สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาสเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) คือ ยาปฏิชีวนะ ที่อยู่ในกลุ่มยาอะมิโนไกลโคไซด์(Aminoglycosides) ที่แพทย์ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด(รายละเอียดใน “หัวข้อ สรรพคุณฯ’) ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486) โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Albert Schtz

นักวิทยาศาสตร์สกัดยานี้ได้จากแบคทีเรียแกรมบวกที่มีชื่อว่า Streptomyces griseus และตัวยาถูกนำมาใช้รักษาวัณโรคและยังครอบคลุมถึงเชื้อแบคทีเรียอื่นอีกเช่น Pasteurella pestis, Brucella, Haemophilus influenzae, Haemophilus ducreyi, Klebsiella pneumonia, Escherichia coli, Proteus, Aerobacter aerogenes, Streptococcus faecalis และ Strepto coccus viridians

ผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวังของยาสเตรปโตมัยซินเป็นเรื่องของพิษที่เกิดกับโสตประสาท/ประสาทหู และเป็นพิษกับไต รวมถึงทำให้เกิดอัมพาตของเส้นประสาทบริเวณกล้ามเนื้อลาย (Neuromucular paralysis)

มีการศึกษาเรื่องเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า สเตรปโตมัยซินถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ต่ำมาก แต่จะถูกดูดซึมได้ดีถ้าให้ยาผ่านทางกล้ามเนื้อ (ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ) จึงเป็นเหตุผลที่นักวิทยา ศาสตร์ต้องผลิตยาออกมาในรูปของยาฉีด ซึ่งหลังจากยาดูดซึมเข้ากระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 34% จากนั้นตัวยาจะกระจายไปตามเนื้อเยื่อต่างๆภายในร่างกายยก เว้นแต่สมอง และร่างกายต้องใช้เวลา 2.5 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาสเตรปโตมัยซินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระบบสาธารณ สุขในระดับชุมชน กระทรวงสาธารณสุขโดยคณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยจัดเป็นยาอันตราย และมีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น

สเตรปโตมัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

สเตรปโตมัยซิน

ยาสเตรปโตมัยซินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาวัณโรค (Tuberculosis) โดยใช้ร่วมกับยาอื่นเช่น Isoniazid, Rifampin และ Pyrazinamide
  • รักษากาฬโรค (Plague)
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อบุหัวใจ (เยื่อบุหัวใจอักเสบ) (ในกรณีที่ใช้ยา Gentamicin แล้วไม่ได้ผล)
  • รักษาโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis, โรคติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Brucella bacteria จากสัตว์)
  • รักษาโรคทูลารีเมีย/ โรคไข้กระต่าย (Tularaemia, โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชื่อ Francisella tularensis)

สเตรปโตมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาสเตรปโตมัยซินคือ ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนในตัวแบค ทีเรียทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้และตายลงในที่สุด

สเตรปโตมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสเตรปโตมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาฉีดชนิดผง ขนาดบรรจุ 1 และ 5 กรัม/ขวด

อนึ่ง การเตรียมยานี้ที่เป็นผงให้เป็นสารละลายสำหรับยาฉีด จะโดยผสมยาผงสเตรปโตมัยซิน 1 กรัมด้วยน้ำกลั่นสำหรับเตรียมยาฉีด (Sterile water for injection) ปริมาณ 4.2 หรือ 3.2 หรือ 1.8 มิลลิลิตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์ว่าจะให้เตรียมเป็นความเข้มข้นเท่าใด

สเตรปโตมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาสเตรปโตมัยซินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาวัณโรค (Tuberculosis):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน (แบ่งฉีดเป็นวันละ 2 ครั้งทุก 12 ชั่วโมง) เป็นเวลา 5 - 7 วัน/สัปดาห์ ใช้ยาในช่วง 2 - 4 เดือนแรกของการรักษา หากอาการดีขึ้นแพทย์อาจปรับขนาดการให้ยาเป็น 2 - 3 วัน/สัปดาห์ โดยขนาดสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน ทั้งนี้หากเป็นผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปีแพทย์อาจพิจารณาขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 500 - 750 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 20 - 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน (แบ่งฉีดเป็นวันละ 2 ครั้งทุก 12 ชั่วโมง) ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ข. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อบุหัวใจ (เยื่อบุหัวใจอักเสบ):

  • ผู้ใหญ่: ใช้ร่วมกับยาเพนิซิลลิน จี โดย
    • ถ้าเป็นการติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcal endocarditis) ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1 กรัมเช้า - เย็นในสัปดาห์แรก และฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 500 มิลลิกรัมเช้า - เย็นในสัปดาห์ที่ 2 รวมระยะ เวลาการใช้ยา 2 สัปดาห์
    • ถ้าเป็นการติดเชื้อเอนเทอโรค็อกคัส (Enterococcal endocarditis) ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1 กรัม เช้า - เย็นใน 2 สัปดาห์แรก, และฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 500 มิลลิกรัมเช้า - เย็นอีก 4 สัปดาห์
  • เด็ก: ใช้ร่วมกับยาเพนิซิลลิน จี เช่นกัน และขนาดยาขึ้นกับชนิดของเชื้อแบคทีเรียเช่น ถ้าติดเชื้อเอนเทอโรค็อกคัส (Enterococcal endocarditis) ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 20 - 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งฉีด 2 ครั้ง ซึ่งระยะเวลาของการรักษาอยู่ที่ 4 - 6 สัปดาห์แต่ทั้ง นี้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษา

ค. สำหรับโรคบรูเซลโลซิส (Brucellosis):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1 กรัม/วัน (แบ่งฉีดวันละ 2 ครั้งทุก 12 ชั่วโมง) เป็นเวลา 14 - 21 วัน โดยใช้ร่วมกับการรับประทานยา Doxycycline 100 มิลลิกรัมเช้า - เย็นเป็นเวลา 6 สัปดาห์
  • เด็กที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป: ฉีดเข้ากล้าม 20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันแบ่งเป็นฉีดวันละ 2 ครั้งทุก 12 ชั่วโมง (ขนาดสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน) เป็นเวลา 14 วัน โดยใช้ร่วมกับการรับประทาน Doxycycline 100 มิลลิกรัมเช้า - เย็นเป็นเวลา 6 สัปดาห์

*หมายเหตุ: ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนที่ระบุขนาดยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี การใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปีจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

ง. สำหรับกาฬโรค (Plague):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 2 กรัม/วันโดยแบ่งเป็นฉีด 2 ครั้งเป็นเวลา 10 วันเป็นอย่างต่ำ
  • เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งเป็น 2 - 3 ครั้ง/วันเป็นเวลา 10 วันเป็นอย่างต่ำ โดยขนาดการใช้ยาของเด็กสูงสุดไม่เกิน 2 กรัม/วัน

จ. รักษาโรคทูลารีเมีย/ไข้กระต่าย (Tularaemia):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1 - 2 กรัม/วันโดยแบ่งฉีดวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 7 - 14 วัน จนกระทั่งผู้ป่วยไม่มีไข้เป็นเวลา 5 - 7 วัน
  • เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเช้า - เย็นเป็นเวลา 10 - 14 วัน ขนาดใช้ยาสูงสุดในเด็กไม่เกิน 2 กรัม/วัน

*****หมายเหตุ:

  • ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องเฝ้าระวังเรื่องการได้ยินของผู้ป่วย ด้วยยานี้เป็นพิษต่อโสตประสาท ทำให้หูหนวกได้
  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาสเตรปโตมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาสเตรปโตมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือ กับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

สเตรปโตมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสเตรปโตมัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น

  • วิงเวียน
  • หูอื้อ
  • เดินเซ
  • อาจ
    • มีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น หรือ
    • เกิดพิษต่อเส้นประสาทในหู/หูหนวก
    • เกิดพิษกับไต
    • เกิดภาวะโลหิตจาง (Aplastic anaemia)
    • ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ (Agranulocytosis)
    • รวมถึงมีภาวะ Stevens-Johnson syndrome

มีข้อควรระวังการใช้สเตรปโตมัยซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสเตรปโตมัยซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้ใน ผู้ป่วยโรคไต และ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสยานี้กับผิวหนัง หรือ สูดเอาไอละอองของยานี้เข้าสู่ร่างกาย
  • หากใช้ยานี้เป็นเวลานาน ควรต้องคอยติดตามเรื่องการได้ยินของผู้ป่วยว่ายังปกติหรือไม่ เพราะยานี้มีพิษต่อประสาทหูอาจส่งผลให้การได้ยินลดลงหรือเสียไปได้
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตอาจเกิดความเสี่ยงของพิษที่เกิดกับเส้นประสาทได้มากขึ้นจากการสะสมของตัวยานี้ในร่างกายจนส่งผลให้เกิดพิษยาสูงขึ้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาสเตรปโตมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

สเตรปโตมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสเตรปโตมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาสเตรปโตมัยซิน ร่วมกับ ยากลุ่ม เฮช 1-รีเซ็ปเตอร์ บล็อกเกอร์ (H1-receptor blockers) อาจทำให้เกิดพิษต่อประสาทในหูจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • การใช้ยาสเตรปโตมัยซิ ร่วมกับ ยาบางตัวอาจก่อให้เกิดพิษกับไต หรือ เป็นพิษต่อระบบประสาท หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป กลุ่มยาดังกล่าว เช่น ยาต้านแบคทีเรียบางชนิด (เช่นยา Amikacin, Bacitracin, Gentamicin), ยาต้านไวรัส (เช่นยา Adefovir, Cidofovir, Tenofovir), ยาขับปัสสาวะ (เช่นยา Furosemide)
  • การใช้ยาสเตรปโตมัยซิน ร่วมกับ ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่นยา Succinylcholine อาจทำให้ระดับของยาคลายกล้ามเนื้อในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนร่างกายได้รับผลข้างเคียงที่ค่อนข้างมากติดตามมาด้วย หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย บุคคลไป

ควรเก็บรักษาสเตรปโตมัยซินอย่างไร?

ควรเก็บยาสเตรปโตมัยซิน:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

สเตรปโตมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสเตรปโตมัยซิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Strepto (สเตรปโต)General Drugs House
Streptomycin Sulfate M&H (สเตรปโตมัยซิน ซัลเฟต เอ็มแอนด์เฮช)M & H Manufacturing

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Streptomycin#History [2021,March13]
  2. https://www.mims.com/philippines/drug/info/streptomycin?mtype=generic [2021,March13]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Strepto/?type=brief [2021,March13]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/streptomycin.html [2021,March13]