สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 8: เลเซอร์ที่รักษาโรคตา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 7 มีนาคม 2556
- Tweet
มารู้จักแสงเลเซอร์ (Laser) ที่ใช้รักษาโรคตา คำว่า Laser ย่อมาจาก light amplification by stimulated emission of radiation ซึ่งแปลง่ายๆออกมาว่า จากต้นกำเนิดของพลังอันหนึ่งที่กระตุ้นอะตอมภายในตัวกลางที่กำลังตื่นตัว (อาจเป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส) ก่อให้เกิดคลื่นแสงอันหนึ่ง หลังจากนั้นคลื่นแสงนี้จะถูกให้อยู่ในที่จำกัดให้สะท้อนไปมา เพื่อเพิ่มพลังให้มากขึ้นแล้วออกมาเป็นแสงเลเซอร์
แสงเลเซอร์จะเป็นแสงสีเดี่ยว (monochormatic) โดยอาจจะเป็นสีต่างๆที่เห็นได้ด้วยตาของเรา เช่น แดง (Krypton red) , เขียว (Argon green), น้ำเงิน (Argon blue) หรืออาจเป็นคลื่นแสงเดี่ยวที่มองไม่เห็นด้วยตาคนเรา เช่น excimer laser เป็น Argon fluoride (อยู่ในระดับคลื่นแสงของ ยูวี/UV หรือ Ultraviolet) หรือจะอยู่ระดับของ infrared เช่น Yag laser เป็นต้น แสงเลเซอร์จะเดินทางเป็นทางแคบๆ เรียกกันว่า directionality มุ่งไปในแนวเดียว ทำให้รวบรวมพลังแสงเข้าด้วยกันสามารถโฟกัสได้เป็นจุดที่แม่นยำ
ปฏิกิริยาของส่วนต่างๆ ของตาต่อแสงเลเซอร์มีระดับต่างกัน ได้แก่
- photocoagulation เริ่มมาจากการพบว่า ผู้จ้องมองดวงอาทิตย์ ดูสุริยคราส จะมีความร้อนจี้ไปยังบริเวณจอตา โดยที่จอตาเป็นอวัยวะที่มีเซลล์สีที่ดูดซับแสงจากดวงอาทิตย์ กลายเป็นความร้อนจี้บริเวณจอตานั้น ในทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้พลังเลเซอร์ ยิงไปยังส่วนของตาที่มีเซลล์สี เช่น จอตา ม่านตา ได้แก่ การรักษา โรคเบาหวานขึ้นตา จอตาฉีกขาด จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เนื้องอกบริเวณจอตา ตลอดจนการเจาะรูม่านตาในผู้ป่วยต้อหิน เป็นต้น
- photodisruption เป็นการใช้พลังเลเซอร์ที่สูง ซึ่งก่อให้เกิดภาวะ ionization ของเนื้อเยื่อที่ต้องการรักษา ทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดคล้ายๆใช้กรรไกรเข้าไปตัด โดยไม่ต้องเปิดเป็นแผล ใช้แสงเลเซอร์นี้ผ่านกระจกตาเล็งไปยังเป้าหมาย เช่น การตัดเยื่อห่อหุ้มแก้วตาเทียม การตัดผังพืดในน้ำวุ้นตา
- photoablation เป็นการใช้แสงเลเซอร์ระดับ ยูวี ไปขัดหรือสลักผิวกระจกตา คล้ายๆ การแกะสลักผิวพลาสติก ด้วยขนาดของลำแสงเลเซอร์ชนิดนี้ที่เล็กมาก สามารถขัดผิวกระจกตาได้ในขนาดระดับไมครอน (micron) โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง ขอบของแผลที่ถูกตัดด้วยเลเซอร์นี้เรียบมากผิดกับที่ตัดด้วยมีด ได้แก่ Excimer laser ที่ใช้ในการแก้ไขสายตาผิดปกติทั้ง Lasik (Laser in situ keratomileusis) และ PRK (photorefractive keratectomy)
การรักษาตาด้วยแสงเลเซอร์เป็นการใช้แสงโฟกัสไปยังจุดเป้าหมาย โดยไม่มีแผล ไม่มีการเสียเลือด โดยทั่วไปจะไม่มีอาการเจ็บมากมายนัก หลังรักษา ไม่ต้องหยุดพักงาน สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงเป็นการรักษาที่ค่อนข้างปลอดภัย