หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย

หมอสมศักดิ์ชวนคุย-2


หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน การจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย

ในแต่ละปีก็จะมีข้อมูลจากระดับนานาชาติทั้งระดับโลก และระดับทวีปเอเชียที่มีการจัดลำดับมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศไทยก็มีการตื่นตัวพอสมควรว่ามหาวิทยาลัยของไทยในแต่ละสถาบันนั้นมีลำดับดีขึ้นหรือลดลงอย่างไร ผมเองมีความสนใจเหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่นั้นจะได้ที่เท่าไหร่ในแต่ละปี ลำดับดีขึ้นบ้าง ลดลงบ้างในแต่ละปี พร้อมกับเฝ้ามองว่านักศึกษาได้อะไร ประชาชนได้อะไร แล้วพวกผมที่เป็นคนทำงานได้อะไรบ้างจากการจัดลำดับมหาวิทยาลัยดังกล่าว ซึ่งผมไม่เคยได้คำตอบว่าเราได้ประโยชน์อะไร เราทำประโยชน์อะไรให้สังคม เราทำประโยชน์อะไรให้คนไทยบ้าง ผมมานั่งดูในรายละเอียดของเกณฑ์การจัดลำดับมหาวิทยาลัยแล้วพบว่ายังมีหลายอย่างที่เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไทย แต่ไม่ได้ถูกจัดเป็นค่าคะแนนในการจัดลำดับ แล้วก็มีหลายข้อที่อาจไม่ใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัยไทยโดยตรง แต่ก็ถูกจัดเป็นค่าคะแนนดังกล่าว ผมเลยมานั่งคิดว่าเราทำไมไม่มีการประเมินหรือจัดอันดับของมหาวิทยาลัยไทยเราเอง โดยใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมของเราเอง ได้แก่

1. ผลสำเร็จด้านการศึกษาของบัณฑิตระดับต่างๆ

2. การมีงานทำของบัณฑิต

3. ความสามารถของบัณฑิตเมื่อทำงาน

4. ความพึงพอใจของสถานประกอบการที่รับบัณฑิตเข้าทำงาน

5. ความก้าวหน้าและการประสบความสำเร็จของบัณฑิต

6. จำนวนอาจารย์ต่อนักศึกษาที่ต้องได้สัดส่วนที่เหมาะสม

7. ผลงานด้านต่างๆ ของอาจารย์ และบัณฑิต รวมทั้งงานวิจัย บทความ นวัตกรรม และสิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่วัดจากผลงานวิจัยเพียงอย่างเดียว

8. นโยบายหรือแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ต่อในวงกว้างได้จริง

9. ความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนสู่ทั้งประเทศ

10. การตอบโจทย์สำคัญที่เป็นที่มาของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนั้นๆ

11. การสร้างความสุขให้นักศึกษา บุคลากร และชุมชนรอบข้างมหาวิทยาลัย

12. ความรักและภักดีของคนในองค์กรต่อมหาวิทยาลัย

13. การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

14. การเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน จังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ

15. ค่าบำรุงการศึกษาที่เหมาะสม

16. จำนวนทุนการศึกษา และการสนับสนุนนักศึกษา รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนบุคลากรในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

17. การบริการสังคมที่มีคุณค่า

18. การพัฒนาการศึกษาของชุมชน จังหวัด และภูมิภาคที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่

19. การยกระดับคุณภาพชีวิตของนักศึกษา บุคลากร คนในสังคมที่มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย

20. การสร้างงานให้กับสังคม

ที่ผมยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงสิ่งที่ผมคิดออกเท่านั้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนว่าถ้าการจัดลำดับมหาวิทยาลัยนั้น นักศึกษา บุคลากร คนในชุมชนต้องได้ประโยชน์จากการจัดลำดับ ถ้าไม่มีประโยชน์ใดๆ ก็ไม่ควรนำมาเป็นค่าคะแนนในการจัดลำดับดังกล่าว ความคิดของผมอาจไม่เหมือนนักวิชาการทั่วไป แต่อยากให้มองต่างบ้างครับ ผมขอยกตัวอย่างของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าบัณฑิตจบมาแล้วทำงานอยู่ในภาคอีสานเป็นจำนวนมาก เช่น บัณฑิตแพทย์และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ไปจังหวัดไหนๆ ในภาคอีสาน ก็จะพบบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรคที่เป็นปัญหาเฉพาะอีสาน คณะแพทย์ขอนแก่นก็แก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ถ้าเรามีตัวชี้วัดแบบนี้ ผมว่ามหาวิทยาลัยก็จะก่อประโยชน์กับคนไทย มากกว่าการจัดลำดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน