หมอสมศักดิ์ ตอบ:ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ คืออะไร

หมอสมศักดิ์ตอบ-13


      

      ผมสังเกตว่าเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับใคร คนส่วนใหญ่จีความวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคหรือภาวะที่ร้ายแรงหรือไม่ อยากหายจากภาวะเจ็บป่วยนั้นไวๆ จึงคิดว่าต้องรีบหาหมอให้เร็วที่สุด ซึ่งการหาหมอให้เร็วก็นิยมไปพบหมอที่คลินิกบ้าง โรงพยาบาลเอกชนบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะไปพบหมอที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลรัฐ เพราะมีการเปิดบริการตลอดเวลา สะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย จึงเกิดการมารับบริการที่แผนกฉุกเฉินโยเฉพาะนอกเวลาราชการจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างภาระงานด้านการบริการที่เกิดขึ้นกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐ ก่อให้เกิดความแออัด และล่าช้าในการบริการ บางครั้งอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะเร่งด่วน ฉุกเฉินจริง ๆ ได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยนั้นด้วย ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยและญาติ คือ ไม่รู้ว่าภาวะเจ็บป่วยแบบไหนที่เป็นภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ผมลองทบทวนปัญหาการเจ็บป่วยทางระบบประสาทที่นำผู้ป่วยมารักษาที่แผนกฉุกเฉิน ดังนี้

      1. อาการปวดหัว กรณีปวดหัวเรื้อรังเป็นๆ หายๆ มานานหลายเดือน หลายปีแบบนี้ไม่ฉุกเฉินแน่นอน แต่ถ้าปวดหัวร่วมกับไข้สูง มีปวดตึงต้นคอ ก้มคอไม่ลง หรือร่วมกับอาการแขน ขาอ่อนแรง ตามัวลง ชัก แบบนี้ฉุกเฉินแน่นอน อย่างไรก็ตามก็จะมีกรณีที่เป็นปวดหัวไมเกรนรุนแรง อาเจียนหลายครั้ง ทานยาก็ไม่ได้ เพราะอาเจียนตลอดเวลา แบบนี้ก็ควรมารักษาที่ห้องฉุกเฉิน เพื่อได้ยาระงับอาการอาเจียนและแก้ปวดหัว

      2. อาการชัก ถ้าไม่เคยมีอาการชักมาก่อน การชักนี้เป็นครั้งแรก แบบนี้ก็ควรพามารักษาที่ห้องฉุกเฉินได้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการชักซ้ำหรือไม่ มีสาเหตุการชักจากอะไร แต่ถ้าเป็นโรคลมชักอยู่เก่า มีอาการชักเป็นๆ หายๆ การชักแต่ละครั้งไม่ได้เกิดอันตรายอะไรต่อผู้ป่วย หลังหยุดชักก็ไม่มีอาการผิดปกติ แบบนี้ก็ไม่ฉุกเฉิน แต่ถ้าอาการชักนั้นมีแขน ขาอ่อนแรง เกิดอุบัติเหตุจากการชัก หลังชักไม่ฟื้นคืนสติ ชักนานกว่า 5 นาที แบบนี้ควรรีบพามารักษาที่ห้องฉุกเฉิน

      3. อาการแขน ขาอ่อนแรง ถ้าเป็นขึ้นมาแบบเฉียบพลัน ทันทีหรือเป็นหลังตื่นนอน แบบนี้ก็ต้องรีบพามารักษาทันที ไม่ควรรอสังเกตอาการว่าจะหายหรือไม่ แต่ถ้าอาการนั้นค่อยเป็นค่อยไปมานานหลายวัน หลายสัปดาห์แบบนี้ก็ไม่ฉุกเฉินแน่ ๆ

      4. อาการตามัวลง วิธีคิดคืออาการนั้นเป็นขึ้นมาแบบเฉียบพลันหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างรวดเร็วก็ถือว่าเร่งด่วน แต่ถ้าค่อยๆ เป็นมาหลายวันแล้ว หลายสัปดาห์แล้วก็ไม่ฉุกเฉิน

      5. อาการปวดกล้ามเนื้อ แขน ขา ถ้าอาการนั้นรุนแรงมาก เป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมก็สามารถมารักษามารักษาที่ห้องฉุกเฉินได้ แต่ถ้าอาการนั้นเกิดจากการทำกิจกรรมมาอย่างหนัก แล้วปวดเมื่อยอย่างแรง แบบนี้ก็น่าจะรอรักษาในเวลาราชการได้

      6. อาการชาแขน ขาส่วนใหญ่แล้วไม่ฉุกเฉิน ยกเว้นอาการชานั้นเป็นขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน ชาครึ่งซีกของร่างกาย ก็เป็นอาการที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง แบบนี้ต้องรีบมารักษาที่ห้องฉุกเฉิน

      7. อาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท อาการแบบนี้มีทั้งแบบฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน คือ ถ้ามีเฉพาะอาการปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท ไม่มีแขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัดร่วมด้วยก็ไม่ฉุกเฉิน แต่ถ้ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ฉุกเฉิน

      8. อาการพูดไม่ชัด คิดคำพูดไม่ออก ลืมเฉียบพลัน จำเหตุการณ์ไม่ได้แบบนี้ถ้าเป็นขึ้นมาก็ฉุกเฉินแน่นอน แต่ถ้าค่อยเป็นค่อยไปมานานหลายวันก็ไม่ฉุกเฉิน

      ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพิจารณาว่าภาวะใดฉุกเฉินหรือไม่นั้น ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ การเกิดอาการดังกล่าวเฉียบพลันหรือค่อยๆ เป็น อาการนั้นจะส่งผลต่ออันตรายต่อชีวิตหรือไม่ถ้าไม่รีบรักษา ถ้ารุนแรง เพิ่งเกิดอาการรวดเร็ว มีอันตรายต่อชีวิต แบบนี้ก็ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น แผลแตก กระดูกหัก ข้อเคลื่อนหลุด ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นภาวะฉุกเฉิน ยกเว้นแผลถลอกฟกช้ำที่ดูแลรักษาด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตามถ้าเราไม่มั่นใจว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นฉุกเฉินหรือไม่ จะเป็นอันตรายหรือไม่ ก็สามารถไปที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลได้ ทางเจ้าหน้าที่จะมีระบบการคัดกรอง ประเมินอาการเจ็บป่วยว่าเข้ากับภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ถ้าฉุกเฉินก็จะให้การรักษาอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไม่ฉุกเฉินก็จะแนะนำวิธีการมารับบริการรักษาในวันเวลาราชการต่อไป ถ้าทุกคนทำตามหน้าที่และสิทธิ เคารพกติกาของสังคม ผมว่ามันก็ไม่ยุ่งหรอกครับ ที่ผ่านมาคือทุกคนไม่เคารพกติกา มันก็เลยเกิดเรื่องขัดแย้งกันครับ