สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 15: ยาหยอดตา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 25 เมษายน 2556
- Tweet
ยาหยอดตา (eye drop) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคตาบ่อยที่สุด เพราะได้ยาถูกบริเวณที่เป็นโรคทันที และโดยตรง ใช้ง่ายสะดวก ไม่มีหรือมีผลต่อระบบอื่นของร่างกายน้อยกว่าวิธีอื่น ยาหยอดตาซึมไปมีผลต่ออวัยวะอื่นน้อยกว่า แต่ในความเป็นจริง ยาหยอดตาได้ผลดีในการรักษาโรคตาส่วนหน้า ได้แก่ หนังตา เยื่อบุตา กระจกตาและม่านตา มีผลต่อส่วนหลังของลูกตา เช่น น้ำวุ้นตาจอตา น้อยมาก โรคของส่วนหลังลูกตาจึงต้องใช้วิธีรักษาอื่นๆช่วย
ยาหยอดตาที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน มี 3 รูปแบบ คือเป็นยาน้ำใส เป็นสารแขวนตะกอน (suspension) หรือในรูปขี้ผึ้ง
การใช้ยาหยอดตาให้ได้ประโยชน์ที่สุด ควรทำดังนี้
- ตรวจสอบดูว่ายาที่กำลังจะหยอดเป็นยาหยอดตาจริงๆ มีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุหยิบขวดยาที่คล้ายขวดยาหยอดตา อาจเป็นยาหอมระเหย ยาหยอดหู แม้ว่ายาหยอดหูบางชนิดจะระบุว่าใช้กับตาได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อย เพราะช่องหูเป็นผิวหนังที่หยาบและหนากว่าเยื่อบุตา
- ตรวจสอบข้างขวดว่ายายังไม่หมดอายุ ถ้ายาขวดใดระบุเฉพาะวันผลิตไม่ระบุวันหมดอายุ ควรใช้ได้นับจากวันผลิตภายในระยะเวลา 3 ปี
- ยาหยอดตาควรจะเป็นของใครของมัน ไม่ควรใช้ปนกับของผู้อื่น แม้ว่าจะสงสัยว่าเป็นโรคเดียวกัน
- หากเป็นยาลักษณะแขวนตะกอนคล้ายน้ำนม ควรเขย่าขวดให้ยาละลายทั่วๆ ก่อนใช้ยาเสมอ
- ล้างมือให้สะอาดก่อนเปิดขวดยา อาจหยอดในท่านั่งแหงนหน้าหรือท่านอน ใช้มือไม่ถนัดดึงหนังตาลง หยอดยาลงกระพุ้งที่เกิดขึ้น โดยไม่ให้ปลายหลอดขวดสัมผัสกับขนตาหรือผิวตาด้วยมือที่ถนัดจำนวน 1 หยด ปิดจุกขวด และให้ผู้ป่วยหลับตา 1-2 นาที และเพื่อให้ยาค้างอยู่ในตาได้นานโดยไม่ไหลลงท่อสู่จมูกและคอ อาจใช้นิ้วโป้งกดที่หัวตาไว้ 2-3 นาที
- โดยทั่วไปหยอดยาเพียง 1 หยดก็พอ (ถ้ายาเข้าตา)แต่ถ้าสงสัยอาจหยอดเพิ่มได้อีก 1 หยด ไม่ควรหยอดมากเกินไป เพราะช่องตาคนเรารับน้ำยาหยอดตาได้เพียง 1 หยด ประมาณ 20 ไมโครลิตร ขณะที่ยาหยอดตาที่มีในท้องตลาด 1 หยด จะมีขนาด 25 – 50 ไมโครลิตร ซึ่งมากเกินพออยู่แล้ว การหยอดหลายหยดนอกจากเปลืองยา บางครั้งน้ำยาที่มากเกินล้นมาบริเวณเปลือกตาและแก้มทำให้สกปรกเลอะเทอะได้
- ในกรณีที่ต้องหยอดยามากกว่าหนึ่งตัวในเวลาเดียวกัน ให้รอห่างกันอย่างน้อย 5 – 10 นาที เพื่อให้ยาตัวแรกดูดซึมเข้าไปเกือบหมด โดยยาหยอดจะลดลง 16 % ต่อ1นาที ภายใน 4 นาที ยาจะเหลืออยู่ในตาเพียงประมาณ 50 %
- หากมีทั้งยาน้ำหยอดและยาขี้ผึ้งป้าย ควรหยอดยาน้ำก่อนแล้วจึงตามด้วยยาขี้ผึ้ง และยาขี้ผึ้งควรบีบจากหลอดใส่ตา ขนาดยาวประมาณ 1 ซ.ม.
- พึงระลึกว่ายาหยอดตาก็เหมือนยาทั่วไป อาจมีการแพ้ยาขึ้นได้ โดยหลังหยอดจะมีอาการคันตา ตาแดงมากขึ้น ถ้าสงสัยควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์/จักษุแพทย์
- ควรต้องอ่านฉลากยาให้เข้าใจก่อนใช้ยาเสมอ และเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิที่กำกับไว้ข้างขวด โดยทั่วไปประมาณ 25 องศาเซลเซียส อาจเก็บไว้ที่ฝาตู้เย็นไม่ควรเก็บไว้ในที่ร้อน หรือโดนแสงแดดโดยตรง เช่น หลังตู้เย็น ในรถ อากาศร้อน และ/หรือแสงแดด จะทำให้ยาหยอดตาเสื่อมคุณภาพลง