โรคหิด (Scabies)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 20 มกราคม 2555
- Tweet
- บทนำ
- โรคหิดมีสาเหตุจากอะไร?
- อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดโรคหิด?
- โรคหิดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหิดได้อย่างไร?
- โรคหิดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- รักษาโรคหิดอย่างไร?
- ป้องกันโรคหิดอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ข้อมูลอื่นๆของหิด
- บรรณานุกรม
บทนำ
หิด หรือ Scabies mite เป็น ไร (Mite) ชนิดหนึ่งที่เป็นปรสิต (Parasite) ต้องอาศัยบนร่างกายคน โดยดำรงชีวิตอยู่บนผิวหนังของคน และกินเซลล์ผิวหนังเป็นอาหาร ตัวหิดทำให้เกิดโรคหิด เรียกว่าโรค Scabies โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลักสำคัญ คือ อาการคันและมีผื่นตามผิวหนัง โรคหิดติดต่อได้โดยการอาศัยอยู่ใกล้ชิดและสัมผัสผิวหนังของผู้ที่เป็นหิด ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ แต่มียาสำหรับรักษาให้หายได้
ลักษณะอาการของโรคหิดที่ถูกบันทึกไว้มีมานานกว่า 2,500 ปีมาแล้ว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2230 กว่าที่จะได้ถูกค้นพบว่า มีตัวหิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค โดยผู้ค้นพบคือ Gio van Cosimo Bonomo ซึ่งเป็นแพทย์ชาวอิตาเลียน
โรคหิดพบได้ทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ และเป็นโรคติดเชื้อปรสิตที่พบได้บ่อยมากโดยพบผู้ป่วยจากทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่จะพบในประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา อย่างเช่น ในบางหมู่บ้านของประเทศอินเดียพบคนที่เป็นหิดเกือบ 100% มักพบโรคหิดในหน้าหนาวมากกว่าในหน้าร้อน เนื่องจากหากอากาศเย็น หิดจะมีชีวิตอยู่ได้ยาว นานกว่า
โรคหิดมีสาเหตุจากอะไร?
โรคหิด เกิดจากตัวหิด หรือ Scabies mite ซึ่งมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Sarcoptes scabiei var hominis วงจรชีวิตของตัวหิดคือ เมื่อเราได้รับหิดตัวเมียที่มีไข่อยู่ในตัวมาจากคนอื่นแล้ว หิดก็จะคลานหาที่เหมาะสมและขุดเจาะผิวหนังจนเป็นโพรง (Burrow) แล้ววาง ไข่ในโพรงนี้วันละ 2-3 ฟองต่อวัน หิดตัวเมียนี้จะขุดผิวหนังของเราต่อไปเรื่อยๆ วันละ 2-3 มิลลิเมตร (มม.) กลายเป็นโพรงหยึกหยักคล้ายงูเลื้อย (Serpentine burrow) โดยหิดจะขุดเฉพาะผิวหนังชั้นบนสุดที่เรียกว่า Stratum corneum เท่านั้น จะไม่ขุดผิวหนังชั้นที่ลึกไปกว่านี้ หิดตัวเมียจะวางไข่ไปได้เรื่อยๆตลอดอายุของมันซึ่งยาวนานประมาณ 1-2 เดือน ไข่ของหิดมีขนาด 0.1-0.15 มม. และจะใช้เวลาในการฟักตัว 3-4 วัน เมื่อตัวอ่อนฟักออกมาแล้ว ก็จะคลานออกจากโพรงมาอยู่บนผิวหนัง และหาที่เหมาะสมใหม่ ขุดเป็นรูเล็กๆ สั้นๆ บนผิวหนังชั้นบนสุด เรียกว่า Molting pouch รูนี้ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งแตกต่างจากโพรง หรือ Burrow ที่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่าได้
ตัวอ่อนของหิดที่เกิดมาจะมี 3 ขา เมื่อมีอายุได้ 3-4 วัน ตัวอ่อนจะลอกคราบ และจะกลายเป็นมี 4 ขา ต่อจากนั้นจะลอกคราบอีก 2 ครั้ง จนกระทั่งกลายเป็นหิดตัวเต็มวัย ซึ่งจะมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย หิดตัวผู้มีขนาด 0.25-0.35 มม. ส่วนหิดตัวเมียมีขนาด 0.30-0.45 มม. หิดตัวผู้จะคลานออกจากรู และคลานเข้าไปหารูที่ตัวเมียอยู่ เมื่อทำการผสมพันธุ์กันเสร็จแล้วตัวผู้ก็จะตาย ตัวเมียจะออกจากรูเดิม เดินหาบริเวณอื่นของผิวหนังที่เหมาะสม แล้วเจาะโพรงเตรียมพร้อมวางไข่ได้ตลอดชีวิตที่เหลือของมัน ซึ่งหากหิดตัวเมียนี้ติดต่อไปยังผู้อื่น ก็เป็นการเริ่มต้นวงจรชีวิตของมันใหม่ต่อไป
ตัวหิดไม่สามารถกระโดดได้ ซึ่งต่างจากหมัด หากหิดอยู่นอกร่างกายคน จะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2-3 วัน แต่ถ้าอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส มันจะมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น
อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดโรคหิด?
