หนูตัวเล็กแต่ก่อเหตุใหญ่ (ตอนที่ 5)

หนูตัวเล็กแต่ก่อเหตุใหญ่

โรคไข้หนูกัด รักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยา Penicillin ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันมาก แต่ถ้าไม่รักษาอาจทำให้อาการรุนแรงจึงถึงเสียชีวิตได้ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ติดเชื้อที่หัวใจ เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
  • ติดเชื้อที่สมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
  • ติดเชื้อที่ปอด เช่น ปอดอักเสบ (Pneumonia)
  • เป็นฝีที่อวัยวะภายใน

การป้องกัน RBF ทำได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับหนูหรือสถานที่มีหนู
  • ดื่มนมหรือน้ำที่มาจากแหล่งที่ปลอดภัย

โรคพยาธิตืดหนู (Hymenolepiasis diminuta / Rat Tapeworm) เป็นโรคที่ไม่ค่อยพบในคนแต่พบมากในหนู พยาธิตัวตืดเป็นพยาธิที่พบได้ทั่วโลก

พยาธิเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของหนู โดยไข่พยาธิจะปนออกมากับอุจจาระ เมื่อหมัดหนูหรือแมลงปีกแข็ง (โดยเฉพาะมอดแป้งหรือที่เรียกว่า Tribolium beetles) กินไข่พยาธิเข้าไป ตัวอ่อน (Oncospheres) จะเจริญอยู่ในตัวหมัด

เมื่อหนูหรือคนกินหมัดเข้าไป (หมัดหนูร่วงลงในอาหาร คนกินอาหารนั้นเข้าไป) ใช้เวลาประมาณ 20 วัน ตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ของหนูและคน โดยลำตัวยาวตั้งแต่ 20-60 เซนติเมตร แต่เฉลี่ยอยู่ที่ 30 เซนติเมตร โดยใช้ส่วนหัวเกาะผนังลำไส้เล็ก และสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 10 ปี

หากมีจำนวนพยาธิในร่างกายไม่มากก็จะไม่ปรากฏอาการอะไร แต่ถ้ามีพยาธิมาก ก็จะมีอาการ

  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง
  • อาเจียน
  • ไม่รู้สึกหิว น้ำหนักตัวลด
  • ไม่มีกำลัง
  • มีอาการทางประสาทคล้ายลมบ้าหมู
  • นอนไม่หลับ ไม่มีชีวิตชีวา
  • คันบริเวณจมูกและทวารหนัก

บรรณานุกรม

1. Rat-bite Fever (RBF). http://www.cdc.gov/rat-bite-fever/index.html [2016, December 18].

2. Hymenolepis diminuta. http://eol.org/pages/2923808/details [2016, December 18].