หมอ (รักษา) โรคประสาท ตอนที่ 27 ผ่าตัดไม่ผ่าตัด?

หมอรักษาโรคประสาท

การรักษาโรคบางโรคสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น โรคปวดหลังจากการทำงาน สามารถรักษาได้ทั้งการทำกายภาพบำบัด การนวดแผนโบราณ การกดจุด การฝังเข็ม การทายาแก้ปวด หรือการเล่นโยค่ะก็ทำได้ ด้วยเหตุที่การรักษาโรคเดียวกันทำได้หลายวิธี จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความไม่เข้าใจ ไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไรดี เพราะหมอแต่ละคนที่ไปหาแนะนำไม่เหมือนกัน ผมเจอผู้ป่วยมาปรึกษาผมหลายรายครับ

“หมอครับ ผมมาปรึกษาหมอหน่อยนะครับ เพราะว่าที่ผ่านมาผมเริ่มสับสนในชีวิตครับ ผมเป็นโรคหมอนรองกระดูกบริเวณกระดูกสันหลังระดับคอที่ 4,5เคลื่อนกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการเจ็บปวดมากครับ ผมทำเอมอาร์ไอมา 3 ครั้งแล้วครับ ผมทำมาทุกปีครับ เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ผมมีเรื่องที่จะถามหมอ คือว่าผมจะรักษาด้วยการทานยา ทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัดดีครับ เพราะหมอที่ผมรักษามา 3 ท่าน แนะนำไม่เหมือนกันครับ ทั้งๆ ที่ผลการตรวจ การวินิฉัยเหมือนกันครับ”

ยุ่งแล้วครับ ผมต้องเป็นหมอคนที่ 4 ที่อาจสร้างความสับสนให้ผู้ป่วยอีก ผมจึงขอสอบถามข้อมูลพิ่มเติม ได้ข้อมูลผลการวินิจฉัยโรคแน่ชัดว่าเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ไม่ผิดแน่นอน แล้วทำไมคำปรึกษาหรือแผนการรักษาถึงแตกต่างกัน

“คุณลองเล่ารายละเอียดให้หมอฟังหน่อยครับ ว่าหมอที่แนะนำแตกต่างกันนั้น เป็นอย่างงไรบ้าง หมอที่แนะนำให้ผ่าตัด เพราะเหตุผลอะไร และทำไมหมอที่แนะนำว่าให้ทำกายภาพบำบัด เพราะอะไร”

หมอ 2 ท่านแรกที่แนะนำให้ผ่าตัด เป็นหมอผ่าตัดที่มีชื่อเสียงของประเทศในปัจจุบันทั้ง 2 ท่านนี้ผ่าตัดโรคดังกล่าวเกือบทุกวันจนชำนาญมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนอีกท่านก็เป็นหมอที่มีชื่อเสียงในอดีต ตอนนี้ไม่ค่อยได้ผ่าตัดแล้ว ผมจึงเข้าใจเหตุผลมากขึ้น คราวนี้ผมจะทำอย่างไรดีครับ ผมไม่ได้เป็นหมอผ่าตัดซะด้วย

ผมเริ่มตรวจประเมินอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด ก็พบว่าอาการของเส้นประสาทที่ถูกกดทับนั้น ไม่ได้รุนแรงมากนัก มีเพียงแต่อาการปวดเป็นหลัก ไม่มีกล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง ผมก็เลยสรุปว่า

“ถ้าเป็นตามความคิดของผมนะครับ อาการที่เป็นปัญหาในตอนนี้ของคุณเป็นเพียงอาการปวดจาการที่เส้นประสาทถูกกดทับเท่านั้น ไม่มีกล้ามเนื้อลีบ ไม่มีอาการอ่อนแรง ผมเห็นด้วยกับการสังเกตอาการต่อครับ และแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดเป็นหลักครับ พยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวคอที่เร็วหรือใช้คอมากครับ ผมเชื่อมั่นว่าอาการน่าจะดีขึ้นครับ”

ผู้ป่วยขอบคุณผมมากครับ เพราะเป็นคำแนะนำที่ผู้ป่วยต้องการ เพราะเป็นคนกลัวการผ่าตัด จริงแล้วผมไม่ได้ทำอะไรมากครับ เพียงพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลักตามหลักการที่ได้เรียนมา และคิดว่าถ้าเป็นเรา เราจะเลือกการรักษาอะไร เราต้องการอะไร เราจะตัดสินใจรักษาตนเองอย่างไร อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่า การรักษาโรคอย่างเดียวกัน แต่ก็มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันได้ เพราะการรักษานั้นมีวัตถุประสงค์ คือทำให้อาการดีขึ้นและมีความสุขใจ