หลอดเลือดแดง (Artery) เลือดแดง (Arterial blood)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 กุมภาพันธ์ 2557
- Tweet
หลอดเลือดแดง หรือ เส้นเลือดแดง คือ หลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ โดยทั่วไปในหลอดเลือดแดงเกือบทุกหลอดเลือด จะเป็นที่อยู่ของเลือดแดง ซึ่งเลือดแดงคือเลือดที่มีออกซิเจนสูง และมีอาหารที่ร่างกายจะนำไปเลี้ยงเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ซึ่งการที่มีออกซิเจนสูง ทำให้เลือดมีสีแดงสด คนไทยจึงเรียกว่า “เลือดแดง”
หลอดเลือดแดงที่ออกจากหัวใจ มีเส้นเดียวเรียกว่า “ท่อเลือดแดง หรือ เอออร์ตา (Aorta)” โดยอยู่ตรงกลางของลำตัว และมีหลอดเลือดขนาดกลางแตกแขนงออกไปมากมายเพื่อไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ที่มีชื่อเรียกตามอวัยวะที่มันหล่อเลี้ยง เช่น หลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery) และหลอดเลือดไต (Renal artery) เป็นต้น หลอดเลือดที่ออกจากเอออร์ตาจะมีขนาดเล็กกว่าเอออร์ตาเสมอ และจะแตกแขนงขนาดเล็กลงเรื่อยๆอย่างมากมาย ยิ่งอยู่ไกลจากเอออร์ตา ก็จะยิ่งมีขนาดเล็กลง ซึ่งหลอดเลือดแดงขนาดเล็กมาก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 0.3 มิลลิเมตร ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เรียกว่า “Arteriole” และ Arteriole นี้จะกลายเป็นหลอดเลือดที่เล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ที่มีการแลกเปลี่ยน ออกซิเจน อาหาร และสารต่างๆ จากเลือดแดงเข้าสู่เซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะ และนำของเสีย รวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์ จากเซลล์/เนื้อเยื่อ/อวัยวะกลับเข้าหลอดเลือด กลายเป็นเลือดดำ หลอดเลือดตรงส่วนที่มีการแลกเปลี่ยนสารต่างๆนี้เรียกว่า “หลอดเลือดฝอย (Capillary)” ดังนั้น หลอดเลือดฝอยจึงเป็นหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ
โรคที่พบบ่อยของหลอดเลือดแดง คือ โรคท่อเลือดแดงแข็ง และโรคหลอดเลือดอักเสบ และที่พบได้บ้าง คือ โรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง (Arterial aneurysm) และปานแดง (Hemangioma) (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ใน เกร็ด เรื่อง หลอดเลือด)
บรรณานุกรม
- Artery http://en.wikipedia.org/wiki/Artery [2014,Jan26].
- Arteriole http://en.wikipedia.org/wiki/Arteriole [2014,Jan26].