หอบจากอารมณ์ (Hyperventilation syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 มิถุนายน 2561
- Tweet
- โรคทางจิตเวช
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ภาวะระบายลมหายใจเกิน
- โรคหืด (Asthma)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
หอบจากอารมณ์ หรือ โรคหอบจากอารมณ์ หรือ กลุ่มอาการหอบจากอารณ์(Hyperventilation syndrome ย่อว่า HVS) คือกลุ่มอาการที่มีภาวะระบายลมหายใจเกิน/หายใจเร็วและลึกเกินคือเกินกว่าความต้องการปกติของร่างกาย โดยผู้มีอาการจะมีอาการทางด้านอารณ์จิตใจ(เช่น ภาวะกายใจไม่สงบ) และอาการทางกายต่างๆ เช่น หอบเหนื่อย ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุกหดเกร็งโดยเฉพาะของนิ้วมือ อาจมีอาการชัก และอาจมีอาการเป็นลม
หอบจากอารมณ์ แบ่งเป็น2กลุ่ม คือ หอบจากอารมณ์เฉียบพลัน และหอบจากอารณ์เรื้อรัง
ก. หอบจากอารมณ์เฉียบพลัน(Acute HVS) ผู้ป่วยจะเกิดอาการทันที รุนแรง คือ หายใจเร็ว หายใจลึก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก และมีอาการทางอารณ์จิตใจ(กายใจไม่สงบ)ที่เกิดทันที ทั้งหมดเป็นอาการเกิดกับผู้ป่วยทุกราย
นอกจากนี้ จะมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ที่พบบ่อย(ไม่ต้องมีครบทุกอาการ) เช่น หัวใจเต้นเร็ว มักชาตามร่างกาย-มือ- เท้า อาจปวดศีรษะมาก ปวดศีรษะไมเกรน/ไมเกรนกำเริบ อาจชัก อาการกระตุก เป็นลม
และผู้ป่วยกลุ่มนี้ เมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว จะพบว่า ไม่มี โรคปอด โรคหัวใจ หรือโรคอื่นใดทางกาย
ข. หอบจากอารณ์เรื้อรัง(Chronic HVS) เป็นผู้ป่วยมีอาการน้อยกว่าแบบเฉียบพลันมาก จนมักไม่มาพบแพทย์ อาการจะเกิดเรื้อรัง คือ รู้สึกหายใจลำบาก หายใจเร็วลึก แต่อาการไม่มาก และมักไม่มีอาการทางกายอื่นๆร่วมด้วยที่รุนแรง (เช่น อาจเพียงนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือ กินอาหารจุขึ้น) ผู้ป่วยมักมีอาการเมื่อถูกกระตุ้นจาก ความกลัว ความกดดัน ความเครียด และรู้สึกว่าการหายใจเข้า-ออกลึกๆ/การระบายลมหายใจเกินช่วยผ่อนคลายอาการทางจิตใจ/อารมณ์ได้ จึงมักทำเป็นประจำเมื่อมีภาวะกายใจไม่สงบ แต่ไม่ได้หายใจรุนแรงเหมือนกรณีของภาวะหอบจากอารมณ์เฉียบพลัน
ภาวะหอบจากอารมณ์ ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานพบได้ประมาณ 6%ของประชากรทั้งหมด ตามโรงพยาบาลต่างๆพบภาวะนี้ได้ประมาณ 10% ภาวะนี้มักพบในคนวัย 15-55 ปี พบในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชายประมาณ 7 เท่า
อนึ่ง หอบจากอารมณ์ มีชื่ออื่น เช่น Panic attack - hyperventilation; Anxiety – hyperventilation
สาเหตุ: ดังได้กล่าวแล้วว่า เกิดจากปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ
อาการ: ดังได้กล่าวในตอนต้น
การวินิจฉัย: แพทย์วินิจฉัยภาวะนี้ได้จากการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคทางกาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะระบายลมหายใจเกิน)
การรักษา: คือ การรักษาประคับประคองตามอาการ และการรักษาด้านอารมณ์จิตใจ
ก. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือ การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น การให้ออกซิเจน การให้ยาต่างๆตามอาการ เช่น ยาเพื่อบรรเทาอาการชัก/ยาต้านชัก ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อกระตุก ยาคลายเครียด การดูแลทางด้านอารมณ์จิตใจ การสอนวิธีควบคุมการหายใจ
- การรักษาด้านอารณ์จิตใจ: คือ การปรึกษาจิตแพทย์ ที่มักร่วมกับการสอนการฝึกวิธีหายใจและการควบคุมการหายใจขณะเกิดอาการ
การพยากรณ์โรค: โรคนี้มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย โดยเป็นโรคที่แพทย์ให้การรักษาควบคุมโรคได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมืออย่างดีทั้งกับ ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน และคนรอบข้างผู้ป่วย
บรรณานุกรม
- https://emedicine.medscape.com/article/807277-overview#showall [2018,May12]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperventilation_syndrome [2018,May12]
- http://www.msdmanuals.com/professional/pulmonary-disorders/symptoms-of-pulmonary-disorders/hyperventilation-syndrome [2018,May12]
- http://www.dchs.nhs.uk/assets/public/dchs/services_we_provide/service-directory/our-services/health-psychology/Information- sheets/stress&anxiety/Hyperventilation%20Syndrome.pdf [2018,May12]