หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน หมอช่วยพี่ด้วย พี่ทรมานมาก
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 8 ธันวาคม 2563
- Tweet
วันหนึ่งขณะที่ผมตรวจผู้ป่วยที่คลินิกส่วนตัว ก็ได้ยินเสียงร้องของผู้หญิงท่านหนึ่ง เสียงร้องนั้นดังมาก บ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่รุนแรงอย่างมาก เสียงร้องดังประมาณ 30 วินาที แล้วก็ดีขึ้น แต่เสียงนั้นก็ดังเป็นระยะ ๆ ผมจึงเดินออกไปเรียกผู้ป่วยรายนี้เข้ามาตรวจก่อนรายอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยน่าจะต้องได้รับการตรวจประเมินแล้วรีบให้การรักษาก่อนรายอื่น ๆเนื่องจากมีความเจ็บปวดมากเหลือเกิน
ผมเริ่มสอบถามอาการผู้ป่วย โดยนั่งใกล้ผู้ป่วยมาก ๆ เพื่อคอยให้กำลังใจผู้ป่วยไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยคือ การสร้างความไว้วางใจ ให้ผู้ป่วยรู้ว่าเราให้ความใส่ใจผู้ป่วย ผู้ป่วยเอื้อมมือมาจับมือผม แล้วในขณะที่ผมกำลังสอบถามอาการ ผู้ป่วยก็ร้องออกมาแบบเดิม แสดงถึงความรุนแรงของอาการปวดอย่างทรมาน ผู้ป่วยกำมือผมแน่น แล้วใช้เล็บจิกมือผมด้วย ผมพยายามพูดให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย หายใจช้า ๆ เข้าออกลึก ๆ ใจเย็น ๆ ประมาณ 30 วินาที อาการก็ค่อย ๆ ทุเลาลง ผมจึงสอบถามอาการต่อ สรุปว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นนั้นเกิดบริเวณใบหน้าด้านขวา ปวดแต่ละครั้งรุนแรงมาก ไปหาทันตแพทย์มา ก็ตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ จึงแนะนำให้มาพบแพทย์ระบบประสาท
อาการดังกล่าวคือ อาการปวดประสาทใบหน้า เกิดจากโรคเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 อักเสบ หรือปวดประสาทไตเจอมินอล โรคนี้เกิดขึ้นเอง บางรายพบว่ามีความผิดปกติของหลอดเลือดสมองส่วนก้านสมองกดทับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 การรักษาส่วนใหญ่แล้วจะตอบสนองดีต่อยา คาร์บามาซีปีน (carbamazepine) ผมจึงได้อธิบายอาการผิดปกติดังกล่าว สาเหตุ และวิธีการรักษา ผมอธิบายต่อว่ายาที่ใช้รักษาที่จะให้ทานนั้นเป็นยาที่เกิดอาการแพ้ได้ง่าย ผมจะเริ่มให้ยาคาร์บามาซีปีน ทานครั้งละครึ่งเม็ด เช้า เย็น ถ้ามีอาการผื่นขึ้นผิดปกติ ไข้ แผล ตุ่มน้ำในปาก ให้รีบหยุดยาแล้วมาพบผมทันที ผมมั่นใจว่าอาการจะดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่อาจจะไม่ทันที ถ้ามีอาการปวดอีก ต้องพยายามท่องในใจว่าใจเย็น ๆ ไม่ปวดหรอก เดี๋ยวก็หาย ผู้ป่วยนั่งคุยกับผมต่ออีกเกือบ 10 นาที เกี่ยวกับอาการปวดจนมั่นใจว่า อาการดังกล่าวไม่ร้ายแรง เดี๋ยวก็หายจริง ๆ
อีก 4 วันต่อมาผู้ป่วยมาพบผม พร้อมกับรอยยิ้ม แล้วพูดว่า “หมอ พี่ขอโทษหมอด้วยนะที่วันก่อน พี่บีบมือหมอจนแน่น แล้วจิกเล็บไปที่มือหมอด้วย พี่ขอโทษจริง ๆ วันนี้พี่ไม่ปวดแล้ว หมอเก่งจริง ๆ พี่ขอบคุณหมอมากนะ” ผมสบายใจอย่างมาก มีความสุขอย่างมากที่ผู้ป่วยสบายดี แล้วก็ไม่แพ้ยาด้วย ผมพูดกับคนไข้ว่า
“หมอดีใจด้วยนะครับ ผมสบายใจมากขึ้นเลยที่พี่ไม่มีอาการปวดอีกเลย แล้วก็ไม่แพ้ยาด้วย เชื่อผมนะครับว่าโรคนี้ไม่รุนแรง แต่มันทรมานจริง ๆ หมอเข้าใจที่บีบมือผมแน่นวันนั้น เพราะรูดีว่ามันเจ็บปวดมากแค่ไหน ผมดีใจนะที่พี่ไว้ใจผม มาบีบมือผม แทนที่จะบีบมือสามีพี่” ผู้ป่วยก็อมยิ้ม ส่วนสามีก็หัวเราะเสียงดัง ทุกคนมีความสุขครับ