โรคหิดมี 2 ประเภท ได้แก่
- ประเภทแรกเป็นโรคหิดที่มีตัวหิดอยู่บนร่างกายไม่มาก เรียกว่า โรคหิดต้นแบบ (Classic scabies) การติดหิดประเภทนี้เกิดจากการอยู่ใกล้ชิดและมีการสัมผัสผิวหนังกับผู้ที่เป็นหิดเป็นระยะเวลานาน (Prolonged skin-to-skin contact) เช่น อาศัยอยู่ในบ้านเดียว กัน อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กเดียวกัน ส่วนการจับมือหรือการกอดทักทายเพียงชั่วครู่ ไม่ได้ทำให้ติดหิด บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดหิดประเภทนี้ จึงได้แก่ เด็ก คนยากจน บ้านสกปรก คนที่ทำงานในสถานพยาบาลดูแลผู้ป่วย บ้านพักคนชรา ในเรือนจำ ในค่ายกักกัน ในผู้อพยพ การมีเพศสัมพันธ์ก็ทำให้ติดหิดประเภทนี้ได้ โรคหิดประเภทนี้จึงจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์อย่างหนึ่ง การใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ก็อาจมีโอกาสติดหิดประเภทนี้ได้ แต่พบได้ไม่สูงนัก
- โรคหิดอีกประเภทหนึ่งคือ ชนิดที่มีหิดอยู่บนร่างกายปริมาณมากเรียกว่า โรคหิดนอร์เวย์ (Norwegian scabies)โดยที่เรียกชื่อนี้ เนื่องจากได้ถูกอธิบายไว้ครั้งแรกที่ประเทศนอร์เวย์ในช่วงกลาง พ.ศ. 2343 บุคคลที่จะเป็นหิดประเภทนี้ คือ คนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคบกพร่อง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้เป็นโรคทางระบบประสาทและสมองช่วย เหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งการสัมผัสผิวหนังในทุกรูปแบบ รวมทั้งทางเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นหิด แม้เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆของคนกลุ่มนี้ก็อาจติดหิดมาได้
โรคหิดมีอาการอย่างไร?
ผู้ที่ติดหิดครั้งแรก จะเริ่มแสดงอาการเมื่อได้รับหิดมาแล้วเป็นเวลา 2-6 สัปดาห์ (ระยะฟักตัวของโรค) แต่ในช่วงระยะเวลาที่ยังไม่มีอาการนี้ สามารถที่จะแพร่ตัวหิดให้ผู้อื่นได้ อาการที่เกิดจากหิด เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่มีต่อทั้งตัวหิด ไข่หิด และขี้ของหิด (Scybala) ปฏิกิริยานี้มีเรียกว่า Delayed-type IV hypersensitivity โดยร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆออกมา และมีการหลั่งสารเคมีต่างๆ เพื่อพยายามที่จะกำจัดหิด แต่สารเคมีต่างๆเหล่านี้นี่เอง กลับทำให้เกิดอาการขึ้นมา สำหรับผู้ที่ติดหิดซ้ำในครั้งหลังๆ อาการจะเกิดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายได้มีการจดจำปฏิกิริยาที่มีต่อตัวหิดไว้แล้ว
-
โรคหิดต้นแบบ (Classic scabies) อาการหลักคือ อาการคัน ซึ่งจะคันมากในช่วงกลางคืน โพรงของหิดหากตรวจพบจะเห็นเป็นสันนูนบนผิวหนัง ที่มีลักษณะหยิกหยักคดเคี้ยวไปมา ความยาวประมาณ 2-3 มม. สีขาว-เทา ตรงจุดเริ่มต้นของโพรงเหล่านี้ จะมีตุ่มนูนแดงเล็กๆ หรือตุ่มน้ำใสเล็กๆ ซึ่งเป็นจุดที่หิดขุดผิวหนังเข้าไปอยู่นั่นเอง และสิ่งที่จะตรวจพบร่วมไปด้วยเสมอ คือรอยข่วนเกาจากอาการคัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์นั่นเอง ตำแหน่งของร่างกายที่หิดมักจะอยู่ คือ ตามง่ามนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก รอบสะดือ ท้อง เอว ก้น องคชาติ (อวัยวะเพศชาย) หัวนม จะไม่พบหิดที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ใบหน้า ศีรษะ และลำคอ เพราะชั้นผิวหนังบริเวณนี้หนาและมีไขมันมาก หิดจึงขุดผิวหนังได้ยาก ยกเว้นในเด็กทารกและเด็กอายุน้อยๆที่จะพบบริเวณนี้ได้ ในคนคนหนึ่งจะมีหิดอาศัยอยู่ประมาณ 10-15 ตัว บางครั้งอาจสามารถมองเห็นตัวหิดซึ่งจะเห็นเป็นจุดกลมๆ ขาวๆ ได้
