หนังตาบนหย่อน (Dermatochalasis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 11 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
- หนังตาบนหย่อนคืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
- หนังตาบนหย่อนมีอาการอย่างไร?ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- รักษาหนังตาบนหย่อนอย่างไร?
- ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดหนังตาบนหย่อนมีอะไรบ้าง?
- ควรดูแลอย่างไรก่อนและหลังผ่าตัดรักษาหนังตาบนหย่อน?
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- กุ้งยิง (Sty)
- กุ้งยิงเรื้อรัง (Chalazion)
- ทำตาสองชั้น (Blepharoplasty)
หนังตาบนหย่อนคืออะไร? เกิดได้อย่างไร?
ผิวหนังรอบตา/ดวงตา เป็นผิวหนังที่บางที่สุดในร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณเปลือกตา/หนังตาที่ถัดจากโคนขนตาขึ้นมาถึงรอยที่ทำให้เกิดตา 2 ชั้น ที่นอกจากจะบางแล้ว ใต้ผิวหนังบริเวณนี้ ยังไม่มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Subcutaneous connective tissue) เหมือนผิวหนังส่วนอื่นๆ ผิวหนังบริเวณนี้ยึดติดค่อนข้างแน่นกับ Tarsus ซึ่งเป็นส่วนแข็งคล้ายกระดูกอ่อนบริเวณชั้นกลางของเปลือกตา ที่ทำให้เปลือกตาแข็งแรง เป็นฝาปิดเปิดเวลาเราหลับและลืมตา (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา)
ใต้ผิวหนังถัดจากรอยตา 2 ชั้นขึ้นไป มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันรวมทั้งไขมันอยู่บ้าง ทำให้ผิวหนังเหนือรอยตา 2 ชั้นขึ้นไป ค่อนข้างหลวม ยืดหยุ่นได้มาก หากมีการอักเสบหรือขยี้ตาบ่อยๆ จึงมักมีอาการบวมของเปลือกตาบริเวณนี้ได้ง่าย
นอกจากนี้ ใต้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันนี้ยังมีพังผืด ที่เรียกว่า Orbital septum (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา) ซึ่งกันมิให้ไขมันหลังลูกตาทะลักออกมาข้างหน้า หากพังผืดนี้อ่อนแอลงตามอายุ หรือมีการอักเสบบริเวณนี้เรื้อรัง ทำให้ไขมันหลังลูกตาทะลักออกมาอยู่ใต้ผิวหนังเหนือรอยตา 2 ชั้นได้
เนื่องจากตาคนเรากระพริบอยู่ตลอดเวลา จึงเคลื่อนไหวมากกว่าผิวหนังบริเวณอื่น อีกทั้งเป็นผิวหนังที่สัมผัสสิ่งแวดล้อม แดด ลม ฝุ่น อยู่ตลอดเวลา และยังมีเครื่องสำอางสารเคมีต่างๆ ที่ใช้กันบริเวณรอบดวงตา อายุที่มากขึ้น ความเสื่อมทางกายวิภาคของผิวหนังบริเวณเปลือกตาที่เป็นไปตามธรรมชาติ กาลเวลา ตามอายุ ตามพันธุกรรม เชื้อชาติ สุขภาพของร่างกาย อาหารที่รับประทาน ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะหนังตาบนยืดมากเสมือนหนึ่งหนังบริเวณนี้มีมากเกินไป จึงเกิดการหย่อน/การยาน ร่วมกับไขมันหลังลูกตาปูดออกมาด้วย จึงทำให้เกิด “ภาวะหนังตาหย่อน ( Dermatochalasis)” ภาวะนี้ อาจดูคล้ายหนังตาตกที่เรียกกันว่า Pseudoptosis ซึ่งเป็นหนังตาตกจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ได้เกิดจากหนังตาบนหย่อน หรือจากการเสียหายของประสาทที่ควบคุมหนังตา
