สาระน่ารู้จากหมอตาตอน สาเหตุของตาแห้ง

สาระน่ารู้จากหมอตา

ผู้ที่มีอาการตาแห้ง ก่อให้เกิดความไม่สบายตา มาดูสาเหตุของการเกิดเพื่อลดภาวะตาแห้งกัน

ในปัจจุบัน นิยามของตาแห้งให้กันไว้ว่า เป็นโรคที่เกิดจากหลายๆปัจจัยที่มีผลต่อน้ำตาและต่อผิวตา ก่อให้เกิดอาการไม่สบายตาต่างๆ ตามัว ตลอดจนความไม่คงตัวของฟิลม์น้ำตา (tear film instability) ซึ่งมีแนวโน้มทำลายผิวตา โดยที่มักจะมีการเพิ่มของ osmolarity ของฟิลม์น้ำตา (hyperosmolarity) และการอักเสบของผิวตา หากจะมาดูถึงสาเหตุของภาวะนี้ ขอแยกเป็น 2 หลักใหญ่ ได้แก่

1. การสร้างน้ำตาลดลง

2. มีการระเหยของน้ำตาเร็วขึ้น

ก. การสร้างน้ำตาลดลง: อาจแบ่งได้เป็น

  1. ภาวะโรค Sjogern’ s symdrome ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานตนเองผิดปกติมีผลต่อต่อมสร้างน้ำตา (lacrimal gland) และต่อมน้ำลายที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่เรียกกันว่า primary sjogren กับอีกกลุ่มที่เรียกว่า secondary sjogren ซึ่งมักจะมีโรคในกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue disease) เช่น โรคข้อ รูมาตอยด์ โรคพุ่มพวง และอื่นๆ ร่วมด้วย
  2. ภาวะที่ไม่เกี่ยวกับโรค Sjogren’ s ไม่มีโรคของภูมิต้านทานที่มีโรคเยื่อเกี่ยวพันทางกายร่วมด้วย ได้แก่

    2.1 การทำงานของต่อม lacrimal ผิดปกติที่ไม่ทราบสาเหตุชัด พบบ่อยในคนสูงอายุที่มีความเสื่อมของต่อมฯ พอพบได้บ้างในคนที่เกิดมาไม่มีต่อม lacrimal (congenital alacrima) เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ และโรค familial dysautonomia

    2.2 การทำงานของต่อม lacrimal ลดลงจากโรคต่างๆ เช่น sarcoid , lymphoma , เอดส์ , มีการอักเสบของต่อม lacrimal เป็นต้น

    2.3 มีการอุดตันของท่อต่อจากต่อม lacrimal (lacrimal gland duct) เช่น เป็นหลังจากเป็นริดสีดวงตา , โรค Pemphigod , erythema multiforme, ตลอดจนตาที่ถูกสารเคมีหรือความร้อน

    2.4 ภาวะที่รวมเรียกกันว่า reflex hyposecretion ในภาวะปกติ เมื่อเราลืมตาจะมีกระแสประสาทบริเวณผิวตา กระตุ้นให้มีการสร้างน้ำตาขึ้น หากมีการกระตุ้นเส้นประสาทนี้น้อยลง เช่น ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์นานๆ คนเป็นเบาหวาน ตาที่ผ่านการทำ Lasik แม้แต่โรคของกระจกตาที่มีการทำลายเส้นประสาทที่ผิวตา ได้แก่ แผลกระจกตาจากเชื้อ Herpes (ทั้ง simplex และ zoster) เคยรับการผ่าตัดบริเวณกระจกตา (ทั้งต้อกระจกชนิด ECCE และ PKP) แม้แต่ยาบางตัวที่รักษาโรคทางกาย ได้แก่ ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ ยารักษาทางจิตเวช ตลอดจนยาชาชนิดเป็นยาหยอดตา ล้วนทำให้ reflex ที่กระตุ้นการสร้างน้ำตาลดลง

ข.การระเหยน้ำตามาก: อาจเกิดจาก

  1. การทำงานของต่อม Meibomian ผิดปกติ (MGD = meibomian gland dysfunction) อาจเป็นผลจากการอักเสบของเปลือกตาประเภท acne rosacea , atopic dermatitis เป็นต้น
  2. ความผิดปกติของรูปลักษณ์ของหนังตา เช่น ตาโปนเกินไป จากโรคของต่อม thyroid ตาหลับไม่สนิทขอบหนังตา รูปลักษณ์ผิดปกติไม่นาบเข้ากับผิวตา (ectropion) เป็นต้น
  3. กระพริบตาน้อย ทำให้น้ำตาระเหยได้มากกว่าปกติ เช่น ใช้หรือจ้องหน้าคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ดูทีวี นานๆ อ่านเขียนหนังสือหรือจ้องอะไรนานๆ ใช้คอนแทคเลนส์ เป็นต้น
  4. มีโรคของผิวตา ทำให้ผิวตาแห้ง เช่น ภาวะขาดวิตามิน A การใช้ยาหยอดตาบางอย่างที่มีสารกันเสีย benzalkonium หลายตัว ตลอดจนยาชาชนิดหยอดตา และโรคตาจากภูมิแพ้
  5. ใช้คอนแทคเลนส์ เคยมีผู้สำรวจพบว่า สาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งที่เมื่อใช้คอนแทคเลนส์ไปนานๆ ทำให้ใส่คอนแทคฯไม่ได้ เกิดจากมีภาวะตาแห้ง ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใช้คอนแทคฯมีอาการตาแห้งเกิดขึ้น ผู้ใช้คอนแทคฯมีโอกาสเกิดตาแห้งมากกว่าไม่ใช้ถึง 12 เท่า
  6. มีความผิดปกติของผิวตาเรื้อรัง ทำให้ฟิล์มน้ำตาไม่คงตัว น้ำตาระเหยได้มากขึ้น
  7. โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) ปฏิกิริยาของเยื่อบุตาจากภูมิแพ้ มีผลทำลายเซลล์ epithelium ของเยื่อบุตา ตามด้วยของกระจกตา ทำให้ผิวตาไม่เรียบ การคงตัว (stability) ของฟิล์มน้ำตาเสียไป หากเป็นนานๆ ทำให้การทำงานของต่อม meibomian เสียไปด้วย อีกทั้งยาที่รักษาก่อให้เกิดตาแห้งได้ด้วย ซึ่ง โดยสรุป ภาวะเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้มักก่อให้เกิดภาวะตาแห้งตามมา

สรุป หากมีภาวะตาแห้งเกิดขึ้น ลองตรวจสอบตัวเองว่ามีปัจจัยอะไรที่ตรงกับเหตุดังกล่าว จะได้แก้ไขได้ถูกต้อง