ผู้ป่วยบางคนอาจมีตุ่มนูนแข็งสีแดงขนาดใหญ่มากกว่า 0.5 เซนติเมตร (ซม.) โดยอาจมี 2-3 ตุ่มหรือหลายๆตุ่มขึ้นที่ผิวหนังโดยเฉพาะที่รักแร้และขาหนีบ เรียกว่า Nodular scabies ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อองค์ประกอบสารต่างๆของหิด แต่ไปปรากฏตรงผิวหนังตำแหน่งอื่นที่ไม่มีตัวหิดอยู่
- โรคหิดนอร์เวย์ (Norwegian scabies) เริ่มแรกผู้ป่วยก็จะมีหิดเพียงไม่กี่ตัว แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า หิดชนิดนี้มักเกิดในคนที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ระบบประสาทและสมอง เป็นอัมพาต ผู้ป่วยเหล่า นี้มักจะสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกของผิวหนัง จึงอาจไม่แสดงอาการคันให้เห็น ไม่มีรอยข่วนเกาบนผิวหนัง ไม่มีตุ่มนูนแดงหรือตุ่มน้ำใสปรากฏ หรือถ้าขยับแขนขาไม่ได้ ก็ย่อมเกาไม่ได้ จึงยิ่งทำให้ไม่มีใครสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยเป็นหิด จนกระทั่งเวลาผ่านไปนานเข้าโดยที่ไม่ได้รักษา หิดก็จะเพิ่มจำนวนจนอาจมีปริมาณมากถึง 2 ล้านตัวใน 1 คน ผิวหนังชั้นบนสุดของผู้ป่วยเหล่านี้จะมีการหนาตัวและมีสะเก็ดปกคลุม โดยจะเห็นชัดที่บริเวณ ข้อศอก ข้อเข่า ฝ่ามือ และฝ่าเท้า
แพทย์วินิจฉัยโรคหิดได้อย่างไร?
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหิดต้นแบบ วินิจฉัยจากอาการคัน และการตรวจร่างกายพบโพรงของหิด ผื่นที่เป็นตุ่มนูนแดงหรือตุ่มน้ำใส รวมทั้งตำแหน่งที่เป็น
ส่วนผู้ป่วยที่เป็น โรคหิดนอร์เวย์ อาศัยการตรวจร่างกายพบโพรงของหิด และลักษณะของผิวหนังดังกล่าว
การตรวจทางห้องปฏิบัติการจะนำมาช่วยยืนยันการวินิจฉัยในผู้ป่วยทั้ง 2 แบบ โดยเทคนิควิธีคือ หยดน้ำมันพืชลงบนโพรงของหิด แล้วใช้ใบมีดสะอาดขูดผิวหนังบริเวณนั้น โดยทำอย่างน้อย 15 ตำแหน่งโพรงของหิด นำผิวหนังที่ขูดได้ไปวางบนสไลด์ (Slide คือ แผ่นแก้วบางๆที่ใช้ในการตรวจต่างๆทางห้องปฏิบัติการ) ไม่ต้องหยอดน้ำยาใดๆ และไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็จะพบตัวหิด หรือไข่หิด หากหาโพรงของหิดไม่เจอ อาจใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาชื่อ Tetracycline ทาบนผิวหนังบริเวณที่สงสัย แล้วนำไปส่องตรวจด้วยแสงอุลตราไวโอเลตในช่วงคลื่นความยาวสูง (Wood’s lamp) ก็จะเห็นโพรงที่เกิดจากหิดได้ง่ายขึ้น หรือใช้กล้องส่องขยายที่เรียกว่า Videodermatoscopy ช่วยตรวจหา ในบางกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัย อาจต้องตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
โรคหิดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
ผู้ที่เป็นหิดนานๆ แบคทีเรียบางชนิดที่อยู่บนผิวหนังจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นร่วมด้วย ได้แก่ แบคทีเรียชนิด Group A streptococci และชนิด Staphylococcus aureus ประกอบกับการข่วนเกา ก็จะทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นมา กลายเป็นผิวหนังและเนื้อเยื่ออักเสบ เกิดฝีหนองได้ แต่ที่สำคัญคือ เมื่อเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อเกิดการอักเสบแล้ว มีโอกาสทำให้เกิดโรคไตอักเสบที่เรียก ว่า Poststreptococcal glomerulonephritis ขึ้นมาได้ โรคไตชนิดนี้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตเรื้อรังในอนาคตได้ โรคอื่นๆที่แบคทีเรียมีโอกาสทำให้เกิด เช่น โรคกรวยไตอักเสบ โรคปอดอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) ซึ่งหากได้รับการรักษาล่าช้าก็มีโอกาสเสียชีวิตได้
รักษาโรคหิดอย่างไร?
