สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 46: เยื่อหุ้มรกในโรคตา

ในทางการแพทย์ มีการใช้เยื่อหุ้มรก (human amniotic membrane) ในทางศัลยกรรมทั่วไป เช่น ศัลยกรรมตกแต่ง หู คอ จมูก ด้วยคุณสมบัติที่ดีของมันที่ป้องกันเนื้อเยื่อมาติดกัน ส่งเสริมการหายของแผล ลดความเจ็บปวด เร่งการฟื้นคืนของเส้นประสาท ตลอดจนการรักษาแผลไฟไหม้ผิวหนังได้ผลดี

ในทางจักษุ เมื่อปี ค.ศ.1940 de Roth นำมาใช้แทนเยื่อบุตา/เยื่อตา และในราว ค.ศ. 1985 Kim และ Tseny ได้นำมาใช้รักษาตกแต่งกระจกตา พบว่าได้ผลดี ในปัจจุบันจึงนำมาใช้ในการรักษาโรคของผิวตา ได้แก่ เยื่อบุตา และกระจกตาหลายอย่าง

รกคนเราประกอบด้วยเยื่อหุ้ม chorion และ amnion เยื่อหุ้มส่วนที่ติดกับทารก คือ amnion ซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อชั้น epithelium และ basement membrane ที่มีลักษณะบาง ร่วมกับเนื้อเยื่อชั้น stroma ที่หนากว่า แต่ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หลวมๆ สามารถแยกชั้น amnion ออกมาจาก chorion ได้ง่าย ตัว amniotic membrane ที่นำมาใช้จึงประกอบด้วยชั้น epithelium , basement และ stroma ซึ่งมีส่วนประกอบและประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่

1. ตัว basement membrane ประกอบด้วยสาร collagen 4 และ 6 laminin , glycosaminoglycan ที่กระตุ้นให้มีการติดกัน ร่วมกับมีการเจริญและขยายเพิ่มจำนวนของ epithelium ช่วยให้แผลหายไว

2. ในส่วนของ stroma ประกอบด้วยสารเคมีต่างๆ เช่น suppress TGF – beta ที่ช่วยในการรักษาแผล ทำให้มีแผลเป็นน้อยลง กำจัดเซลล์ในขบวนการอักเสบด้วย enzyme ต่างๆ ที่มีในชั้นนี้ มีสารเคมีที่ช่วยเร่งการหายของแผล ลดการตายของเซลล์ (apoptosis) ของ epithelium ลดการอักเสบ อีกทั้งยืดอายุของเซลล์ตัวอ่อน corneal epithelium stem cell ด้วย

3. เมื่อนำเยื่อนี้ปะบนผิวกระจกตา จะทำหน้าที่กั้นสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่อยู่ในน้ำตาที่จะมาทำลายเนื้อกระจกตาได้

ในการปลูกถ่ายเยื่อหุ้มรกที่ใช้ในการรักษาตา ประกอบด้วย 3 กรณี คือ ที่ผิวกระจกตา, ที่ผิวเยื่อบุตา, และ นอกจากการรักษาผิวตายังใช้ในการผ่าตัดอื่นๆ เช่น ต้อหิน

1. การรักษาผิวกระจกตา มีการใช้เยื่อนี้รักษาภาวะผิดปกติของกระจกตาต่างๆ เช่น

1.1 ภาวะผิวกระจกตาหลุดลอกซ้ำๆ (Persistent epithelium defect PED) ที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อของกระจกตาจากเชื้อเริม ทำให้ผิวกระจกตาหลุดลอกเป็นหย่อมๆ อยู่นาน การปลูกถ่ายเยื่อนี้บนผิวกระจกตาที่เป็นโรคนี้ พบว่าลดการอักเสบร่วมกับ เนื้อเยื่อ epithelium กลับหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น

1.2 แผลเปื่อยกระจกตาที่กินลึก ทำให้กระจกตาใกล้ทะลุจากสาเหตุต่างๆ ตลอดจนกระจกตาอยู่ในภาวะ descematocele ภาวะนี้อาจใช้เยื่อนี้ปะแผลหลายๆ ชั้น ป้องกันกระจกตาทะลุได้

1.3 ภาวะ bullous keratopathy ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเคืองในตา สามารถลอก เนื้อเยื่อ epithelium ที่บวมออกแล้วใช้เยื่อนี้ปะเข้าแทนที่คล้ายๆ กับการทำ conjunctival flap ทำให้ลดอาการปวด ระคายเคืองตาลงได้

