สารหลอนประสาท (Hallucinogen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารหลอนประสาท หรือ ยาหลอนประสาท หรือยาทำให้เกิดประสาทหลอน(Hallucinogen) หมายถึง สารประกอบหรือยาที่กระตุ้นให้สมองมีการรับรู้ที่ผิดไปจากปกติ/หลอนประสาท/ประสาทหลอน(Hallucination) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด อารมณ์ หรือแม้แต่ความสามารถควบคุมสติ ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน สารหลอนประสาทส่งผลทำให้ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่มิได้เกิดขึ้นจริง ซึ่งในแง่มุมของเภสัชวิทยา สาร/ยาหลอนประสาทเป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง ที่อยู่ในกลุ่มยาเสพติด หรือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

อาจใช้เกณฑ์ดังต่อไปนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐานระบุว่ายาใดจัดเป็นสารหลอนประสาท เช่น

  • สารหลอนประสาททำให้ ความคิด ความเข้าใจ การรับรู้ และอารมณ์ผิดไปจากปกติ นอกจากนั้นยังมีอิทธิพลสามารถครอบงำสติสัมปชัญญะอีกด้วย
  • ทำให้ปัญญา การจดจำถดถอยและน้อยลง มักมีอาการมึนงง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย
  • สารหลอนประสาทหลายตัว มักจะก่อให้เกิดฤทธิ์เสพติด การขาดยาหรือการหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้เกิดอาการถอนยาตามมา

สารหลอนประสาทถูกแบ่งออกเป็นกี่ชนิด?

สารหลอนประสาท

สารหลอนประสาทได้ถูกแบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 ชนิดย่อย ได้แก่

1. Psychedelics: เป็นสารหลอนประสาทที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการรับรู้และความเข้าใจมากเกินปกติจนกระทั่งมีผลต่อการเกิดภาพหลอนหรือได้ยินเสียงแว่ว กลุ่มยาSerotonin receptor agonists มีฤทธิ์เป็นสารหลอนประสาทประเภท Psychedetic ตัวอย่างของสารหลอนประสาทในกลุ่มนี้ ได้แก่ Lysergic acid diethylamide หรือที่เรียกย่อๆว่า LSD, Mescaline, Psilocybin และ N,N-Dimethyltryptamine(DMT) จากการศึกษาพบว่า Psychedelics เป็นสารหลอนประสาทที่มีความปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่าสารหลอนประสาทชนิดอื่น ด้วยไม่ทำให้เกิดการเสพติดเหมือนกับสารหลอนประสาทจำพวก ยากระตุ้น หรือ ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid)

2. Dissociatives หรือ Dissociative drug: เป็นสาร/ยาหลอนประสาทที่ทำให้เกิดการบิดเบือนของการรับรู้ การเห็นภาพ หรือการได้ยินเสียง ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ส่งผลต่อการควบคุมสติสัมปชัญญะทำได้น้อยลง สารหลอนประสาทชนิด Dissociative มักจะก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้ เช่น ซึมเศร้า เกิดฤทธิ์สงบประสาท กดการหายใจ ลดอาการปวด ทำให้มีอาการชา การทรงตัวทำได้ไม่ดี ลดระดับความรู้ความเข้าใจของสมอง และเกิดความจำเสื่อม ร่วมกับมีภาวะสูญเสียความเป็นตัวเองเกิดขึ้น ตัวอย่างของสารหลอนประสาทชนิดนี้ ได้แก่ยา Ketamine, Nitrous oxide, สารกลุ่มEmpathogen อย่าง MDMA หรือยากระตุ้นอย่าง Amphetamine และ Cocaine นอกจากนี้สารหลอนประสาทชนิด Dissociative บางตัวก็ถูกลักลอบนำไปใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง(Recreational drug) ได้เช่นกัน

