สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน: เยื่อบุตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis)

สาระน่ารู้จากหมอตา

เยื่อบุตา/เยื่อตา (conjunctiva) เป็นเนื้อเยื่อเมือก (mucous membrane) ที่บุหนังตาที่เรียก palpebral conjunctiva และบุตาขาว (sclera) ที่เรียก bulbar conjunctiva ส่วนของ palpebral conjunctiva ยึดติดกับหนังตาค่อนข้างแน่น ส่วนที่บุตาขาวจะอยู่อย่างหลวมๆ ทำให้ลูกตาคล่องตัว กลอกตาไปมาได้ดี ร่วมกับมีผิวหน้าที่เป็นน้ำตา ทำให้เยื่อบุตาขยับไปมาเป็นการขจัดสิ่งแปลกปลอมตลอดจนเชื้อโรคที่อาจพลัดตกไปบนเยื่อบุตาออกไปได้ ตัวเยื่อบุตายังมีเซลล์ที่เรียกว่า goblet cell ที่สร้างชั้นเมือกของน้ำตา รวมทั้งภายในเยื่อบุตา มีต่อมน้ำเหลืองซึ่งมีทั้งเม็ดเลือดขาวต่างๆ ช่วยกันขจัดเชื้อโรคออกไป ร่วมกับการสร้างสารเคมีที่ขจัดเชื้อโรค เช่น lysozyme ออกไปรวมทั้งมีสาร cytokines ต่างๆ ในน้ำตา ที่ป้องกันเยื่อบุตาไม่ให้มีการติดเชื้อได้ง่าย และเซลล์ผิวของเยื่อบุตา (epithelium) เป็นด่านกั้นมิให้เชื้อโรคลงลึกได้โดยง่าย อีกทั้งผิวตาหรือผิวหน้าของเยื่อบุตา ยังมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่เรียกกันว่า normal ocular flora อาศัยอยู่ โดยเชื้อเหล่านี้อาจมาจากช่องคลอดแม่ ในอากาศ ผิวของใบหน้า เข้าไปแทรกอยู่กัน มิให้แบคทีเรียที่ก่อโรคเข้าตาได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีแบคทีเรียที่ก่อโรคผ่านด่านต่างๆ เข้าไปก่อโรคในเยื่อบุตาได้ โดยเชื้อโรคจะสร้างสารชื่อ adhesins ที่ทำให้ตัวเชื้อโรคติดกับเยื่อบุตาและจู่โจมเข้าส่วนลึก ก่อให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาได้

แม้ว่าการอักเสบของเยื่อบุตาจากเชื้อแบคทีเรียส่วนมากไม่รุนแรง อาจหายได้เองโดยกระบวนการของร่างกาย แต่มีเชื้อแบคทีเรียบางตัวก่อโรคที่ร้ายแรงได้ อาจจะแบ่งการอักเสบจากแบคทีเรีย ตามเวลาการเกิดและความรุนแรงออกเป็น

1. แบบเฉียบพลันมาก (hyper acute) รุนแรงมากเกิดจากเชื้อ N.Gonorrhoeae (เชื้อหนองใน) ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง (โดยทั่วไปน้อยกว่า 24 ชั่วโมง) ด้วยอาการตาแดง หนังตาบวม มีขี้ตาเป็นหนองข้นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะเชื้อนี้ส่วนมากก่อโรคที่อวัยวะเพศ บางรายก็อาศัยอยู่อย่างสงบ เชื้อจากอวัยวะเพศมาที่ตาโดยสัมผัสกับตาโดยตรงผ่านทางช่องคลอด (ที่พบในเด็กแรกเกิดในมารดาที่มีเชื้อนี้ที่ช่องคลอด) หรือเชื้อติดมือมาสู่ตา อาจจะพบการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองหน้ารูหูร่วมด้วยได้ ข้อสำคัญเชื้อตัวนี้นอกจากทำให้เยื่อบุตาอักเสบแล้ว ยังสามารถทะลุทะลวงไปยังกระจกตา ทำให้เกิดแผลอักเสบที่กระจกตา ทำให้กระจกตาเปื่อยยุ่ยถึงขั้นทะลุได้ โดยไม่มีแผลถลอกที่กระจกตานำมาก่อน (การติดเชื้อของกระจกตาเชื้อโรคส่วนใหญ่จะเข้าสู่กระจกตาได้ต่อเมื่อมีรอยแผลถลอกที่กระจกตานำมาก่อน ซึ่งแผลถลอกอาจเกิดจากเพียงขยี้ตาแรงๆ ก็ได้)

ภาวะนี้ถือเป็นภาวะรีบด่วน ควรจะต้องตรวจหาเชื้อจากขี้ตาดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เป็นการยืนยันการวินิจฉัย ควรรักษาทันทีด้วยยาที่ฆ่าเชื้อ มิเช่นนั้นอาจทำให้ตาบอดได้

2. แบบความรุนแรงปานกลาง กลุ่มนี้มักเกิดจากเชื้อ Hemophilus , Streptococcus โดยอาการจะเกิดหลังรับเชื้อหลายๆ ชั่วโมงถึงหลายวัน ความรุนแรงน้อยกว่าในข้อ 1 ขี้ตาไม่ถึงกับข้นเป็นหนอง ขี้ตาออกสีเหลืองๆ ถ้าเกิดจากเชื้อ Streptococcus หนังตาจะบวม เยื่อบุตาบวมแดง มีขี้ตาออกสีเหลือง บางคนอาจจะมีพังพืดเป็นแผ่นติดกับหนังตาส่วนที่เรียกว่า tarsal conjunctiva เชื้อตัวนี้มักไม่เกิดอันตรายต่อกระจกตา

สำหรับเชื้อ Hemophilus มักพบในเด็กที่มีภาวะหูชั้นกลางอักเสบร่วมด้วย หรือในคนสูงอายุที่สูบบุหรี่จัด มีปัญหาโรคทางเดินหายใจ เชื้อตัวนี้ไม่ค่อยก่อให้เกิดพังผืดแต่อาจทำให้กระจกตาบริเวณขอบๆ อักเสบ (peripheral keratitis)

3. แบบความรุนแรงน้อย มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Moraxella , Proteus , Pseudomonas เกิดอาการหลังรับเชื้อหลายๆ วัน ถึงหลายสัปดาห์ อาการไม่รุนแรง ขี้ตาเจือจาง ออกสีขาวเหลือง อาการบวมที่หนังตา หรือที่เยื่อบุตาน้อยกว่า 2 กลุ่มแรก

อนึ่ง การอักเสบจากเชื้อในกลุ่ม 2 และ 3 บางครั้งอาจหายได้เอง การหยอดยาหยอดตาที่ฆ่าเชื้อ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะในรูปยาหยอดตา มักจะทำให้โรคหายได้ไม่ยาก