หมอสมศักดิ์ชวนคุย ตอน เมื่อความไว้ใจหายไปจากวงการแพทย์
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 28 กรกฎาคม 2563
- Tweet
“หมอครับ ผมจะฟ้องหมอ ลูกสาวผมมาดีๆ แค่ มีอาการปวดหัว แต่หมอรักษาลูกผมจนตาย หมอแย่มากๆ ผมจะฟ้องหมอ” หรือ “หมอครับพ่อผมอาการไม่เห็นจะดีขึ้นเลย ผมไม่สบายใจเลยครับที่หมอรักษาพ่อผมไม่หาย ผมขอให้หมอส่งพ่อผมไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยด้วยครับ” หรืออีกเหตุการณ์หนึ่ง “หมอครับลูกผมเป็นอะไรแน่ ยังมีไข้ ถ่ายเหลว ทานอาหารไม่ได้ หมอต้องส่งตัวลูกผมไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดตอนนี้เลย ผมไม่รอจนลูกผมตายนะ ถ้าไม่ส่งตัวผมจะร้องเรียน ผมมีเพื่อนเป็นผู้สื่อข่าวมากมาย” เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างแพทย์ กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ทำไมถึงมีเหตุการณ์แบบนี้บ่อยมากขึ้น ทำไมความไว้วางใจที่มีในอดีต ผู้ป่วย ญาติไว้วางใจให้แพทย์ในโรงพยาบาลรักษาอย่างเต็มที่ ถึงแม้อาการจะไม่ดี การรักษาไม่ได้ผล ก็ไม่เคยคิดที่จะขอส่งตัว หรือร้องเรียนหมอผู้ให้การรักษา ถึงแม้ผู้ป่วยจะเสียชีวิต ทำไมจึงเป็นแบบนี้ ผมพยายามจะเข้าใจ และลองนึกหาเหตุผลได้ ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับผู้ป่วยเปลี่ยนไป จากผู้ช่วยชีวิต ผู้ให้ชีวิตเป็นเพียงอาชีพ อาชีพหนึ่ง คือ แพทย์ผู้ทำหน้าที่ให้การบริการ แก้ไขปัญหาเจ็บป่วยเท่านั้น คล้ายๆ กับช่างซ่อม ดังนั้นถ้าซ่อมไม่ดี ซ่อมไม่ได้ ก็อาจเกิดความไม่พอใจ ถ้าซ่อมดี ก็เป็นเพียงช่างซ่อมที่เก่ง ทำงานได้ตามหน้าที่เท่านั้น
2. การเข้าถึงข้อมูลด้านต่างๆ ได้ง่ายขึ้นมากๆ ทำให้ผู้ป่วย ญาติมีความรู้ หรือได้รับข้อมูลมากมายจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทำให้อยากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ เพราะรับรู้ข้อมูลจากสื่อต่างๆ
3. การเดินทางสะดวกสบาย ทำให้ระยะทางระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลจังหวัดไม่เป็นอุปสรรค
4. ความเชื่อว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะให้การรักษาดีกว่าโรงพยาบาลขนาดเล็ก
5. ความมั่นใจว่าแพทย์เฉพาะทางจะให้การรักษาดีกว่าหมอทั่วไป
เมื่อความอยากได้กลายเป็นต้องได้ เมื่อทุกคนบอกว่าเป็นสิทธิ์ของฉัน เป็นสิทธิ์ของเราที่ต้องได้ สังคมเราจะเป็นอย่างไรครับ ผมอยากให้เราทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเหมือนในอดีต ด้วยความไว้วางใจ ความซื่อสัตย์ ความตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด