หยดนี้ให้ชีวิต (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

หยดนี้ให้ชีวิต-6

      

สำหรับการทดสอบเลือด (Blood Tests) ทำได้หลายวิธี เช่น

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count): ทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
  • บลัดสเมียร์ (Blood smear): การทำให้เลือดแผ่กระจายออกไปบนแผ่นสไลด์เพื่อศึกษาโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้ถึงโรคลูคีเมีย ภาวะโลหิตจาง โรคมาลาเรีย และอื่นๆ
  • การตรวจกรุ๊ปเลือด (Blood type): ซึ่งกรุ๊ปเลือดหลักๆ ประกอบด้วย เลือดกรุ๊ป A, B, AB, และ O โดยดูจากโมเลกุลของโปรตีน (Antigen) ที่อยู่บนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดง
  • การตรวจ Coombs test หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ Direct antiglobulin test (DAT): เป็นการทดสอบว่าที่ผิวเม็ดเลือดแดงมี แอนติบอดี (Antibody) ที่สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเกาะติดอยู่หรือไม่ ส่วนใหญ่ใช้กับหญิงตั้งครรภ์ (ใช้ในการตรวจหาโรคเม็ดเลือดแดงแตกในตัวอ่อน) และผู้ที่มีภาวะเลือดจาง
  • การเพาะเชื้อเลือด (Blood culture): เพื่อหาเชื้อที่มีอยู่ในกระแสเลือด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
  • การตรวจ Mixing study: ด้วยการนำพลาสม่าผู้ป่วยมารวมกับพลาสม่าคนปกติในปริมาณเท่ากันแล้วทำการประเมินการแข็งตัวของเลือด
  • การเจาะไขกระดูก (Bone marrow biopsy): ด้วยการใช้เข็มเจาะที่กระดูกใหญ่ (มักเป็นกระดูกสะโพก) เพื่อตรวจดูภาวะเลือดที่การตรวจเลือดปกติไม่สามารถทำได้

การรักษาเกี่ยวกับโรคเลือดสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • เคมีบำบัด (Chemotherapy): เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง มักใช้ในการรักษาโรคลูคีเมียและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • การให้เลือด (Blood transfusion): แก่ผู้ที่สูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก
  • การให้เกล็ดเลือด (Platelet transfusion): แก่ผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำมาก
  • พลาสมาที่ถูกแช่แข็ง (Fresh frozen plasma = FFP): เพื่อช่วยในกรณีที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
  • Cryoprecipitate: เป็นโปรตีนเฉพาะซึ่งเป็นส่วนของพลาสมาที่ไม่ละลายในอุณหภูมิที่เย็นซึ่งจะยังคงเหลืออยู่ภายหลังนำ FFP ไปละลายที่อุณหภูมิระหว่าง +1 และ+ 6 องศา เป็นประโยชน์สําหรับการแก้ไขภาวะบกพร่องในการแข็งตัวของเลือด เช่น โรคเลือดไหลไม่หยุด
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants): เพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตัน เช่น ยา Heparin ยา enoxaparin และ ยา warfarin
  • ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drugs): เพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตัน เช่น ยา Aspirin และ ยา Clopidogrel
  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics): เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและปรสิตในกรณีที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ยาฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin): เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง กรณีรักษาภาวะโลหิตจาง
  • การเจาะเลือดออก (Bloodletting): กรณีที่มีเลือดมากเกินไป เช่น ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) หรือ ภาวะเลือดข้น (Polycythemia)

แหล่งข้อมูล:

  1. What's Blood?https://kidshealth.org/en/kids/blood.html [2020, October 23].
  2. Picture of Blood. https://www.webmd.com/heart/anatomy-picture-of-blood#1 [2020, October 23].
  3. How does blood work, and what problems occur? https://www.medicalnewstoday.com/articles/196001#structure [2020, October 23].