หลอดเลือดแดงโป่งพอง รุกฆาตโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 2)

หลอดเลือดแดงโป่งพอง

หลอดเลือดแดงโป่งพองในสมองอาจจะโป่งพองโดยไม่แตกออก การโป่งพองอาจจะไปกดเส้นประสาทและเป็นสาเหตุให้เห็นภาพซ้อน (Double vision) เวียนศีรษะ (Dizziness) หรือปวดศีรษะ (Headache) หรือบางครั้งอาจจะทำให้มีเสียงในหู

นอกจากนี้ การโป่งพองอาจไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆ หรืออาจทำให้มีลิ่มเลือดขวางทางเดินของหลอดเลือดฝอย และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคสมองขาดเลือด (Ischemic stroke) หรือภาวะอื่นที่รุนแรงอย่าง ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด (Thromboembolism) ซึ่งเกิดจากการแข็งตัวของเลือดเป็นลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด

ส่วนกรณีที่หลอดเลือดแดงแตก จะมีอาการปวด ความดันโลหิตลดลง หัวใจเต้นเร็ว มึนงง จะเป็นลม (Lightheadedness) และอาจเสียชีวิตได้

อาการแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองที่อาจเกิดขึ้นทั่วไป ได้แก่

  • ภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด ซึ่งขึ้นกับว่าลิ่มเลือดหลุดไปอุดหลอดเลือดที่บริเวณไหน และอาจเป็นสาเหตุให้ปวดแขนขาหรือช่องท้อง หรือ โรคที่เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke)
  • เจ็บหน้าอกหรือปวดหลังอย่างมาก กรณีที่หลอดเลือดโป่งพองที่หน้าอกแตก
  • หลอดเลือดหัวใจตีบ (Angina) ที่อาจทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด (Myocardial ischemia) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือที่รู้จักกันดีว่าหัวใจวาย (Heart attack)
  • ปวดศีรษะรุนแรงเฉียบพลัน
  • อาการอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ

ในสหรัฐอเมริกา ทางการจะแนะนำให้ผู้ชายทุกคนที่อายุ 65-75 ปี ที่ในชีวิตมีการสูบบุหรี่ตั้งแต่ 100 ม้วนขึ้นไป ไปทำการคัดกรองโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง และให้ทำการผ่าตัดกรณีพบว่าหลอดเลือดโป่งพองมีขนาดตั้งแต่ 5.5 เซนติเมตรขึ้นไป

ทั้งนี้ การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง มากกว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เสียอีก ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องจะทำให้โรคหลอดเลือดแดงโป่งพองขยายตัวเร็วกว่าปกติประมาณ 0.4 มิลลิเมตรต่อปี

ส่วนการลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดแดงโป่งพองสามารถทำได้โดย

  • เลิกสูบบุหรี่
  • ลดความดันโลหิตสูง – ด้วยการกินอาหาร การออกกำลังกาย และการกินยา เพื่อลดแรงกดดันต่อผนังหลอดเลือด
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ – ลดคลอเรสเตอรอลและโอกาสที่เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • ออกกำลังกาย – เพื่อลดความดันโลหิต
  • รักษาน้ำหนักตัวให้พอดี ไม่ปล่อยให้อ้วน – เพื่อไม่ให้หัวใจต้องทำงานหนักและทำให้ความดันโลหิตสูงด้วย

แหล่งข้อมูล

1. Aneurysm. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/whooping-cough/basics/definition/con-20023295 [2016, September 21].

2. Aneurysm: Causes, Symptoms and Treatments. http://www.medicalnewstoday.com/articles/156993.php [2016, September 21].