หมอ(รักษา)โรคประสาท ตอนที่ 12 กาแฟ

หมอรักษาโรคประสาท

“ง่วงนอนมากครับคุณหมอ ตั้งแต่ที่ผมได้ทานยาคุณหมอ ผมจะหลับตลอดเวลาเลยครับ ผมจึงไปดื่มกาแฟ เพื่อให้มันสดชื่น ไม่ง่วง แต่ว่าหลังจากดื่มกาแฟแก้วแรกในชีวิต ผมก็แทบใจจะขาด หัวใจเต้นเร็วมาก เหนื่อยสุดๆ ผมเป็นอะไรเหรอครับ ผลของกาแฟหรือเปล่า แล้วอย่างนี้ผมจะดื่มกาแฟได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำอย่างไรให้ผมไม่ง่วงครับ” นี้เป็นประโยคบอกเล่าปนกับประโยคคำถาม ที่มีหลายต่อหลายคำถามในความสงสัยของผู้ป่วย

ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ทุกครั้งที่ผมออกตรวจผู้ป่วย ถึงแม้จะมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ตาม แต่เมื่อมีคำถามจากผู้ป่วย ผมจะรู้สึกดีมากครับ เพราะนั้นหมายถึงผู้ป่วยตั้งใจ ใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเอง และก็ไว้ใจเราจึงกล้าถามเรา ผมสังเกตว่ากว่าผู้ป่วยจะกล้าถามคำถามต่างๆ จากเรานั้น ก็ต้องรักษากันมานานพอสมควร ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะไม่กล้าถามคำถามหมอเลย ในการพบหมอแต่ละครั้ง ผู้ป่วยใช้เวลาในการเดินทาง การมารอตรวจตามลำดับขั้นตอนต่างๆ นั้น ใช้เวลานานหลายชั่วโมง แต่ได้พบหมอเพียงไม่กี่นาที ผู้ป่วยบางคนยิ่งเห็นว่ามีคนไข้รอตรวจจำนวนมาก ก็ยิ่งไม่กล้าถามเพราะเกรงใจหมอและคนไข้รายต่อไป ทำให้การรักษาส่วนหนึ่งได้ผลไม่ดี เพราะผู้ป่วยยังมีข้อสงสัยอีกมากที่ไม่ได้คำตอบ และบางครั้งยิ่งแย่มากขึ้น เพราะผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้องจากผู้ป่วยด้วยกันหรือคนรู้จัก ส่งผลให้การรักษายิ่งไม่ได้ผลดี

เวลาที่ผู้ป่วยขอถามคำถาม ผมจึงชอบมากที่จะตอบและการตอบของผมส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เวลามากมาย แต่สิ่งที่ได้ คือ ความเข้าใจที่ดีของผู้ป่วยและญาติ ความสบายใจ หายคับข้องใจ ส่งผลให้สัมพันธภาพระหว่างหมอกับผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งตรงนี้เองก็ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีไปด้วย

ย้อนกลับมาที่เรื่องกาแฟครับ อย่างกรณีนี้ที่ผู้ป่วยไม่เคยทานกาแฟมาก่อนเลย แต่หลังจากทานยากันชักแล้วมีอาการง่วงนอนมาก จึงไปดื่มกาแฟ แต่ก็มีอาการเหนื่อย ใจสั่นอย่างแรง เพราะที่ผู้ป่วยไม่เคยดื่มกาแฟมาก่อน และก็อาจไปดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน/กาเฟอีนปริมาณมาก ก็เลยส่งผลให้เกิดอาการดังกล่าว

คำถามเรื่องประโยชน์หรือโทษของการดื่มกาแฟนั้น ก็มีการศึกษาและผลที่ได้ออกมานั้น ก็มีความแตกต่างกัน มีทั้งในส่วนที่พบว่าได้ผลดี เช่น การดื่มกาแฟจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคพาร์กินสัน การดื่มกาแฟจะทำให้เป็นโรคหัวใจมากขึ้นถ้าดื่มเกินวันละ 4 แก้ว เป็นต้น

ในความเข้าใจของผมนะครับ มันคงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะศึกษาผลของกาแฟต่อสุขภาพ แต่ถ้าเราลองทบทวนตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการดื่มกาแฟตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ผ่านมานานมาก ถ้าเกิดผลเสียผมว่าก็น่าจะมีผลการศึกษาที่ออกมาชัดเจน แต่นี้ผลการศึกษาก็ยังมีผลออกมาไม่เหมือนกัน เนื่องจากว่าการควบคุมปัจจัยต่างๆ คงทำได้ยากมาก จึงส่งผลให้ผลการศึกษาออกมาแตกต่างกัน

แล้วตกลงว่าผู้ป่วยรายนี้จะดื่มกาแฟได้หรือไม่ กรณีนี้ไม่ยากครับ เพราะผลการดื่มก็ชัดเจนว่าผู้ป่วยมีผลเสียด้านการเต้นของหัวใจ ทำให้ใจสั่นเต้นเร็วชัดเจน ดังนั้นผมก็แนะนำว่าให้หยุดดื่มและก็ไม่ควรดื่มอีกเลย สำหรับอาการง่วงนอนหลังจากทานยากันชักที่ผมได้ให้ไปนั้น ก็เพียงปรับวิธีการทานยาใหม่ ให้นำยาที่ได้มาทานก่อนนอน อาการง่วงนอนหลังทานยานั้นก็สามารถแก้ไขได้ เพราะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ง่ายขึ้น และก็ไม่ง่วงนอนตอนกลางวันอีกด้วย สามารถทำงานได้ตามปกติ

สำหรับผู้ป่วยทั่วๆ ไป ผมก็จะแนะนำแบบกลางๆ คือ ถ้าไม่มีโรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคลมชัก และเคยดื่มกาแฟมาเป็นประจำ ไม่มีผลเสียอะไรเกิดขึ้น ผมก็แนะนำให้ดื่มได้ตามปกติ แต่ก็ยังอดแนะนำไม่ได้ว่าให้สังเกตุอาการหลังดื่มว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เพราะผู้ป่วยหลายรายก็เกิดอาการผิดปกติหลังจากดื่มกาแฟหลังการเจ็บป่วย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยมีอาการผิดกติใดๆ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่เคยดื่มมาก่อนเลย หรือมีโรคประจำตัวข้างต้น ผมก็จะแนะนำว่าไม่ควรดื่มเลย เพราะการดื่มกาแฟเองก็ยังไม่พบประโยชน์ที่แน่ชัดใดๆ

สรุปก็คือว่าผมเลือกเดินทางสายกลางครับ ดื่มก็ดื่มพอสมควร ไม่มาก ไม่เข้มข้น ไม่ใส่ครีมเทียมหรือนม น้ำตาล เพราะจะทำให้เกิดปัญหาไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ สำหรับผมส่วนตัวดื่มครับกาแฟดำ ไม่ใส่ครีมเทียม ไม่ใส่นม ใส่น้ำตาลนิดเดียวหรือไม่ใส่เลยก็ได้