หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน หลายมุมมอง

หมอสมศักดิ์ชวนคุย-22


หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน หลายมุมมอง

พรบ. ยาเป็น พรบ. หนึ่งที่สำคัญต่อสุขภาพของคนไทยที่ทีมสุขภาพรอคอยมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะเภสัชกร แต่เมื่อจะมี พรบ. ฉบับใหม่ออกมาจริง ๆ ก็มีประเด็นร้อนที่ทางเภสัชกรเป็นห่วงเกี่ยวกับการให้พยาบาลสามารถจ่ายยาแทนเภสัชกรได้ เพราะอาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้ เนื่องจากพยาบาลเองมีการเรียนเกี่ยวกับด้านเภสัชกรน้อยมาก และมีประสบการณ์ไม่มากพอ จึงมีความเป็นห่วงด้วยความหวังดี แต่จะมีประเด็นอื่น ๆ ที่ทางเภสัชกรเป็นห่วงอีกหรือไม่ แต่ไม่ได้เปิดประเด็นให้สังคมเข้าใจและรับรู้มากนัก เช่น การเปิดโอกาสให้ร้านสะดวกซื้อสามารถจ่ายยาได้ในอนาคต วันนี้ผมมาชวนคุยเฉพาะประเด็นพยาบาลสามารถจ่ายยาแทนเภสัชกรได้ ในมุมมองที่ผมเป็นหมอทำงานร่วมกับพยาบาล และเภสัชกรมานานกว่า 30 ปี (นับตั้งแต่เรียนชั้นคลินิกมาด้วยกัน) ดังนี้

1. ความจำเป็นของการให้พยาบาลจ่ายยาได้นั้น ผมเห็นว่ามีความจำเป็นจริง ๆ เพราะในสถานพยาบาลบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีอยู่จำนวนมากทั่วทุกพื้นที่ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอของประเทศไทยนั้น ซึ่งมีความจำเป็นต้องให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งการให้ยาต่อเนื่องในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งการเยี่ยมบ้าน ในปัจจุบันนั้นพยาบาลต้องทำหน้าที่ทั้งให้การวินิจฉัยโรค การรักษา การพยาบาลแบบครบวงจร แทนทั้งหมอ และเภสัชอยู่แล้ว เพราะความจำเป็นจริง ๆ ครับ ผมเชื่อมั่นว่าไม่ใช่เพราะพยาบาลต้องการก้าวข้ามวิชาชีพหรอกครับ งานของพยาบาลอย่างเดียวก็ล้นมืออยู่แล้ว แต่ที่พยาบาลทำ ก็เพราะความจำเป็น ประโยชน์ของผู้ป่วยจริง ๆ

2. ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ ว่าอีกวิชาชีพหนึ่งต้องทำหน้าที่แทนอีกวิชาชีพหนึ่งที่ทำงานร่วมกันนั้นจะทำอย่างไร ผมมีแนวคิดว่าเราก็ต้องมีการจัดระบบงานให้ชัดเจนว่างานอะไรบ้างที่ต้องทำแทน และมีการพัฒนาความรู้ให้กับผู้ที่ต้องทำหน้าที่นั้นแทน แนวทางการให้บริการนั้น ๆ ที่ชัดเจน เพื่อลดโอกาสความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้

3. ต้องพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลการให้บริการอย่างใกล้ชิด และพร้อมมีการปรับปรุงแก้ไขทันทีที่พบความผิดพลาด

4. เพิ่มอัตรากำลังด้านบุคลากรระยะยาวให้มีเภสัชกรประจำหน่วยงานที่จำเป็นต้องมีเภสัชกร เพื่อเพิ่มคุณภาพด้านการบริการด้านเภสัชกรรมให้ดียิ่งขึ้น

การทำงานในภาวะขาดแคลนทรัพยากรหรือมีทรัพยากรจำกัดนั้นต้องมีการพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้มีศักยภาพสูงขึ้น และพัฒนาแนวทางการทำงานที่สามารถให้คนที่มีอยู่นั้นสามารถทำหน้าที่แทนตำแหน่งที่ขาดแคลนได้ เพราะการเพิ่มตำแหน่งนั้นทำได้ยากมาก จึงต้องใช้วิธีการเพิ่มศักยภาพคนที่มีอยู่ให้สามารถทำแทนคนที่ยังไม่มีไปก่อนในระยะสั้น ๆ เช่น ที่ประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบ stroke fast track ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง โดยให้อายุรแพทย์รักษาผู้ป่วยแทนอายุรแพทย์ระบบประสาท หรือการพัฒนาศักยภาพพยาบาลให้มีความรู้เฉพาะการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยการอบรมเพิ่มเติมความรู้ 5 วัน และให้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากการทำงานในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

การพัฒนาศักยภาพให้คนเราสามารถทำงานได้หลากหลายหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เพราะประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรอยู่มากครับ