สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 9 : สายตาพิการในผู้สูงอายุ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 14 มีนาคม 2556
- Tweet
ผู้สูงอายุ ยึดเอาข้อตกลงระหว่างประเทศถือเอาว่าเป็นคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ประเทศไทยในปัจจุบัน (ปี 2551) มีประชากร 67 ล้านคน มีผู้อายุมากกว่า 60 ปี 7.5 ล้านคน (11.2%) คาดกันว่าในปี 2563 จะมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.8 ล้านคน (ประชากร 70.8 ล้าน) ประมาณ 16.8 % องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ว่า ถ้าประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% จัดว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (ageing society) และถ้าเป็น 20% เรียกว่าสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) คาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในราวพ.ศ. 2567 ข้อมูลในปี พ.ศ. 2548 พบว่าผู้สูงอายุมีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวร้อยละ 50 โรคที่พบ ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ตาเป็นอีกอวัยวะหนึ่งซึ่งมักเป็นโรคหรือเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น หลายโรคทำให้เกิดความพิการทางสายตา อาจเป็นเห็นเลือนลาง หรือตาบอด
จากการสำรวจพบว่า โรคตาที่เป็นแล้วลงเอยด้วยสายตาเลือนลางในผู้ใหญ่มักจะเกิดจาก โรคจอตาเสื่อมจากเบาหวาน (diabetic retinopathy) ประสาทตาเสื่อม (optic atrophy) จากสาเหตุต่างๆ จอประสาทตาเสื่อมจากภาวะสายตาสั้นมาก อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ยังพอเห็นและพอช่วยตัวเองได้ ไม่ค่อยเป็นปัญหาให้ผู้อื่นช่วยเหลือ แต่บั่นทอนคุณภาพชีวิตการทำงานลง
สำหรับโรคที่เป็นสาเหตุตาบอดในผู้ใหญ่ อาจจะไม่ถึงกับบอดสนิทแต่อยู่ในขั้นตาบอดตามคำจำกัดความของอนามัยโลก (สายตาเห็นน้อยกว่า 3/60) หรือประมาณว่านับนิ้วในระยะ 1 เมตรไม่ได้ ไปจนถึงไม่เห็นแม้แสงสว่าง ซึ่งถือว่ามีข้อจำกัดมาก ช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นภาระต่อสังคม มักพบในโรคจอประสาทตาส่วนกลางเสื่อม (age-related macular degeneration) ต้อหิน ต้อกระจก ฯลฯ
สำหรับประเทศไทย ต้อกระจกซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ ยังเป็นสาเหตุหลักของตาบอดในผู้สูงอายุ เพราะประชากรสูงอายุมีมากขึ้นเป็นโรคต้อกระจกมาก และขึ้นเข้าไม่ถึงบริการ จึงต้องมีโครงการผ่าตัดต้อกระจกขึ้นในปัจจุบัน