สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 17: แว่นสายตาในเด็ก

การสั่งขนาดแว่นสายตาในเด็กมีปัญหามากกว่าในผู้ใหญ่ ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ

  1. เด็กไม่ทราบและไม่สามารถบอกบอกว่าตัวเองเห็นหรือไม่เห็นแค่ไหน โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนดังนั้นจึงต้องอาศัยการสังเกตของผู้ปกครองว่าเด็กน่าจะมีสายตาผิดปกติหรือไม่
  2. การวัดสายตาโดยวิธีอ่านตัวเลขหรือดูภาพขนาดต่างๆกัน (Snellen chart) ทำไม่ได้ในเด็กเล็ก หรือในเด็กโตก็อาจทำไม่ได้แน่นอน เพราะเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการดูตัวเลข
  3. แม้จะวัดสายตาด้วยเครื่องโดยไม่อาศัยการอ่านของเด็ก (retinoscopy) แต่เด็กมักจะควบคุมการเพ่ง (accommodation) ได้ยาก กล่าวคือ การวัดสายตาด้วยเครื่องที่ถูกต้องจำเป็นต้องอยู่ในภาวะพัก ไม่มีการเพ่งซึ่งในผู้ใหญ่ใช้วิธีมองไกลๆ ไม่ต้องเพ่ง แต่ในเด็กทำไม่ได้และโดยทั่วไปเด็กมักจะเพ่งโดยการจ้องหน้า หรือจ้องเครื่องวัดซึ่งเป็นการเพ่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้ค่าสายตาออกมาสั้นมากกว่าความจริงเสมอ ต้องแก้ไขโดยใช้ยาหยอดตาขจัดกำลังเพ่งออกไป โดยใช้ยาในกลุ่ม cycloplegicนั่นคือ การวัดสายตาเด็กที่ดีควรทำในขณะใช้ยา cycloplegicเสมอโดยเฉพาะแว่นตาอันแรก
  4. ในเด็กโดยเฉพาะที่มีสายตายาวที่มีตาเขร่วมด้วย การวัดสายตาและให้แว่นต้องคำนึงเรื่องตาเขเข้ามาด้วย

หลักการทั่วๆ ไปในการให้/ทำแวนให้กับเด็ก

  1. สายตาสั้น

    เด็กสายตาสั้นทั่วๆ ไป มี 2 ลักษณะ คือ ชนิดที่เป็นตั้งแต่เด็กเล็ก 2 – 3 ขวบ มักจะอยู่ในข่ายเป็นสายตาสั้นมาก กับเด็กเริ่มสั้นเมื่ออายุ 7 – 10 ปี กลุ่มหลังมักจะสั้นไม่มาก โดยกลุ่มแรกจะตาสั้นเพิ่มเร็วกว่า ควรจะแจ้งผู้ปกครองว่าเด็กมักจะมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้น ควรมารับการตรวจวัดแว่นอย่างน้อยปีละครั้งต้องวัดโดยใช้ยา cycloplegic ในเด็กเล็ก เด็กที่มีตาเขร่วมด้วย ตลอดจนเด็กที่มีสายตาสั้นมาก ต้องแก้ไขสายตาด้วยกำลังแว่นเต็มที่ แก้ให้หมดรวมทั้งแก้สายตาเอียงตามความเป็นจริง

    ในกรณีที่มีตาเข ชนิดเขออกเป็นบางครั้ง (intermittent exotropia) อาจจะให้แว่นสายตาสั้นมากกว่าจริง เพื่อควบคุมภาวะตาเขด้วย

    ผู้ปกครองควรทราบว่าสายตาเด็กมักจะสั้นลงควรพาเด็กมาตรวจวัดสายตาปีละครั้งหรือตามจักษุแพทย์นัดหมาย

  2. สายตายาว

    การให้แว่นเด็กสายตายาว มักจะมีปัญหายุ่งยากกว่าสายตาสั้น โดยทั่วไปถ้ามีสายตายาว แต่ไม่มีปัญหาทางสายตาอื่นหรือตาเขร่วมอาจไม่ต้องแก้ไข ถ้าจำเป็นต้องแก้และมีตาเอียงร่วมด้วยให้แก้สายตาเอียงไปด้วย

    เด็กสายตายาวมักมีปัญหาการเพ่ง ทำให้เกิดตาเขเข้าร่วมด้วย ต้องวัดสายตาด้วยการใช้ยา cycloplegicและให้ค่าสายตาตามนั้น โดยอาจลดค่าสายตาลงในเวลาต่อมา หากภาวะตาเขดีขึ้น

    เด็กไปโรงเรียนที่มีสายตายาว หากแก้ไขเต็มที่อาจมีสายตาไกลไม่ดีนัก เพราะเด็กมักจะเพ่งทำให้ดูเหมือนแว่นจะมากเกินจริง ในบางครั้งอาจต้องลดกำลังของแว่นสายตาลงได้ตามความเหมาะสม

  3. สายตา 2 ข้างไม่เท่ากัน

    ในเด็กแม้สายตา2 ข้างจะต่างกันมาก เด็กมักจะทนต่อกำลังแว่นที่ต่างกันได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ควรแก้ไขกำลังแว่นเต็มที่และเฝ้าระวังภาวะตาขี้เกียจที่อาจเกิดขึ้นด้วย