สารเร่งเนื้อแดง (Leanness - Enhancing agents)

บทความที่เกี่ยวข้อง


สารเร่งเนื้อแดง

สารเร่งเนื้อแดงคืออะไร?

สารเร่งเนื้อแดง(Leanness - Enhancing agents) เป็นชื่อที่ใช้เรียกกันทั่วไปของสารเคมีในกลุ่ม เบต้าอะโกนิสท์ (Beta – agonists หรือ Beta - Adrenergic agonist) ซึ่งปกติแล้วนำมาใช้เป็นยาขยายหลอดลมในคน และใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆในสัตว์ แต่มีการนำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่น คือ ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะ หมู วัว โดยการนำไปผสมกับอาหาร หรือน้ำดื่มของสัตว์ ทำให้สัตว์เจริญเติบโตดี มีเนื้อมากขึ้น (และถ้าเป็นเนื้อแดง เนื้อจะออกสีแดงมากขึ้น) มีไขมันน้อย ผู้บริโภคจะชอบเพราะดูน่ารับประทาน และยังขายได้ราคาสูงอีกด้วย

สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารประเภทใด?

สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารเคมีในกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ (Beta - agonists) หรือ (Beta - Adrenergic agonist)

โดยชนิดที่ถูกนำมาใช้บ่อยๆเพื่อเป็นสารเร่งเนื้อแดง ได้แก่ สารซัลบูทามอล (Salbutamol) หรืออัลบูเทอรอล (Albuterol), เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol), และแรคโทพามีน (Ractopamine)

ส่วนชนิดที่ถูกนำมาใช้น้อยกว่า เช่น ซิมบูเทอรอล (Cimbuterol), มาเพนเทอรอ(Mapenterol), เคลนเพนเทอรอล (Clenpenterol), ไซมาเทอรอล (Cimaterol), คาบูเทอรอล (Cabuterol), มาบิลเทอรอล (Mabuterol), ทูโลบูเทอรอล (Tulobuterol), โบรโมบูเทอรอล (Bromobuterol), เมทาโพรเทเรนอล (Metaproterenol), และเทอบูทาลีน (Terbutaline)

สารเร่งเนื้อแดงมีจำหน่ายในรูปแบบใด?

สารเร่งเนื้อแดงมีจำหน่ายในรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาพ่น (Inhaler)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection)
  • ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous injection)

สารเร่งเนื้อแดงมีข้อบ่งใช้อย่างไร?

ข้อบ่งใช้ของสารเร่งเนื้อแดง ได้แก่

ก. การใช้สารเคมีกลุ่ม Beta - agonists เพื่อเป็นยาในคน: ใช้เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการทําให้หลอดลมที่หดเกร็ง/ตีบตัว เกิดการขยายขึ้นตัวได้ จึงใช้รักษาภาวะที่มีการตีบตัวของหลอดลมในโรคระบบทางเดินหายใจบางโรค เช่น โรคหืด, โรคหลอดลมอักเสบ, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคหลอดลมโป่งพอง

ข. การใช้สารเคมีกลุ่ม Beta - agonists เพื่อเป็นยาในสัตว์: เช่น ใช้ Clenbuterol เป็นยาขยายหลอดลมในม้าและในลูกวัว และใช้ยับยั้งภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด (Tocolytic drugs for Preterm labor) ในวัว

ค. การใช้สารเคมีกลุ่ม Beta - agonists เพื่อเป็นสารเร่งเนื้อแดงในสัตว์:

