สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 11: วิวัฒนาการการผ่าตัดต้อกระจก
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
- 28 มีนาคม 2556
- Tweet
ในสมัยของบิดาแห่งการแพทย์แผนตะวันตก Hippocrates บอกไว้เพียงว่า ต้อกระจกเป็นโรคที่ไม่มียารักษา และในสมัยนั้น เชื่อกันว่าเป็นน้ำขังอยู่บริเวณรูม่านตาหน้าต่อแก้วตา อันเป็นที่มาของชื่อ โรคต้อกระจกในภาษาแพทย์ที่เรียกว่า “cataract” ซึ่งแปลว่า “น้ำตก” นั่นเอง
การรักษาต้อกระจกโดยวิธีผ่าตัดกล่าวกันว่ามีมาตั้ง 3,000 ปีมาแล้ว วิธีดั้งเดิมที่เรียกกันว่าวิธี couching เป็นการดีดหรือผลักหรือเขี่ยแก้วตาที่ขุ่นให้พ้นจากแนวสายตา เป็นการผ่าตัดวิธีแรกสุด การผ่าตัดต้อกระจกจึงเริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ ตามลำดับดังนี้
- Couching เป็นการดีดแก้วตา/เลนส์ที่ขุ่น อาจทำโดยใช้มีดแทงเข้าบริเวณตาขาวเป็นทางก่อน แล้วใช้เครื่องมือทู่ๆ เข้าไปดีดแก้วตาให้หลุด หรือบางคนอาจใช้มีดคมๆ เข้าไปเขี่ยให้หลุด โดยผู้ป่วยนั่งเผชิญหน้ากับหมอ ด้านหลังผู้ป่วยมีผู้ช่วยคอยจับศีรษะผู้ป่วยให้นิ่ง ถ้าจะทำตาซ้ายผู้ป่วย หมอต้องใช้มือขวาใช้เข็มแทงเข้าตาขาว โดยใช้มือขวาของหมอแตะที่หน้าผากผู้ป่วยในทำนองเดียวกัน สำหรับตาขวาของผู้ป่วย หมอต้องใช้มือซ้ายแทง หมอจึงต้องทำได้ทั้ง 2 มือ ในสมัยนั้นไม่มียาชา ต้องนึกภาพว่าคงต้องมีการจับยึดตัวผู้ป่วยไม่ให้ขยับเขยื้อน
- วิธีดูดเลนส์/แก้วตาซึ่งมีบันทึกไว้โดย Jacques Daviel ถัดจากวิธี couching โดยใช้เข็มแทงเข้าไปในแก้วตาแล้วดูดออก ทำในรายที่ต้อกระจกสุกมากจนเนื้อในเป็นสีขาว ขุ่น เหลวๆ ดูดออกได้ ซึ่งยังใช้กันอยู่ในปัจจุบันในผู้ป่วยเด็ก แต่อาจมีการพัฒนาใช้เครื่องดูดที่สะดวกง่ายกว่าเดิมมาก
- การผ่าตัดเอาแก้วตาออกทั้งหมด กล่าวคือ แก้วตาคนเราปกติจะมีเนื้อแก้วตาร่วมกับถุงหุ้มแก้วตา วิธีนี้เอาออกทั้งแก้วตาและถุงหุ้มออกหมด เรียกว่า ICCE (intracapsular cataract extraction) เป็นวิธีทำกันค่อนข้างยาวนาน เพราะผลการผ่าตัดดี ผู้ป่วยมักจะเห็นทันที และจะเห็นดีมากทันทีถ้ามีแว่นสายตาช่วย การผ่าตัดไม่ยุ่งยากใช้เครื่องมือไม่มาก แต่เนื่องจากต้องเอาแก้วตาออกทั้งหมด แผลผ่าตัดต้องกว้างพออย่างน้อย 12-14 ม.ม. รอบๆ ขอบตาดำต่อตาขาว เกือบจะครึ่งวงกลม จึงต้องมีการเย็บแผล ซึ่งในสมัยก่อนไหมเย็บมีขนาดใหญ่ หลังผ่าตัดจึงมีอาการเคืองตามากอยู่หลายวัน ในปัจจุบันมีวิวัฒนาการไหมขนาดเล็กกว่าเส้นผม จึงทำให้อาการเคืองตาหลังผ่าตัดน้อยลง
- วิธีผ่าตัดเอาแก้วตาออก แต่เหลือเปลือกหุ้มแก้วตาไว้ เรียกว่า ECCE (extracapsular cataract extraction) โดยต้องกรีดเยื่อหุ้มแก้วตาออกเป็นแผลเปิด แล้วค่อยๆ เอาตัวแก้วตาออก วิธีนี้ขนาดแผลเล็กลง ยังเหลือถุงหุ้มแก้วตาไว้
- วิธีที่ทำในปัจจุบันเรียกกันว่า phacoemulsification เป็นการใช้เครื่อง ultrasound ไปสลายต้อให้มีขนาดเล็กลงแล้วดูดออก ถือเป็นวิธี ECCE เช่นกัน แต่ใช้เครื่องไปทำให้ต้อมีขนาดเล็ก แผลผ่าตัดจึงเล็กมากขนาดเท่าเครื่องที่สอดเข้าไปสลายประมาณ 2 – 3 ม.ม. เท่านั้น
โดยสรุป การผ่าตัดต้อกระจกหรือวิธีการเอาแก้วตาที่ขุ่นออก มีการทำอยู่ 2 แบบ
- แบบที่ 1 เอาแก้วตารวมทั้งถุงหุ้มแก้วตาออกทั้งหมดอาจทำโดย
- เอาออกทั้งคู่ให้พ้นจากแนวสายตา โดยการผลักออกให้พ้น แต่ตัวแก้วตายังอยู่ในตา ปัจจุบันไม่ทำกันแล้ว เพราะมีผลแทรกซ้อนมากตามมา ยังมีทำกันอยู่จากหมอเถื่อนที่หลอกลวงประชาชนต่างจังหวัดซึ่งต้องขจัดให้หมดไป
- เปิดแผลกว้างเอาออกทั้งคู่มาข้างนอกจากลูกตา ยังมีทำกันอยู่บ้าง ในกรณีแก้วตาเคลื่อนที่จนไม่อาจแยกถุงหุ้มออกได้ ค่อนข้างยุ่งยากในการฝังแก้วตาเทียมแทนที่แก้วตาเดิม
-
แบบที่ 2 เอาเฉพาะแก้วตาออกเหลือถุงหุ้มเอาไว้ ซึ่งอาจทำโดย
- กรีดถุงหุ้มแก้วตาออกด้วยมีดให้มีขนาดกว้างพอ แล้วดันแก้วตาออกมาทั้งอัน
- กรีดถุงหุ้มแก้วตา แล้วค่อยๆ สลายแก้วตาด้วยคลื่นเสียง แผลจะขนาดเล็กกว่า 2.1
- เจาะถุงหุ้มแก้วตา ใช้เครื่องดูดทำในรายที่เป็นต้อกระจกในเด็กที่เม็ดต้อนิ่ม สามารถดูดออกได้ (lens aspiration)
ซึ่งแบบที่ 2 นี้ สามารถฝังแก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แก้วตาที่เป็นโรค วิธีนี้จะใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด เป็นวิธีทีทำกันในปัจจุบัน