หลักในการรักษาโรคหิด คือ ต้องรักษาผู้ที่เป็นหิดและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทุกคน (แม้ว่าจะไม่มีอาการ) ไปพร้อมๆกัน ร่วมกับการควบคุมกำจัดหิดที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการแพร่สู่ผู้อื่นและการติดหิดซ้ำ
การรักษาหิดแบ่งเป็นการฆ่าตัวหิด การบรรเทาอาการคัน และการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
-
การฆ่าตัวหิด ในโรคหิดชนิดต้นแบบ การรักษาจะใช้ยา ในรูปแบบทา ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น Permethrin cream, Lindane, Benzyl benzoate, Crotamiton lotion,และSulfur โดยจะต้องทายาให้ทั่วตัว แต่ถ้าเป็นทารกและเด็กเล็ก ต้องทาที่หน้าและศีรษะด้วย ยาส่วนใหญ่จะต้องทาทิ้งไว้ 8-12 ชั่วโมงแล้วจึงล้างออก มีคำแนะนำว่าควรจะใช้ยาซ้ำอีกครั้งภายใน 7-10 วันต่อมา เพื่อกำจัดหิดตัวอ่อนที่อาจรอดชีวิตหลังจากใช้ยาครั้งแรก แต่บางการศึกษาก็บ่งว่าไม่จำเป็น การใช้ยาครั้งแรกก็สามารถฆ่าหิดได้ทั้งหมดอยู่แล้ว
สำหรับโรคหิดชนิดนอร์เวย์ การรักษาจะใช้ยาแบบกินเป็นหลัก เช่น Ivermectin โดยอาจใช้ยาแบบทารักษาร่วมกันไปด้วย ส่วนใหญ่จะต้องกินยาหลายครั้ง
- การบรรเทาอาการคัน ผู้ที่ได้ยารักษาหิดไปแล้ว ยังอาจมีอาการคันหลงเหลืออยู่ได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ การรักษาคือให้ยากินแก้คัน ผู้ที่มีตุ่มนูนแดงขนาดใหญ่ (Nodular scabies) การรักษาคือการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปที่ตุ่ม ส่วนผู้ที่เป็นโรคหิดนอร์เวย์ การรักษาผิวหนังที่หนาตัวขึ้น ก็ใช้ยาทาสำหรับละลายเคราติน (Keratin, โปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำให้ผิวหนังมีลักษณะหนาแข็ง) เช่น Salicylic acid ซึ่งจะช่วยให้ผิวหนังชั้นบน สุดที่หนาตัวขึ้น บางลงและทำให้ยาฆ่าหิดซึมลงสู่ผิวหนังได้ดีขึ้นด้วย
- การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โดยการให้ยาปฏิชีวนะ อาจให้เป็นยาทา ยากิน หรือยาฉีด ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
อนึ่ง การใช้ยาทุกชนิดควรได้รับคำแนะนำจาก แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ อย่าซื้อยาใช้เองโดยไม่ปรึกษา แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร
ป้องกันโรคหิดอย่างไร?