  • ใช้เพิ่มมวลของเนื้อสัตว์ ใช้เพิ่มสีแดงของเนื้อสัตว์ และใช้เพื่อลดชั้นไขมันในเนื้อสัตว์ลง โดยตัวสารฯจะส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนไขมันไปเป็นกล้ามเนื้อ
  • ใช้ช่วยให้สัตว์มีการเจริญเติบโตดี น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันประเทศต่างๆ กว่า 196 ประเทศทั่วโลก เช่น ยุโรป จีน รัสเซีย รวมทั้งประเทศไทย ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการผลิตอาหารสัตว์โดยเด็ดขาด โดยในประไทยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 กำหนดให้อาหารทุกชนิด ต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่ม Beta - agonists และเกลือของสารกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น สาร Ractopamine จะมีเกลือคือ สารแรคโทพามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Ractopamine Hydrochloride) รวมถึงสารที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างและ/หรือสลาย (Metabolite)ของสารดังกล่าว เช่น Metabolite ของสาร Ractopamine ได้แก่ แรคโทพามีน กลูโคโรไนด์ (Ractopamine Glucoronide) และแรคโทพามีน ไดกลูโคโรไนด์ (Ractopamine Diglucoronide)

นอกจากนี้ สารเคมีกลุ่ม Beta - agonists ยังเป็นสารที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 และพระราช บัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค

แต่อย่างไรก็ตาม บางประเทศ ประมาณ 25 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา รวมทั้งองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) อนุญาตให้ใช้สาร *Ractopamine ในการผลิตอาหารของสัตว์ประเภท หมู วัว และไก่งวง โดยระบุว่าสารเคมีดังกล่าวมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ถ้าใช้สารนี้อย่างถูกต้องตามข้อกำหนด

*องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) กำหนดปริมาณสารตกค้างในเนื้อสัตว์ของสารเร่งเนื้อแดงเฉพาะชนิด Ractopamine ที่ยอมรับให้บริโภคได้ต่อวัน (Acceptable Daily Intake, ADI) ต้องไม่เกิน 1.25 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวผู้บริโภค 1 กิโลกรัม/วัน

*****อนึ่ง ในบทความนี้ ขอกล่าวถึงสารเร่งเนื้อแดง เฉพาะกรณีใช้เป็นสารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น ในกรณีการใช้เป็นยา แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง Beta agonist

มีข้อห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างไรอย่างไร?

ในที่นี้ ขอกล่าวถึงสารเร่งเนื้อแดง เฉพาะกรณีใช้เป็นสารเร่งเนื้อแดงในสัตว์เท่านั้น ซึ่งมีข้อห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง คือ

  • ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ตามกฏหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย

มีข้อควรระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดง เช่น

1. ระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดง ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ ( Arrhythmia) หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia) เพราะจะทำให้อาการโรคแย่ลง

2. ระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดง ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักมีโรคหัวใจร่วมด้วย การใช้สารนี้ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)ได้ แม้จะใช้สารนี้ในขนาดเล็กน้อยก็ตาม

3. ระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดง ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เพราะอาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวแย่ลง

4. การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง แม้จะทำให้เนื้อสุกแล้ว ก็ไม่สามารถทำให้สารเร่งเนื้อแดงสลายไปได้ จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ดังกล่าวในตอนต้นของหัวข้อนี้ และจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ “อาการไม่พึงประสงค์”

ผู้บริโภคสามารถป้องกันตัวเอง โดยสังเกต เนื้อสัตว์ที่ได้รับสารเร่งเนื้อแดง จะมีลักษณะ ดังนี้

  • ในหมู/ในสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีกล้ามเนื้อเด่นชัด โดยเฉพาะบริเวณสะโพก สันหลัง และหัวไหล่ ถ้าได้รับสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณสูงมากๆ จะทำให้หมู/สัตว์นั้นๆมีอาการสั่นตลอดเวลา
  • เนื้อหมู/เนื้อสัตว์ที่ได้รับสารเร่งเนื้อแดง เนื้อจะมีสีแดงคล้ำกว่าเนื้อสัตว์ปกติ
  • เนื้อหมู/เนื้อสัตว์มี่ได้รับสารเร่งเนื้อแดงที่หั่นทิ้งไว้ จะมีลักษณะค่อนข้างแห้ง ต่างกับเนื้อหมู/เนื้อสัตว์ปกติซึ่งจะมีน้ำซึมออกมา

