หลับไม่ลงในวัยดึก (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 15 มกราคม 2562
- Tweet
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง อาทิ การรับรสที่เปลี่ยนไปทำให้รับประทานอาหารไม่อร่อย สายตามัวลง เป็นต้อกระจก หูได้ยินไม่ชัด ความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ทำให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวลดลง รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนของร่างกาย
ซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้การนอนของผู้สูงอายุไม่มีคุณภาพ ได้แก่ การงีบหลับในเวลากลางวัน การนอนไม่เป็นเวลา การเข้านอนก่อนที่จะง่วง หรือเข้านอนเมื่อผ่านเวลานอนไปแล้ว ใช้เตียงเพื่อจุดประสงค์อื่น เช่น ดูทีวี อ่านหนังสือ รับประทานอาหาร เนื่องจากข้อจำกัดของการเคลื่อนไหว มีสิ่งรบกวนในห้องนอน เช่น เสียงดัง มีแสง ห้องร้อน ตลอดจนความไม่สบายตัวจากโรคประจำตัว ปัญหาทางด้านจิตใจ
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การนอนหลับในผู้สูงอายุมีคุณภาพลดลง ดังนั้น บุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุควรทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการนอนของผู้สูงอายุ เพื่อจะได้วางแผนการดูแลที่เหมาะสม
นพ.สกานต์ บุนนาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาภาวะนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปแพทย์มักจะรักษาโดยไม่ใช้ยา โดย
1. ให้ผู้สูงอายุฝึกเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา
2. รับประทานอาหารให้พอดี
3. ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันในช่วงเช้าและบ่าย
4. งดสูบบุหรี่ ลดแอลกอฮอล์
5. ไม่อ่านหนังสือหรือดูทีวีบนเตียง
6. หากผู้สูงอายุไม่สามารถออกไปข้างนอกได้เองหรือต้องนอนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ ผู้ดูแลจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม ลดการทำกิจกรรมที่ส่งเสียงดังรบกวนการนอน
นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยา ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์แนะนำ เนื่องจากระบบเผาผลาญและการทำลายยาในผู้สูงอายุจะทำงานลดลง ทำให้ฤทธิ์ของยาตกค้างอยู่ในร่างกายนานกว่าปกติ หรือทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินต้องใช้ยาที่มีขนาดสูงขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น การรักษาโดยการใช้ยาจึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และผู้ดูแลควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้สูงอายุ
การนอนที่ดีมีคุณภาพในผู้สูงอายุจะช่วยให้เซลล์ในร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยป้องกันการเป็นโรคได้ เพราะ
• ผู้สูงวัยที่นอนไม่ค่อยหลับมักจะมีปัญหาเรื่องความจำ สมาธิ ซึมเศร้าหดหู่ และหกล้มได้
• การนอนไม่พอยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหากับร่างกาย เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเบาหวาน ปัญหาเรื่องน้ำหนัก และโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิง
แหล่งข้อมูล:
- 6 เทคนิคช่วย “ผู้สูงวัย” นอนหลับดีขึ้น. https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28418 [2018, January 14].
- Sleep Tips for Older Adults. https://www.helpguide.org/articles/sleep/how-to-sleep-well-as-you-age.htm/ [2018, January 14].