ภาวะหนังตาหย่อนนี้ มักเกิดกับหนังตาบน แต่พบเกิดกับหนังตาล่างได้ ซึ่งเมื่อเกิดกับหนังตาล่าง คนไทยเรียกว่า ถุงใต้ตา แต่ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะในเรื่องของ “หนังตาบนหย่อน” เท่านั้น
หนังตาบนหย่อนมีอาการอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
อาการของหนังตาบนหย่อนที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือ
1. ผู้ป่วยจะบอกเล่าว่า ตาเล็กลง คล้ายๆ คนหลับตาตลอดเวลา เนื่องจากหนังตาบนหย่อนลงมาปิดตาดำมากกว่าปกติ (คนปกติหากมองตรงไปข้างหน้า หนังตาบนจะปิดขอบบนของตาดำลงมาประมาณ 1 มิลลิเมตร) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพบว่าหนังตาบนปิดลงมามากกว่า 1 มิลลิเมตร โดยเกิดจากหนังตาส่วนที่หย่อน ย้อยลงมาปิด แต่ถ้าเป็นหนังตาตก Pseudoptosis ขอบหนังตาบนจะเป็นตัวลงมาปิดตาดำ
2. ดูเหมือนดวงตาไม่มีชีวิตชีวา เซื่องซึม เหมือนคนเหนื่อยล้า อิดโรย มีตาปรือตลอดเวลา
3. บางคนอาจมาด้วยปวดหัวคิ้ว ปวดหน้าผาก เนื่องจากพยายามลืมตาให้มากขึ้นด้วยการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหัวคิ้วและหน้าผาก ช่วยยกหนังตาบนขึ้นตลอดเวลา จึงก่ออาการปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อนั้นๆ
4. บางคนจะบอกว่าเสียบุคลิกภาพ เพราะต้องเงยหน้าไว้เสมอ
5. สาวๆบางคนจะพบว่ามีความยุ่งยากในการใช้เครื่องสำอางขีดเขียนบริเวณโคนขนตา เพราะว่าตา 2 ชั้นหายไป
6. บางคนอาจมาพบแพทย์เพราะว่าเดิมเคยมีตา 2 ชั้น แต่ตา 2 ชันหายไป ต้องการทำให้มีตา 2 ชั้น ดังเดิม
7. บางคนสายตามัวลงโดยเฉพาะทางด้านข้าง เพราะหนังตาบนหย่อนลงมาบัง
8. ที่ร้ายแรงที่สุด ก็คือ ทำให้ขนตาถูกกดเข้าใน จึงเข้ามาเขี่ยถูกตาดำ/กระจกตา ที่เรียกว่า ภาวะขนตาเกเข้า (Trichiasis) ส่งผลทำให้ตาดำอาจเกิดเป็นแผลได้
ดังนั้น ข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องพบจักษุแพทย์ คือ
- เมื่อหนังตาบนหย่อน จนเริ่มก่อปัญหาในการมองเห็น และ/หรือ
- มีอาการปวดหัวคิ้ว ปวดหน้าผากบ่อย และ/หรือ
- มีอาการระคายเคืองตา จากขนตาแยงตา
รักษาหนังตาบนหย่อนอย่างไร?
หนังตาบนหย่อนนี้ ต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดตกแต่งหนังตา อาจจะทำเพื่อความสวยงาม ดูดี มากกว่าทำเพื่อการรักษา (กรณีหนังตาหย่อนไม่มาก) ทั้งนี้ เป็นการผ่าตัดเสริมสวยที่นิยมทำกันมาก ด้วยเหตุที่ว่า ทำได้ง่ายไม่ต้องใช้วัสดุแปลกปลอมอะไรมาเสริม และมักจะได้ผลดี คือ หน้าตาดูดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือบางรายเป็นการผ่าตัดเพื่อการรักษาเพราะหนังตาบนหย่อน จนบดบังสายตา หรือทำให้ขนตาเขี่ยตาดำ/กระจกตาจนก่อการระคายเคืองตาตลอดเวลา
การผ่าตัด คล้ายกับวิธีทำตาสองชั้น กล่าวคือ ใช้ฉีดยาชาเฉพาะที่ แล้วตัดผิวหนังส่วนเกินร่วมกับตัดไขมันที่ยื่นล้นออก
ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดหนังตาบนหย่อนมีอะไรบ้าง?
เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกอย่างที่มีความเสี่ยง/ผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง ที่สำคัญ คือ การแพ้ยาต่างๆที่ใช้ในการผ่าตัด แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ แผลผ่าตัดไม่ติด และแผลผ่าตัดไม่สวยงามตามความคาดหวังของผู้ป่วย
นอกเหนือจากนั้น ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการผ่าตัดหนังตาบนหย่อน เช่น
1. เห็นภาพซ้อน (Diplopia) จากการตัดไขมันออก ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้กลอกตา
2. ไม่เป็นที่พอใจเท่าที่ผู้ป่วยต้องการ เช่น หนังตายังอูมอยู่ หรือ ชั้น ที่เกิดบนหนังตาไม่สวย เป็นต้น
3. การตัดผิวหนังตาออก ถ้าตัดออกมากเกินไป อาจทำให้หลับตาไม่สนิท
4. อาจเกิดแผลเป็นนูนบริเวณแผลผ่าตัด
5. การกรีดผิวหนังตา ตัดผิวหนังตาตลอดจนไขมันในตา 2 ข้างออก ไม่เท่ากัน อาจก่อให้เกิดตา 2 ข้าง ไม่เหมือนกัน
6. ที่ร้ายแรงสุดที่มีรายงานคือ ตาบอด พบได้น้อยมากๆ เนื่องจากมีเลือดออกย้อนไปหลังลูกตา และเลือดที่ออก ไปกดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงประสาทตา
ควรดูแลอย่างไรก่อนและหลังผ่าตัดรักษาหนังตาบนหย่อน?
สิ่งที่ควรตรวจและปฏิบัติก่อนและหลังผ่าตัดรักษาหนังตาบนหย่อน คือ
- ควรตรวจวัด สายตา และลานสายตา ไว้เป็นพื้นฐานเสมอ เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังรักษา เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการมีสายตาผิดปกติ
- ควรตรวจว่า มีภาวะน้ำตาแห้งหรือไม่ ถ้ามีมาก อาจไม่เหมาะที่จะทำผ่าตัด เพราะการเปลี่ยนแปลงหนังตาอาจทำให้น้ำตาที่ฉาบอยู่บนผิวลูกตาเปลี่ยนแปลง เกิดภาวะตาแห้งมากขึ้น
- เมื่อมีภาวะตาหลับไม่สนิท เวลาหลับตาค้างเห็นตาขาว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องพิจารณาเนื้อที่ผิวหนังที่จะตัดออก เพราะถ้าตัดออกมากเกินไป จะทำให้ตาหลับไม่สนิทรุนแรงขึ้น เสี่ยงต่อตาติดเชื้อในภายหลัง
- ควรตรวจร่างกายให้แน่ใจว่า มีความพร้อมในการผ่าตัด ควรควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ให้ดีก่อนผ่าตัด เพราะเป็นโรคที่เพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังผ่าตัด เช่น แผลติดเชื้อ และแผลเลือดออก
- หากกิน ยาละลายลิ่มเลือด หรือลดการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น ยาแอสไพริน ต้องหยุดยาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสเลือดออก และหยุดยาก จากแผลผ่าตัด
- หลังผ่าตัด หากมีอาการ ปวดตา/ปวดแผลมาก ตาบวมมาก ตามัวลง และ/หรือเลือดออกไม่หยุด ต้องไปโรงพยาบาลที่ผ่าตัดทันที