สารให้ความหวานซอร์บิทอล (Sorbitol sweetener)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 สิงหาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- สารให้ความหวานซอร์บิทอลมีลักษณะอย่างไร?
- สารให้ความหวานซอร์บิทอลมีประโยชน์ต่อสุขภาพและผลข้างเคียงอย่างไร?
- สารให้ความหวานซอร์บิทอลมีการผลิตและส่วนแบ่งตลาดอย่างไร?
- มีความปลอดภัยของสารให้ความหวานซอร์บิทอลอย่างไร?
- มีข้อห้ามและข้อควรระวังการใช้สารให้ความหวานซอร์บิทอลอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสารให้ความหวานซอร์บิทอลอย่างไร?
- มีการจำหน่ายวัตถุดิบของสารให้ความหวานซอร์บิทอลในชื่อการค้าใดบ้าง
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol)
- ยาซอร์บิทอล
- ไซลิทอล (Xylitol)
- แซกคาริน (Saccharin)
- วัตถุเจือปนในอาหาร (Food additive)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
บทนำ
สารซอร์บิทอล (Sorbitol) เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีความหวานเทียบเท่ากับ 60% ของน้ำตาล สามารถให้พลังงานกับร่างกายในขนาด 2.6 กิโลแคลอรี/กรัม ในขณะที่น้ำตาลให้พลังงานฯในขนาดประมาณ 4 กิโลแคลอรี/กรัม ร่างกายของมนุษย์จะเผาผลาญซอร์บิทอลได้อย่างช้าๆ ซอร์บิทอลถูกพบได้ในพืชเช่น ข้าวโพด แอปเปิ้ล พีช และพรุน มนุษย์ได้ใช้ซอร์บิทอลมาเป็นสาร ปรุงแต่งผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างเช่น ลูกกวาด แยม เจลลี่ และหมากฝรั่ง นอกจากนั้นในทางคลินิกได้ใช้ซอร์บิทอลเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกหรือใช้เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับยาต่างๆอย่างเช่น ยาแก้ไอ ประโยชน์อื่นๆของซอร์บิทอลที่สามารถพบเห็นได้เช่น ใช้เป็นส่วนประกอบปรุงรสชาติในสูตรตำรับยา ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอย่างเช่น น้ำยาบ้วนปากและยาสีฟัน
อนึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงซอร์บิทอลแต่ในด้านที่ใช้เป็นสารให้ความหวานคือ “สารให้ความหวานซอร์บิทอล (Sorbitol sweetener)” เท่านั้น ในส่วนการใช้ซอร์บิทอลทางการแพทย์/ทางคลินิกโดยการใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก ได้แยกเขียนเป็นอีกบทความในเว็บ haamor.com บทความชื่อ “ซอร์บิทอล” แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนั้น
สารให้ความหวานซอร์บิทอลมีลักษณะอย่างไร?
สารให้ความหวานซอร์บิทอลมีลักษณะเป็นสารประกอบของแข็งที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี มีรสหวานเป็น 60% ของน้ำตาล มีชื่อทางเคมีหลายชื่อเช่น D-Sorbitol, Sorbitol D-Glucitol, Glucitol, L-Gulitol มีสูตรโมเลกุลคือ C6H14O6 และมวลโมเลกุล 182.17176 กรัม/โมล
สารให้ความหวานซอร์บิทอลมีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีผลข้างเคียงอย่างไร?
สารซอร์บิทอลเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่สามารถให้พลังงานกับร่างกายได้ก็จริง แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าน้ำตาล หากมองโดยรวมสามารถใช้สารซอร์บิทอลเป็นตัวปรุงรสแทนน้ำตาลให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ และส่งผลให้เกิดฟันผุได้น้อยกว่าน้ำตาลมาก ทั้งนี้ด้วยซอร์บิทอลเป็นสารประเภทโพลีออล (Polyols, สารที่ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร) ซึ่งทนต่อการย่อยของแบคทีเรียในช่องปากของคนเรานั่นเอง และซอร์บิทอลยังมีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นทำให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะที่คงตัว ลดการเกิดตะกอนในตัวผลิตภัณฑ์ ทั้งมีรสชาติที่เย็น ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงเหมาะที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่ม
นอกจากนี้ซอร์บิทอลยังทนความร้อนสูงและไม่ทำให้สีสันของผลิตภัณฑ์ดูแย่ลงจึงเหมาะกับการผลิตคุกกี้
ขณะที่อุตสาหกรรมยานำซอร์บิทอลมาใช้เป็นยาระบายเพื่อรักษาอาการท้องผูกอีกด้วย
ในด้านผลข้างเคียง การบริโภคซอร์บิทอลในขนาดที่เข้มข้นหรือการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของซอร์บิทอลเป็นปริมาณมาก อาจส่งผลข้างเคียงให้ผู้บริโภครู้สึกไม่สบายในช่องท้อง มีอาการท้องเสีย ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน บวมตามร่างกาย ร่างกายมีภาวะสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) รวมถึงเกิดน้ำตาลในเลือดสูง
สารให้ความหวานซอร์บิทอลมีการผลิตและส่วนแบ่งตลาดอย่างไร?
