สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้มีความบกพร่องทางสายตา (Visual rehabilitation)

สาระน่ารู้จากหมอตา

ต้องยอมรับว่า แม้จะมีความก้าวหน้าในการป้องกันรักษาโรคต่างๆ รวมทั้งโรคตา ทำให้คนเรามีอายุยืนขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังมีโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ โรคที่ป้องกันหรือรักษาไม่ได้ นำมาซึ่งภาวะทุพลภาพต่างๆ ในบางคนรวมทั้งทางตา จึงยังมีผู้ซึ่งตาบอดหรือมีสายตาเลือนลางอยู่ในสังคมของทุกประเทศ ในเรื่องความพิการทางตานั้น หมอตามีส่วนต่อผู้มีตาบอดหรือสายตาเลือนลาง โดยมีบทบาท

  1. เป็นผู้นำในการป้องกันมิให้เกิดความพิการทางตา
  2. รักษาโรคตาที่อาจนำไปสู่ความพิการทางตา
  3. เป็นผู้ลงความเห็นว่า ใครหรือผู้ใดมีความบกพร่องทางการมองเห็นระดับใด
  4. ให้คำแนะนำเป็นที่ปรึกษาและส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพ

การฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้พิการทางตา แบ่งเป็น 4 ประเภท

  1. การฟื้นฟูทางการแพทย์
  2. การฟื้นฟูทางการศึกษา
  3. การฟื้นฟูทางสังคม
  4. การฟื้นฟูทางอาชีพ

การฟื้นฟูทางการแพทย์: เป็นการฟื้นฟูทั้งทางกายจิตใจรวมทั้งเครื่องช่วยสายตาต่างๆ ในโรงพยาบาลบางแห่งจัดให้มีคลินิกช่วยเหลือโดยเฉพาะที่เรียกกันว่า low vision clinic ในด้านจิตใจคงต้องทำให้ผู้ป่วยยอมรับสภาพที่มีความพิการ เมื่อการรักษาสิ้นสุดลง ถ้าเป็นเด็กต้องทำให้ผู้ปกครองต้องยอมรับในความพิการ แนะวิธีเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เหมาะสมต่อไป

ในเรื่องการมองเห็นในผู้พิการระดับสายตาเลือนราง หรือตายังไม่บอดสนิท มีการช่วยให้สายตาดีขึ้นด้วย

  1. เรียกกันว่า non – optical aids เป็นวิธีการที่ไม่เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือที่มีเลนส์เป็นส่วนประกอบ ได้แก่
    1. การใช้แสงสว่างที่พอเหมาะ ผู้ป่วยบางท่าน บางโรค ต้องใช้แสงสลัว บางโรคต้องใช้แสงสว่างมาก
    2. หากจะอ่านหนังสือให้ใช้หนังสือที่มีขนาดอักษรใหญ่กว่าคนทั่วไป ใช้ดินสอหรือปากกาที่มีสีดำเข้ม
    3. การใช้เครื่องมือกำกับบรรทัดช่วย เพราะผู้ป่วยมักจะหลงบรรทัดได้
    4. ฝึกอ่านหนังสือชิดตา ภาพตกที่จอตาขนาดใหญ่ขึ้น มองเห็นได้ดีขึ้น คนทั่วไปเข้าใจว่าการมองชิดตา ทำให้ประสาทตาเสื่อมลง เป็นการเข้าใจที่ผิด
    5. การใช้เครื่องกรองแสงติดบนแว่นตา สำหรับผู้พิการที่ชอบแสงสลัวๆ
  2. เครื่องช่วยสายตาที่มีเลนส์เป็นส่วนประกอบ ได้แก่
    1. ชุดแว่นตาขยายภาพทั้งชนิดเต็มกรอบหรือครึ่งกรอบ
    2. แว่นขยายแบบมือถือ
    3. เลนส์ขยายที่วางบนหนังสือ ขยายตัวหนังสือให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
    4. มีชุดเลนส์ขยายที่มีขาตั้ง เหมาะสำหรับผู้พิการทางตาที่มือสั่นด้วย
    5. ใช้ไฟฉายขยายภาพ มีกำลังขยายต่างๆ
    6. ชุดโทรทัศน์วงจรปิด ขยายภาพ เมื่อสอดหนังสือเข้าไปจะปรากฏภาพขยายใหญ่บนจอ ราคาค่อนข้างแพง
    7. เครื่องช่วยชนิดที่เรียก Telescopic lens ซึ่งประกอบด้วยเลนส์ 2 อัน คือ objective และ ocular lens ใช้ได้ทั้งแบบมองไกลหรือมองใกล้

การฟื้นฟูทางการศึกษา: เด็กที่พิการทางสายตา เป็นเด็กเหมือนคนปกติที่รัฐพึงจัดและสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับโดยทั่วถึงกัน และการศึกษาพิเศษเป็นการจัดการศึกษาที่จัดให้แก่บุคคลที่มีลักษณะพิเศษ หรือผู้มีความผิดปกติทางกายและจิตใจ อาจเป็นสถานศึกษาเฉพาะ หรือจัดในโรงเรียนปกติที่ได้รับการดูแลตามความเหมาะสม ในปัจจุบันมีทั้งโรงเรียนคนตาบอด โรงเรียนปกติที่มีเด็กพิการทางสายตาร่วมเรียนอยู่ด้วย

การฟื้นฟูทางสังคม: เป็นการฟื้นฟูเพื่อให้บุคคลพิการทางสายตาปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม สังคม การติดต่อกับผู้อื่นได้ โดยถือว่าผู้พิการก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มักจะเน้นถึงการฝึกกิริยาท่าทางทั่วไป การแต่งกาย มารยาทในการพูดจา เปลี่ยนอิริยบถได้อย่างถูกต้อง ที่เห็นชัดคือมีการอบรมเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า orientation and mobility ให้ผู้พิการทางสายตาปรับตัวมีท่วงท่าการเดินที่เหมือนคนปกติ ฝึกการใช้ไม้เท้าขาว นำทาง ในคนที่ตาบอด เป็นต้น

การฟื้นฟูทางอาชีพ: ผู้พิการทางตาเมื่อเติบโตควรจะต้องมีอาชีพของตนเองตามความเหมาะสม ตามความถนัดและสมรรถภาพการมองเห็น ไม่ต้องพึ่งคนอื่นหรือเป็นภาระต่อสังคม แต่กลับสร้างประโยชน์ต่อสังคมตามความสามารถในปัจจุบัน รัฐฯ มีการสงวนอาชีพบางอย่างสำหรับผู้พิการทางสายตาไว้ด้วย กล่าวคือ จะต้องเริ่มตั้งแต่ประเมินความสามารถในด้านอาชีพ แนะแนว ฝึกอบรม ตลอดจนมีการสงวนบางอาชีพไว้ให้เฉพาะ