรค อย่างไรก็ตาม

  • มีมากกว่า 50% ของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา มักมีการกลับเป็นซ้ำอีกภายหลังหนึ่งปี ทั้งจาก
    • การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีใหม่
    • หรือจากการกลับเป็นซ้ำจากเชื้อไวรัสฯที่ยังคงเหลืออยู่ในบริเวณเดิม
  • โดยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จะดื้อต่อการรักษา และมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ สูงกว่าวิธีรักษาอื่น

ตัวอย่างวิธีรักษา ได้แก่

  • การรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้า (Electrocauterization) หรือจี้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (Laser ablation) เพื่อตัดรอยโรคออก โดยจะลดความเจ็บปวดในการรักษาด้วยการฉีดยาชาเฉพาะที่ ข้อเสียคือ ควันที่เกิดจากการจี้ในระหว่างการรักษา จะมีเชื้อไวรัส HPV อยู่ หากสูดดมเข้าไปมาก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ HPV ในทางเดินหายใจได้ วิธีการนี้ มักใช้รักษาหูดที่มีขนาดใหญ่ที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ทั้งนี้ การรักษาวิธีนี้ โรคมีโอกาสกลับเป็นซ้ำประมาณ 5-50%
  • การรักษาด้วยการจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) โดยใช้ไม้พันสำลีชุบไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) ป้ายที่รอยโรค หรือพ่นเป็นสเปรย์ลงที่รอยโรค โดยให้ความเย็นสัมผัสรอยโรคเป็นเวลานานประมาณ 10-15 วินาที อาจมีรอยดำหลังการรักษา มีอาการเจ็บปวดบ้างขณะรักษา แต่เป็นระดับที่สามารถทนได้โดยไม่ต้องใช้ยาชา ทำซ้ำได้ทุก 2 สัปดาห์จนกว่ารอยโรคจะหาย ซึ่งจะขึ้นกับขนาดของรอยโรค วิธีนี้โรคมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้ประมาณ 20-40%
  • การตัดหูดหงอนไก่ออกด้วยมีดผ่าตัด โดยอาศัยการฉีดยาชาเฉพาะที่ เป็นวิธีที่ลดการกลับเป็นซ้ำของหูดหงอนไก่ได้มากที่สุด คือ อัตราการกลับเป็นซ้ำเหลืออยู่ที่ประมาณ 20% ซึ่งวิธีนี้ ใช้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่่นๆ
  • แต้ม/ป้ายรอยโรคด้วยน้ำยา 25% Podophyllin ซึ่งต้องให้การรักษาโดยแพทย์เช่นกัน โดยแต้มยาทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมงแล้วล้างออก ให้การรักษาทุกสัปดาห์จนรอยโรคหาย ซึ่งมักใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ขึ้นกับขนาดรอยโรค อาจมีอาการระคายเคือง แสบบริเวณที่แต้มยา วิธีนี้มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำประมาณ 20-35%
  • แต้ม/ป้ายรอยโรคด้วยน้ำยา 50-70% Trichloroacetic acid โดยไม่ต้องล้างออก เป็นการรัก ษาโดยแพทย์เช่นกัน การรักษาอาจทำให้มีอาการแสบและระคายเคืองตรงรอยโรคได้ และรัก ษาซ้ำได้ทุก 2 สัปดาห์จนรอยโรคหาย ซึ่งการรักษาวิธีนี้ โอกาสเกิดเป็นซ้ำประมาณ 35%
  • ใช้ยา 5% Imiquimod ทา/ป้ายรอยโรค เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายให้กำ จัดเชื้อ HPV เป็นวิธีรักษาในหูดหงอนไก่ชนิดราบที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณเยื่อเมือก เป็นวิธีรักษาโดยแพทย์เช่นกัน โดยมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำประมาณ 20%

อนึ่ง สำหรับการเลือกวิธีการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับ ขนาด ตำแหน่ง และจำนวนของหูดหงอนไก่ ตัวอย่างเช่น

  • หากเป็นหูดฯชนิดราบที่อวัยวะเพศ แพทย์อาจทดลองรักษาด้วยการทายา Imiquimod ก่อน
  • หากกลับเป็นซ้ำ ก็พิจารณาเปลี่ยนการรักษาเป็นการจี้เย็น
  • สำหรับหูดฯที่ดื้อต่อการรักษา หรือเป็นซ้ำตำแหน่งเดิมหลายครั้ง อาจพิจารณาเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป
  • แต่หากเป็นหูดฯที่มีขนาดใหญ่ ก็พิจารณารักษาด้วยการการจี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์ เป็นอันดับแรก
  • หากเป็นหูดที่เกิดบริเวณเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ ก็พิจารณารักษาด้วยน้ำยา Podophylin เนื่องจากมีการตอบสนองต่อการรักษาดี

การรักษาคู่นอน/ผู้ใกล้ชิด: นอกจากนั้น หากคู่นอนมีอาการของหูดหงอนไก่ ก็ควรพามารักษาเพื่อป้องกันการกลับมาติดซ้ำจากคู่นอนหลังการรักษา หรือหากไม่แน่ใจ ควรพาคู่นอนมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ช่วยตรวจวินิจฉัย

  • เนื่องจากหูดหงอนไก่ต่างจากหูดทั่วไปคือ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โอกาสการติดจากทางอื่นที่มิใช่การมีเพศสัมพันธ์นั้นพบได้น้อยมาก
  • แต่หากผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันภาย ในบ้านมีรอยโรคที่ต้องสงสัย ก็ควรพามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อทำการวินิจฉัยเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่คนอื่นๆในครอบครัว