การป้องกันการแพร่กระจายของหิด คือต้องนำผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน คู่นอนของตนเอง มารักษาไปด้วยพร้อมๆกัน และการกำจัดหิดที่อาจหลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้กลับเป็นหิดซ้ำ ได้แก่
- ของใช้ที่มีการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ที่ใช้มาน้อยกว่า 3 วันที่แล้ว ก่อนที่จะได้ยารักษา จะต้องนำมาซักทำความสะอาด และต้องแช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 60 องศาเซลเซียส สำหรับสิ่งของที่นำมาซักล้างไม่ได้ ให้ใช้วิธีใส่ถุง พลาสติก และปิดปากถุงให้มิดชิด ทิ้งไว้อย่างน้อย 72 ชั่วโมงเพื่อให้ตัวหิดตายหมด แล้วจึงนำของใช้ดังกล่าวมาใช้ต่อได้
- ในกรณีที่เป็นของใช้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น โซฟา พรม เก้าอี้ อาจใช้เครื่องดูดฝุ่นช่วยกำจัดได้
- การฉีดยาฆ่าแมลงที่ใช้กำจัดแมลงตามบ้านทั่วๆไป ไม่พบว่าช่วยในการกำจัดหิดที่อาจอยู่หลงเหลืออยู่ในสิ่งแวดล้อม
- ผู้ที่ต้องทำงานดูแลรักษาผู้ป่วย ควรสวมถุงมือทุกครั้งหากจะต้องสัมผัสกับผู้ ป่วยที่มีอาการคัน และยังไม่ทราบสาเหตุ
ดูแลตนเองอย่างไร?
ผู้ที่เป็นหิดจะต้องแยกตนเอง ไม่ให้ไปสัมผัสกับผู้อื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับยารักษา และควรไปพบแพทย์ตามนัดอีกครั้งเพื่อประเมินการรักษา
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ที่มีอาการคันตามผิวหนัง โดยเฉพาะตามง่ามนิ้วมือ โดยที่อาจจะมองเห็นโพรงและผื่นร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม ควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวมถึงผู้ที่มีอาการคันตามที่อื่นๆของร่างกาย และได้ลองใช้ยาทาหรือยากินแก้คันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เช่นกัน ทั้งนี้การรักษาหิดควรทำโดยแพทย์เสมอ เนื่องจากหลังการรักษาไปแล้ว แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาประเมินซ้ำอีกครั้ง เพราะยาที่ใช้ไปนั้นอาจไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยไปติดหิดซ้ำมาอีก
ข้อมูลอื่นๆของหิด
หิดของสัตว์ เป็นคนละชนิดกับที่พบในคน ซึ่งพบได้ในสัตว์หลายชนิดทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า บางครั้งการสัมผัสกับสัตว์ ทำให้ติดหิดของสัตว์มาได้ และทำให้เกิดผื่นที่เป็นตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใส และมีอาการคัน ซึ่งเป็นผลจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่มีต่อหิดของสัตว์นั้นๆ แต่หิดของสัตว์จะไม่สามารถขุดโพรงและไม่สามารถวางไข่ขยายพันธุ์ในคนต่อไปได้
นอกจากนี้คนที่เคยเป็นหิดมาแล้ว หากไปสัมผัสกับตัวไรชนิดที่ไม่ได้เป็นปรสิตของคนหรือสัตว์ซึ่งอยู่อาศัยตามบ้านเรือน อาจเกิดอาการคัน และเกิดผื่นที่เป็นตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายที่มีต่อตัวไรที่อยู่ในบ้าน ซึ่งมีสารประกอบบางอย่างที่เหมือนตัวหิด เรียกว่า เป็นปฏิกิริยาที่ไขว้ข้ามต่อกัน (Cross reactivity)
ผู้ป่วยบางคน แม้จะรักษาหิดจนหายแล้ว แต่ยังมีอาการคันมากตามร่างกาย และคิดว่าเห็นตัวหิด หรือตนเองกำลังเป็นหิดอยู่ตลอดเวลา เรียกผู้ป่วยเหล่านี้ว่าเป็น อาการกลัวตัว ไร (รวมทั้งหิด) เล็น เห็บ จนเกินเหตุ (Acarophobia) ซึ่งเป็นอาการทางจิตที่ผิดปกติอย่างหนึ่ง ต้องพบจิตแพทย์รักษา แต่ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาหิดต้องพิสูจน์แน่นอนแล้วว่าผู้ป่วยไม่มีหิดอยู่แล้วจริงๆ
บรรณานุกรม
1. Parasites - Scabies. http://www.cdc.gov/parasites/scabies/ [2012, Jan 3].
2. Scabies in Emergency Medicine. http://emedicine.medscape.com/article/785873-overview [2012, Jan3].