สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 47: เลนส์เสริม (Phakic IOL)

ในกรณีผ่าตัดต้อกระจก หลังเอาต้อออกต้องใส่เลนส์เทียมไปทดแทนแก้วตาหรือเลนส์ที่เอาออกไป เรียกว่า aphakic IOL (intraocular lens) สำหรับ phakic IOL เป็นการใส่เลนส์เสริมเข้าไปโดยไม่ได้แตะต้องเลนส์ธรรมชาติเพื่อแก้ไขสายตาที่ผิดปกติโดยเลนส์ธรรมชาติยังอยู่

แม้ในปัจจุบัน สายตาสั้นสามารถแก้ไขให้หายขาดได้ด้วยการทำ Lasik/เลสิค เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่สายตาสั้นมากอาจไม่เหมาะหรือทำ Lasik ไม่ได้ การผ่าตัดฝังเลนส์เสริมจึงเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง การแก้ไขสายตาสั้นด้วยวิธีการผ่าตัดทั้งมีดหรือเลเซอร์บนกระจกตา (รวมทั้ง Lasik) อาจมีปัญหาดังต่อไปนี้

  • กระจกตาหนาไม่พอ โดยเฉพาะผู้มีสายตาสั้นมากต้องตัดเนื้อกระจกตาออกมาก หากมีเนื้อกระจกตาเหลือน้อยกว่า 250 ไมครอน อาจทำให้เกิดภาวะกระจกตาไม่ทรงตัว ทำให้กระจกตาปูดออกมาข้างหน้าตลอดจนเกิดกระจกตาย้วย/กระจกตารูปกรวยในภายหลัง ซึ่งทำให้สายตาเลวลงมาก ผู้ที่มีสายตาสั้นมากต้องตัดเนื้อกระจกตามาก หรือมีกระจกตาบางอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่เหมาะที่จะทำเลสิค
  • จากการเปลี่ยนความโค้งกระจกตาจากเดิมมากเกินไป ทำให้แม้สายตาหายสั้นแต่คุณภาพของการมองเห็นไม่ดีนัก จากการหักเหของแสงที่เปลี่ยนไป ตลอดจนมีปัญหามากในเวลากลางคืนจาก contrast ไม่ดี
  • มีปัญหาเรื่อง การหายของแผลเข้ามาเกี่ยวข้อง ในแต่ละคนแตกต่างกัน ตลอดจนมีปัญหาของ regression คือ การมีสายตาสั้นกลับคืนมาในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในผู้ที่เหลือเนื้อกระจกตาตรงกลางไว้ในขนาดเล็ก

หากจะเทียบกับการเอาแก้วตาจริงออก แล้วเอาแก้วตาเทียมที่แก้ไขสายตาสั้นที่มีอยู่ใส่แทน ซึ่งเป็นที่นิยมทำกันเหมือนกับวิธีนี้จะดีกว่า ตรงที่ไม่ได้แตะต้องแก้วตาธรรมชาติ จึงทำให้การเพ่ง (accommodation) ยังมีอยู่ คือมองเห็นทั้งระยะไกลและระยะใกล้

-เลนส์เสริมนี้เอาไปวางส่วนไหน?

ในปัจจุบัน มีการประดิษฐ์เลนส์เสริมสำหรับฝังทั้งในช่องหน้าลูกตา (anterior chamber) และในช่องหลังลูกตา (posterior chamber) ประกอบด้วย

  • Angle fix ออกแบบให้เลนส์นี้อยู่หน้าม่านตา โดยให้ขาเลนส์ยันไว้ที่มุมตา ข้อเสีย คือ อาจจะกระทบกระทั่งบริเวณมุมลูกตา (angle) ก่อให้เกิดต้อหินได้ในบางราย
  • Iris fix เลนส์ชนิดนี้อยู่ที่ช่องหน้าลูกตาเช่นเดียวกับในข้อ 1 แต่ขาของเลนส์ออกแบบให้หนีบอยู่กับม่านตาไว้ในลักษณะคล้ายก้ามปูหนีบไว้ไม่ให้เลนส์ขยับเขยื้อน ข้อเสียของวิธีนี้อาจทำให้ม่านตาช้ำ มีการอักเสบเป็นๆ หายๆ
  • ฝังเลนส์เสริมไว้ในช่องหลังลูกตา อยู่หลังม่านตาแต่หน้าต่อแก้วตา ทำให้มีโอกาสกระทบต่อแก้วตาธรรมชาติจนเกิดต้อกระจกในเวลาต่อมาได้

-ข้อดีของการฝังเลนส์เสริม

  • ผู้ป่วยยังคงความสามารถในการเพ่งมองได้เหมือนเดิม เพราะเลนส์ธรรมชาติยังอยู่
  • ไม่ได้ทำให้ผิวกระจกตาช้ำ คุณภาพการหักเหของแสงของตายังดีอยู่ จึงให้เห็นภาพคมชัดกว่าการแก้ไขสายตาสั้นโดยการผ่าตัดที่กระจกตา
  • สามารถเอาเลนส์เสริมออกได้หากผลลัพธ์ไม่เป็นที่พอใจ ต่างกับการผ่าที่กระจกตา ที่เนื้อกระจกตาถูกตัดทิ้งไปแล้วเอากลับคืนไม่ได้
  • การผ่าตัดเป็นที่คุ้นกันดีในจักษุแพทย์ทุกท่าน ทำเหมือนการฝังแก้วตาเทียมในการผ่าตัดต้อกระจกซึ่งแพทย์ทุกท่านทำชำนาญไม่ต้องฝึกใหม่ ต่างจากการทำ Lasik แพทย์ต้องฝึกวิธีการใหม่
  • ไม่ต้องใช้เครื่องมือใหม่ที่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เครื่องเลเซอร์ที่ราคาแพง
  • ผลการทำมักจะคงทนไม่มีอาการกลับคืน (regression)

-ข้อเสียของการฝังเลนส์เสริม

  • ช่องที่ฝังเลนส์ฯค่อนข้างแคบ อาจกระทบกระเทือนต่ออวัยวะใกล้เคียง เช่น ม่านตา แก้วตา มุมตา ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อเหล่านั้นตามมาได้
  • การผ่าตัดเข้าไปในลูกตา อาจเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อของลูกตาได้

อย่างไรก็ตามเลนส์เสริม เหมาะในการแก้ไขสายตาสั้นปานกลางถึงสั้นมาก ในระยะยาวหากมีการพัฒนารูปร่างของเลนส์เสริมให้บางลง และให้เหมาะสมกับการฝังเข้าไปในช่องลูกตาดังกล่าว น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีอันหนึ่งในการรักษาต้อกระจก หรือรักษาภาวะสายตาสั้นมาก