*****หมายเหตุ: การรักษาหูดหงอนไก่ ทุกวิธีการ ต้องรักษาโดยแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยารักษาเอง เพราะอาจส่งผลข้างเคียงเกิดแผลต่อเนื้อเยื่อปกติรอบๆรอยโรคได้รุนแรง

โรคหูดหงอนไก่ก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

นอกจากลักษณะของรอยโรคของหูดหงอนไก่ ที่ทำให้เกิดความไม่น่าดูแล้ว สำหรับการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรง เช่น HPV สายพันธ์ 16, 18 ยังทำให้เกิดโรคมะเร็งในระบบสืบ พันธุ์(ในผู้หญิง เช่น มะเร็งอวัยวะเพศหญิง มะเร็งปากมดลูก, ในผู้ชาย เช่น มะเร็งอวัยวะเพศชาย) และมะเร็งทวารหนักได้

ส่วนผลข้างเคียงอื่นขึ้นกับตำแหน่งของรอยโรค เช่น

  • อาการเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจมีสาเหตุจากเลือดที่ออกจากหูดหงอนไก่ภายในปากมดลูกได้
  • หรือมารดาที่คลอดบุตรขณะมีรอยโรค ก็อาจทำให้ทารกติดเชื้อ HPV ได้

โรคหูดหงอนไก่มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค หรือผลของการรักษาโรคหูดหงอนไก่ คือ

  • หลังจากเนื้อเยื่อติดเชื้อ HPV ผู้ติดเชื้อนั้นอาจเป็นได้ทั้ง 3 กรณีคือ
    • รอยโรคหายไปได้เอง
    • รอยโรคเป็นอยู่เท่าเดิม
    • หรือรอยโรคเป็นมากขึ้น
  • การกลับเป็นซ้ำในรายที่รอยโรคหายไปแล้วนั้น อาจเกิดได้ทั้งจาก
    • การติดเชื้อ HPV ใหม่
    • หรือจากเชื้อไวรัส HPV ที่ฟักตัวตกค้างอยู่ในผิวหนัง มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงไม่ได้รับการรักษาให้หมดไปจากการรักษาครั้งแรก

เมื่อเป็นโรคหูดหงอนไก่ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคหูดหงอนไก่ ได้แก่

  • ติดตามการรักษาโดยการมาพบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา หรือหากจำเป็นให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
  • พาคู่นอนมาทำการตรวจและรักษาด้วยเสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำกันไปมา
  • หากสัมผัสรอยโรคให้ล้างบริเวณที่สัมผัส และล้างมือมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
  • ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ เป็นประจำ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

เมื่อไหร่ต้องควรแพทย์ก่อนนัด?

หลังการรักษาหูดหงอนไก่ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ผิวหนังบริเวณที่ทำการรักษา แดง เจ็บระคายเคืองเป็นบริเวณกว้าง และ/หรือ กังวลในอาการ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเสมอ

ป้องกันโรคหูดหงอนไก่ได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถป้องกัน และรักษาหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่เนื่องจากหูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (คือจากผิวหนังสู่ผิวหนัง) และหากมีคู่นอนหลายคน ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อ ดังนั้น

  • หากต้องมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยชาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV การใช้ถุงยางอนามัยชายแม้จะไม่สามารถป้องกันหูดหงอนไก่ได้ 100% แต่ก็เป็นการป้องกัน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้ด้วย

อนึ่ง การใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ฝารองนั่ง สระว่ายน้ำ ไม่ทำให้ติดเชื้อหูดหงอนไก่

วัคซีน: สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนเอชพีวี) ปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV 4 สายพันธุ์สำคัญออกมาในเข็มเดียวกัน คือ HPV 6, 11 ที่เป็นสาเหตุใน 90% ของหูดหงอนไก่ และ HPV 16, 18 ที่เป็นสาเหตุประมาณ 70% ของมะเร็งปากมดลูก วัคซีนนี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ย่อย 6, 11, 16, 18 ได้ประมาณ 99% หากฉีดก่อนการติดเชื้อ จึงแนะนำให้ฉีดได้ในทั้งเด็กหญิงและชายที่อายุ 11-12 ปี สำหรับประโยชน์ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกจาก HPV 16, 18 นั้น ถึงแม้ว่าฉีดวัคซีนทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส HPV 16, 18 แล้วแต่ก็ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกนั้นมีหลายชนิด และไม่ได้เกิดจาก HPV 16, 18 เพียงอย่างเดียว สำหรับการป้องกันหูดหงอนไก่ หลังฉีดวัคซีนนั้นก็ยังแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยชาย และมีเพศสัมพันธ์เฉพาะคู่ของตน เนื่องจากวัคซีน HPV 6, 11 นั้นป้องกันโรคได้เพียง 90% ของผู้ติดเชื้อเฉพาะที่เกิดจาก HPV 6, 11เท่านั้น

อนึ่ง ปัจจุบันมีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้ถึง 9 ชนิดย่อยแล้ว จำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า ‘Gardasil 9’ คือสายพันธ์ย่อย 6, 11, 16, 18, 31,33,45, 52, และ58

บรรณานุกรม

  1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2010 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2548, 231-234.
  2. C.M. Kodner and and S. Am Fam Physician. 2004 Dec 15;70(12):2335-2342
  3. Klaus Wolff, Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest,Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in General medicine ; seven edition ; Mc Grawhill medical
  4. https://emedicine.medscape.com/article/781735-overview#showall [2019,July20]
  5. https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/infectious-agents/hpv-vaccine-fact-sheet [2019,July20]