การใช้สารเร่งเนื้อแดงในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

หญิงตั้งครรภ์ หรือ หญิงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้

อนึ่ง ในกรณีของการใช้สารกลุ่ม Beta agonist เป็นยา: หญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยาในกลุ่ม Beta - agonists เพื่อบรรเทาอาการของโรคได้ แต่ในการใช้เป็นยา แพทย์จะใช้ยานี้ชนิดที่ออกฤทธิ์สั้นเท่านั้น เช่น Salbutamol, Metaproterenol, และ Terbutaline, โดยใช้ในรูปแบบยาสูดพ่นทางปากซึ่งเป็นการใช้ยาเฉพาะที่ เพื่อหลีกเลี่ยงการดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดที่จะทำให้ตัวยาเข้าสู่ระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย

การใช้สารเร่งเนื้อแดงในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีโรคประจำตัว และมียาต่างๆที่จำเป็นต้องใช้หลายชนิดอยู่แล้ว หากมีอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับสารเร่งเนื้อแดงเกิดขึ้นร่วมกับอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต่างๆเหล่านั้น จะทำให้อาการของโรคประจำตัวเหล่านั้นแย่ลงกว่าเดิม เช่น อาการสั่น หรือความดันโลหิตผิดปกติ(อาจสูงขึ้น หรือต่ำลง) ที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุลดลง รวมทั้ง การเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (Hypokalemia) และอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจ

การใช้สารเร่งเนื้อแดงในเด็กควรเป็นอย่างไร?

เด็กทุกวัย ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดง เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ อาการไม่พึงประสงค์)

อนึ่ง หากสารเคมีในกลุ่ม Beta - agonists ถูกใช้เป็นยาในเด็ก จะเป็นการใช้ในขนาดและในจำนวนครั้งที่น้อยที่สุด โดยแพทย์จะเลือกใช้เป็นกรณีๆไป ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษา และเพื่อลดผลข้างเคียง(อาการไม่พึงประสงค์)ต่างๆจากการใช้ยานี้ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากในผู้บิโภค/ผู้ป่วยวัยเด็ก

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างไร?

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) กำหนดปริมาณสารตกค้างในเนื้อสัตว์ของสารเร่งเนื้อแดงเฉพาะชนิด Ractopamine ที่ยอมรับให้บริโภคได้ต่อวัน (Acceptable Daily Intake, ADI) ต้องไม่เกิน 1.25 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัวผู้บริโภค1กิโลกรัม/วัน

หากได้รับสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  • หน้าแดง
  • ชาตามแขนขาหรือลำตัว
  • ตัวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • หนาวสั่น
  • หายใจลำบาก
  • มีอาการทางจิตประสาท เช่น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ
  • เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ภาวะเม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนมากผิดปกติ (Leukocytosis) และ
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

บรรณานุกรม

  1. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิจิตร. เอกสารความรู้ด้านอาหารปลอดภัย เรื่อง สารเร่งเนื้อแดง. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://pvlo-pic.dld.go.th/uploads/2555/KM/Food_Edu/FE_Beta01-1.pdf. [2016,Sept24]
  2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. อย. เผย ไทยยังคุมเข้มการใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูลุยตรวจสอบต่อเนื่อง. http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87__%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87_16_%E0%B8%AA%E0%B8%84_55_.pdf [2016,Sept24]
  3. Wu M.H., and others. Late diagnosis of an outbreak of leanness enhancing agent–related food poisoning. American Journal of Emergency Medicine 31 (2013) : 1501 - 1503.
  4. U.S. Food and Drug Administration. CFR - Code of Federal Regulations Title 21 http://www.accessdata.fda.gov/scripts/cdrh/cfdocs/cfcfr/CFRSearch.cfm?fr=556.570 [2016,Sept24]
  5. National Center for Biotechnology Information, U.S. National Library of Medicine. Asthma medications and their potential adverse effects in the elderly: recommendations for prescribing.http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11735662 [2016,Sept24]
  6. http://www.accessdata.fda.gov/scripts/cdrh/cfdocs/cfcfr/CFRSearch.cfm?fr=556.570 [2016,Sept24]