ซอร์บิทอลที่ใช้เป็นสารปรุงแต่งความหวาน/สารให้ความหวานนั้น ทางอุตสาหกรรมมีการผลิตจากแป้งเช่น แป้งข้าวโพด แป้งสาลี แป้งมันฝรั่ง โดยใช้กระบวนการทางเคมีในการแปรรูปจนได้ออกมาเป็นซอร์บิทอลที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
หากเปรียบเทียบการใช้น้ำตาลกับซอร์บิทอลจะพบว่า น้ำตาลยังครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าซอร์บิทอลถึง 300 เท่า ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุผลของต้นทุนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าน้ำตาลของซอร์บิทอล และเป็นที่ยอมรับแต่ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่นิยมรับประทานในครัวเรือนแทนน้ำตาล
มีความปลอดภัยของสารให้ความหวานซอร์บิทอลอย่างไร?
ซอร์บิทอลเป็นสารให้ความหวานที่ถูกทำการศึกษาความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยมีคำแนะนำว่าการบริโภคซอร์บิทอลไม่ควรเกิน 50 กรัม/วัน (แนะนำโดยองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐ อเมริกา/US. Food and Drug Administration/US. FDA) ซึ่งการบริโภคมากกว่านี้อาจส่งผลให้เกิดการระบายอุจจาระ/อาการท้องเสียตามมา นอกจากนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอาหารของสหภาพยุโรป (EU, European Union) หรือที่มีชื่อเรียกว่า The Scientific committee for food of the European union ได้ประเมินว่า ซอร์บิทอลเป็นสารให้ความหวานที่มีความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในการใช้งานที่อยู่บนเงื่อนไขเชิงวิชาการที่มีการพิสูจน์ยืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือแม้แต่ประเทศอเมริกาก็ได้พยายามสืบเสาะค้นหาสารให้ความหวานแต่ให้พลังงานต่ำ และได้ค้นพบว่าซอร์บิทอลเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชากร
มีข้อห้ามและข้อควรระวังการใช้สารให้ความหวานซอร์บิทอลอย่างไร?
มีข้อห้ามและข้อควรระวังการใช้สารให้ความหวานซอร์บิทอลเช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/แพ้สารซอร์บิทอล
- ห้ามมิให้ซอร์บิทอลเข้าตา
- กรณีเปื้อนร่างกาย มือ-เท้า ให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาดจนหมด
- หลีกเลี่ยงการสูดดมกลิ่นซอร์บิทอลผ่านจมูกโดยตรง
- ห้ามใช้ซอร์บิทอลที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บซอร์บิทอลที่หมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด ยาแผนโบราณทุกชนิด ยา/สารซอร์บิทอล และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยาและสารต่างๆรวมถึงสมุนไพร มีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา/สารต่างๆทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา/สารต่างๆใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษาสารให้ความหวานซอร์บิทอลอย่างไร?
ควรเก็บสารให้ความหวานซอร์บิทอลในอุณหภูมิห้อง และในห้องที่มีอากาศระบายถ่ายเทดี เก็บในพื้นที่ที่สะอาด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
มีการจำหน่ายวัตถุดิบของสารให้ความหวานซอร์บิทอลในชื่อการค้าใดบ้าง?
ในประเทศไทยมีการจำหน่ายสารให้ความหวานซอร์บิทอลในชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตและ จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Merisorb (เมริซอร์บ) | Tereos |
อนึ่งชื่อการค้าของสารให้ความหวานซอร์บิทอลในต่างประเทศเช่น ORA-SWEET SF
บรรณานุกรม
- http://www.sugar-and-sweetener-guide.com/sorbitol.html [2016,July16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sorbitol [2016,July16]
- http://www.iherb.com/Xyloburst-Xylitol-Chewing-Gum-Fruit-5-29-oz-150-g-100-Pieces/61878?CAWELAID=120224250000026359&gclid=CNCDr5qB2s0CFdcRaAodQfYOWA [2016,July16]
- http://www.medicinenet.com/sorbitol-oral/page2.html [2016,July16]
- http://caloriecontrol.org/sorbitol/ [2016,July16]
- https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/D-Sorbitol#section=Top [2016,July16]
- http://www.teknova.com/v/vspfiles/files/MSDS/S1007.pdf [2016,July16]