สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 14: การคัดกรองต้อหิน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 18 เมษายน 2556
- Tweet
เร็วๆนี้ ได้อ่านเอกสารต่างประเทศเรื่องของต้อหิน “ Glaucoma now” ปี 2011 กล่าวไว้ว่า ต้อหินเป็นสาเหตุตาบอดที่แก้ไขไม่ได้ แต่อาจจะป้องกันไม่ให้บอดได้ เป็นอันดับต้น (ทั่วโลกต้อกระจกเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด แต่เป็นโรคที่แก้ไขได้) ของประชากรโลกพบเป็น 12 % ของเหตุตาบอดทั่วโลก โดยมีปัจจัยเสี่ยงเรื่อง อายุที่มากขึ้นเป็นหลัก ในสหรัฐอเมริกา พบต้อหิน 1- 2 % ถ้าเป็นชาวอเมริกาเชื้อสายอัฟริกัน พบได้ถึงประมาณ 4% และ 2 - 5% ในชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน โดยรวมพบโรคนี้ 1.86% ในชาวอเมริกาที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป แสดงว่าเชื้อชาติน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคต้อหินอย่างหนึ่ง
เมื่อโรคนี้เป็นในผู้สูงอายุและถ้ารักษาทันจะป้องกันตาบอดได้ เราจึงควรหันมาป้องกันผู้สูงอายุของเรา ไม่ให้ตาบอดจากโรคนี้ ซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่ป้องกันไม่ให้ลุกลาม จนตาบอดได้ด้วยการพบจักษุแพทย์สม่ำเสมอในกรณี
- ตรวจวัดความดันลูกตาผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ปีละครั้ง เพราะความดันลูกตาเป็นอาการแสดงที่ตรวจได้ง่ายและจะสูงในผู้ป่วยโรคนี้
- ให้ความสนใจมากขึ้นในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน หรือมีคนในครอบครัวตาบอดตาใส (ส่วนมากบอดจากต้อหินมุมเปิดที่ตาค่อยๆมืดลงโดยลูกตาดูปกติไม่มีอาการตาแดงหรือปวดตา จึงเรียกกันทั่วไปว่า ตาบอดตาใส่)
- ผู้ที่มีสายตาสั้นปานกลางถึงมาก พบอุบัติการณ์ของต้อหินมากกว่าคนทั่วไป จึงควรรับการตรวจตาสม่ำเสมอ
- ผู้มีโรคเบาหวาน มีโอกาสเป็นต้อหินชนิดมุมเปิดที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือต้อหินจากเบาหวานขึ้นตา
- ผู้มีความผิดปกติบางอย่างในลูกตาที่แพทย์มักแนะนำว่ามีแนวโน้มจะเป็นต้อหิน เช่น exfoliationที่ผิวแก้วตา หรือภาวะเสื่อมของกระจกตา เป็นต้น
- ผู้มีโรคระบบหลอดเลือดของร่างกาย เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอุดตัน หรือโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue disease)
ซึ่งเมื่อได้รับการตรวจพบว่า เป็นต้อหินแล้ว ควรจะต้องปฏิบัติตนเพื่อมิให้โรคลุกลามจนตาบอด ดังนี้
- ต้องไม่ลืมว่า โรคต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องรับการตรวจ ดูแลอย่างต่อเนื่องหรือตามแพทย์นัดและ สายตาที่เสียไปแล้วจะไม่สามารถกลับคืนปกติได้
- ต้องใช้ยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์ การขาดยาจะทำให้ตามัวลงอย่างแน่นอน
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดงมาก ปวดตา รู้สึกตามัวลงควรไปพบแพทย์/จักษุแพทย์ ทันที
- แม้ไม่มีอาการอะไร ควรรับการตรวจตาเป็นระยะๆ ตามจักษุแพทย์นัดหมาย โดยจักษุแพทย์จะตรวจวัดความดันลูกตา ดูขนาดของขั้ว/จานประสาทตา และลานสายตาเป็นบางครั้ง เพื่อดูผลของการรักษา ตลอดจนดูแนวโน้ม ความรุนแรงของโรค