สาระน่ารู้จากหมอตา: ตอน ตาบอด (Blindness)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 7 กุมภาพันธ์ 2556
- Tweet
ตาบอด เป็นความพิการทางตาหรือการบกพร่องทางการมองเห็นในระดับที่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวัน รับการศึกษา และประกอบอาชีพได้เช่นคนปกติทั่วไป
การแบ่งระดับความพิการทางตาก็เพื่อให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ การศึกษา สังคมสงเคราะห์ การพิจารณาค่าทดแทนตามกฎหมายแรงงาน การสงวนอาชีพ ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ ตามระดับของความพิการ อีกทั้งเพื่อประโยชน์ในด้านวิชาการ การจัดทำสถิติ การค้นคว้าวิจัยเพื่อหาวิธีแก้ไข ตลอดจนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลซึ่งกันและกันได้หากใช้คำนิยามถึงระดับความพิการที่ตรงกัน
องค์การอนามัยโลก ได้ให้คำนิยามของตาบอดไว้ว่า เป็นสายตาที่ดีที่สุดเมื่อแก้ไขด้วยแว่นธรรมดา (แว่น สายตาสั้น แว่นสายตายาว แว่นสายตาเอียง) แล้วเห็นน้อยกว่า 3/60 ลงไปจนถึงบอดสนิท ไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีลานสายตาโดยเฉลี่ยแคบกว่า 10 องศาลงไป โดยได้แบ่งตาบอดออกเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 หรือ ตาเริ่มบอด หมายถึง มีสายตาเมื่อใช้แว่นธรรมดาแล้วเห็นน้อยกว่า 3/60 ลงไปจนถึง 1/60 หรือมีลานสายตาโดยเฉลี่ยแคบกว่า 10 องศาไปจนถึง 5 องศา
ระดับที่ 2 หรือ ตาบอดเกือบสนิท หมายถึงการมีสายตาเมื่อใช้แว่นธรรมดาแล้วเห็นน้อยกว่า 1/60 ลงไปจนถึงเห็นแค่แสงสว่าง หรือ มีลานสายตาโดยเฉลี่ยแคบกว่า 5 องศาลงไปจนเกือบถึง 0 องศา
ระดับที่ 3 หรือ ตาบอดสนิท หมายความว่า มองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่างเลย
อนึ่ง ในการตรวจตาแต่ละข้าง เช่น ตาขวาอยู่ในตาบอดระดับ 1 แต่ตาซ้ายปกติ ถือว่าบอดเฉพาะตาขวา ไม่ถือว่าเป็นคนตาบอด โดยการลงความเห็นว่าคนไหนตาบอดจะต้องใช้ความสามารถของตาที่ดีกว่าเป็นหลัก ในกรณีที่ตาซ้ายปกติแต่ตาขวาบอด จึงไม่ถือว่าเป็นคนตาบอด แต่เป็นเพียงมีตาขวาบอด รัฐมีโครงการช่วยเหลือสนับสนุนคนตาบอด ไม่ใช่คนตาบอดข้างเดียว เพราะคนตาบอดข้างเดียว อีกข้างปกติช่วยตัวเองได้
เมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นคนตาบอดที่ไม่มีวิธีรักษาให้ดีขึ้นแล้ว ผู้นั้นจะต้องไปลงทะเบียนเป็นคนพิการทางสายตา (ทั้งตาบอดและตาเห็นเลือนราง) เมื่อได้ขึ้นทะเบียนแล้ว มีสิทธิถึงการรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ ที่ทางรัฐบาลได้กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 เป็นสวัสดิการให้คนพิการสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้เท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป
- สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ได้แก่
- การบริการทางการแพทย์ ผู้พิการมีสิทธิรับการตรวจ การรักษาด้วยยา ด้วยการผ่าตัด การสังคมสงเคราะห์ ในด้านการแพทย์ทางตา นอกจากได้ดูแลรักษาให้สายตาคงอยู่อย่างเดิมแม้ไม่สามารถทำให้เห็นดีขึ้น ยังสามารถได้รับเครื่องช่วยสายตา (visual aids) ได้แก่ แว่นขยาย กล้อง telescope กล้องขยายตามสมควรแต่ละบุคคล เป็นต้น
- บริการทางการศึกษา เด็กตาบอดต้องเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับ เช่นเดียวกับเด็กปกติ สำหรับเด็กตาบอดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ควรเรียนในโรงเรียนเฉพาะคนตาบอด หรือชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติจะเน้นทักษะในการเคลื่อนไหว (orientation and mobility) ก่อน ตามด้วยสอนอ่านเขียนอักษรเบรลล์ (Braille) และหลักสูตรพิเศษสำหรับคนตาบอด เช่น วิชาวาดเขียนเปลี่ยนเป็นวิชาปั้น ใช้ตำราแบบเรียนเป็นอักษรเบรลล์ ฝึกใช้พิมพ์ดีดสัมผัส ในเด็กบางรายอาจใช้หนังสือธรรมดาที่ขนาดโตหรือใช้แว่นขยายช่วยได้
- สำหรับเด็กที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ อาจเรียนร่วมในชั้นเรียนเด็กปกติ อาจได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น ศึกษานิเทศก์ หรือครูสอนเฉพาะจากกองการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ
- การบริการทางสังคม โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดการช่วยเหลือสงเคราะห์คนตาบอด เป็นเงินหรือสิ่งของ ได้รับเบี้ยยังชีพทุกเดือน ส่งเสริมบริการสาธารณะเพื่อคนตาบอด และอื่นๆ
- การบริการทางอาชีพ ได้รับการแนะนำการฝึกอาชีพที่เหมาะสม เช่น พนักงานรับโทรศัพท์ หมอนวด นักดนตรี พนักงานพิมพ์ดีด และจัดหาสถานที่ทำงานให้ เป็นต้น