3. Deliriant หรือ Deliriant drug: เป็นสาร/ยาหลอนประสาทที่มีความโดดเด่นในด้านทำให้เกิดอาการ คลุ้มคลั่ง เกิดภาวะงุนงง สับสน มีความเสื่อมทางจิต มีการสร้างเรื่องราว และสามารถคุยกับบุคคลที่ถูกสร้างภาพขึ้นมาเอง อาจใช้ศัพท์ทั่วๆไปที่เรียกว่า “บ้า” ก็ได้ ตัวอย่างของสารหลอนประสาทชนิดนี้สามารถพบได้ในพืชตระกูล Atropa belladonna, Brugmansia Datura stramonium, Hyoscyamus niger และ Mandragora officinarum โดยกลุ่มพืชดังกล่าวจะมีสารประเภท Tropane alkaloids เช่น Atropine, Scopolamine, และ Hyoscyamine สำหรับสารหลอนประสาท Deliriant แบบสังเคราะห์ ได้แก่ยา Diphenhydramine, Dimenhydrinate, Chlorpheniramine, Cyclizine, Doxylamine, Meclizine, Promethazine บางกรณีก็มีการลักลอบนำ Deliriant มาใช้เป็น ยากระตุ้น ความบันเทิง ที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายสูง ด้วยสารประเภทนี้มีความเป็นพิษและอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิต เพราะทำให้หัวใจเต้นเร็วจนเป็นเหตุให้หัวใจหยุดการทำงานตามมา

ความสัมพันธ์ของสารหลอนประสาทกับยาแผนปัจจุบันเป็นอย่างไร?

กลุ่มยาแผนปัจจุบันที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหลอนประสาทตามระดับความรุนแรงมีดังนี้

1. Psychedelics: การเกิดภาวะหลอนประสาทแบบนี้อาจมีสาเหตุจากการใช้ ยากลุ่ม 5HT2A receptor agonists, Serotonin releasing agents และ Cannabinoids

2. Dissociative: เป็นการหลอนประสาทแบบบิดเบือนการรับรู้ อาจมีสาเหตุ จากการใช้ยากลุ่ม N-methyl-D-aspartate receptor antagonists (NMDA receptor antagonists), K-opioid receptor agonists, และ GABAergics

3. Deliriants: การหลอนประสาทแบบ คลุ้มคลั่ง อาจมีสาเหตุจากการใช้ยาประเภท Anticholinergics อย่างขาดการควบคุม หรือมีการแอบใช้แบบผิดวิธี

สารหลอนประสาทส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองอย่างไร?

สาร/ยาหลอนประสาทจะทำให้เซลล์ประสาทในสมองเกิดการแปรผลการรับรู้อย่างผิดปกติ ส่งผลให้มีการตอบสนองและการแสดงออกที่ผิดแปลกจากเดิม มักจะเกิดจากระดับสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Serotonin ในสมองมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทำให้มีพฤติกรรมของการรับรู้และการควบคุมระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น อารมณ์ ความอยากอาหาร อุณหภูมิร่างกาย อารมณ์ทางเพศ การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ การเรียนรู้ และความจำ เปลี่ยนไป

สารหลอนประสาทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาที่มีฤทธิ์เป็นสารหลอนประสาทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง/ผลกระทบ)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน และมีน้ำลายมาก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพซ้อน หนังตากระตุก
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการทำงานของระบบทางเดินหายใจ/กดการหายใจ มีสารคัดหลั่ง/เสมหะออกมาที่หลอดลมมาก ทางเดินหายใจตีบแคบ/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นหรือลดลง หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีอาการผื่นคัน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดการกระตุ้นกล้ามเนื้อมากขึ้น/กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ฝันร้าย รู้สึกสับสน

มีข้อควรระวังการใช้สารหลอนประสาทอย่างไร?

หากใช้ยาที่มีฤทธิ์หลอนประสาทตามคำสั่งแพทย์ จะก่อให้เกิดความปลอดภัยและได้รับผลกระทบน้อย อย่างไรก็ตามยังมีข้อห้ามและข้อควรระวังการใช้สาร/ยาหลอนประสาทดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีแรงดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ห้ามใช้กับ สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้กับบุคคลโดยทั่วไปโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้สารหลอนประสาทกับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคจิต
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาหลอนประสาท) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

การเลือกใช้สารหลอนประสาทมีหลักเกณฑ์อย่างไร?

การเลือกใช้สาร/ยาหลอนประสาทของแพทย์ มีความสัมพันธ์กับอาการทางร่างกายของผู้ป่วยด้วย ในทางคลินิก ผู้ป่วย/ผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์หลอนประสาท จะต้องผ่านการตรวจร่างกายจากแพทย์ว่า เหมาะสมจะได้รับสารหลอนประสาทประเภทใด มีความเสี่ยงต่อการติดยาหรือไม่ ดังนั้นขนาดและระยะเวลาการใช้สารหลอนประสาทต่างๆ จึงต้องอยู่ภายในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/293752-overview [2018,Feb3]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Hallucinogen [2018,Feb3]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Psychedelic_drug [2018,Feb3]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Dissociative [2018,Feb3]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Deliriant [2018,Feb3]