1.4 บางท่านใช้เยื่อนี้แช่ด้วยยาปฏิชีวนะ แล้วเย็บเยื่อนี้ติดกับผิวกระจกตาเป็นวิธีการให้ยาอย่างต่อเนื่องในการรักษากระจกตาวิธีหนึ่ง

1.5 ในโรคของกระจกตา กรณีใกล้ทะลุ อาจใช้เยื่อนี้หลายๆ ชั้นปะผิวกระจกตาไม่ให้ทะลุได้

2. การรักษาผิวเยื่อบุตา

2.1 ปัญหาทั้งที่ผิวเยื่อบุตาและกระจกตา บริเวณตาขาวต่อตาดำ (limbus) บริเวณนี้เป็นต้นกำเนิดของ limbal stem cell ให้ทั้งเซลล์ผิวเยื่อบุตาและกระจกตา อาจเกิดโรคที่เรียกว่า limbal stem cell deficiency เช่น ที่เกิดในรายผู้ป่วยถูกสารเคมี, ภาวะแพ้ยาที่เรียกว่า Steven Johnson syndrome , และ โรค ocular cicatricial pemphigoid ซึ่งการใช้เยื่อหุ้มรกนี้วางลงบนรอยโรค จะทำให้ limbal stem cell ที่เหลืออยู่ เจริญเติบโตเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นเหตุให้ผิวกระจกตาปกติในเวลาต่อมา หากรอยโรคเดิมมีการสูญเสีย limbal stem cell ทั้งหมด ต้องตามด้วยการปลูกถ่าย limbal stem cell ผลการผ่าตัดจะดีขึ้นได้

2.2 ในผู้ป่วยที่ได้รับสารเคมีหรือมีอาการฉับพลันของภาวะ Steven Johnson syndrome ผู้ป่วยจะมีแผลหลุดลอกทั้งผิวหนัง ผิวเยื่อบุตา และผิวกระจกตา การใช้เยื่อหุ้มรกในระยะแรกๆ ภายใน 14 วันแรก บุบริเวณเยื่อบุตาทั้งหมดจะทำให้ผิวเยื่อบุตากลับคืนปกติได้เร็วขึ้น

2.3 ในการผ่าตัดรักษาต้อเนื้อ เป็นที่ทราบกันดี การลอกต้อเนื้อปกติ โดยเอาออกอย่างเดียวโรคมีโอกาสกลับคืนได้สูง การปลูกเยื่อบุตาที่ได้จากส่วนไกลจากต้อเนื้อมาปลูกบริเวณที่เอาต้อเนื้อออกจะลดการกลับคืนลงได้ ในผู้ป่วยบางรายไม่อาจใช้เยื่อบุตาของตัวเองบริเวณอื่น อาจเพราะเป็นต้อเนื้อขนาดใหญ่ หรือไม่อยากให้มีแผลบริเวณอื่น อาจใช้เยื่อหุ้มรกปลูกแทนได้ผลใกล้เคียงกัน ในการป้องกันการกลับคืนของต้อเนื้อ

2.4 การมีเนื้องอกบริเวณเยื่อบุตา เมื่อตัดเนื้องอกออกทำให้สูญเสียเยื่อบุตาไปมาก อาจใช้เยื่อหุ้มรกแทนเยื่อบุตาที่หายไปได้

2.5 ภาวะ synblepharon นอกจากแยกเยื่อบุตาที่ติดกันออกอย่างเดียว เมื่อตามด้วยการปลูกเยื่อหุ้มรก สามารถแก้ไขภาวะนี้ได้ในบางราย

2.6 ในการทำ scleral graft บางราย อาจใช้เยื่อหุ้มรกคลุม graft ที่ทำ ช่วยการหายของแผลได้

3. การใช้ในภาวะอื่นๆ

3.1 การปลูกเยื่อหุ้มรกแทนการใช้เยื่อบุตา เพื่อปิดกระจกตา ช่วยการใส่ตาปลอมได้สบายตาขึ้น

3.2 การเสริมร่องตา (fornix reconstruction) ในผู้ป่วยที่ร่องตาตื้น จนใส่ตาปลอมไม่ได้

3.3 การใช้เยื่อหุ้มรกเสริมในการผ่าตัดต้อหินด้วยคุณสมบัติ ของการยังยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ fibroblast ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การผ่าตัดต้อหินได้ผลไม่ดี