สารละลายเด็กซ์โตรส (Dextrose solution)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- สารละลายเด็กซ์โตรสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- สารละลายเด็กซ์โตรสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- สารละลายเด็กซ์โตรสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- สารละลายเด็กซ์โตรสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- สารละลายเด็กซ์โตรสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สารละลายเด็กซ์โตรสอย่างไร?
- สารละลายเด็กซ์โตรสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสารละลายเด็กซ์โตรสอย่างไร?
- สารละลายเด็กซ์โตรสมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคตับ (Liver disease)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- โรคลมแดด โรคจากความร้อน (Heatstroke/Heat illness)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
บทนำ
เด็กซ์โตรส(Dextrose)หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ทางเคมีจัดให้เด็กซ์โตรสเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่ผลิตมาจากพืชประเภทข้าวโพด น้ำตาลชนิดนี้ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ง่าย และร่างกายสามารถนำไปสร้างเป็นพลังงานให้กับร่างกายได้ทันที ในทางคลินิกได้นำเด็กซ์โตรสมาละลายในน้ำ ให้เป็นสารน้ำ/สารละลาย ที่เรียกว่า “ สารน้ำเด็กซ์โตรส หรือ สารละลายเด็กซ์โตรส(Dextrose solution หรือ Solution of dextrose หรือ Dextrose injection หรือ Intravenous sugar solution หรือทางแพทย์เรียกสั้นๆว่า เด็กซ์โตรส/Dextrose)” และนำมาบำบัดรักษาอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมถึงช่วยลดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง
สารละลายเด็กซ์โตรสที่มีใช้ในสถานพยาบาลจะมีลักษณะเภสัชภัณฑ์เพื่อฉีดหรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ทำให้สารละลายนี้ปราศจากเชื้อโรคต่างๆ
สารละลายเด็กซ์โตรสมีหลายขนาดความเข้มข้น และมีสูตรตำรับที่มีส่วนผสมระหว่างเด็กซ์โตรสกับสารละลายโซเดียมคลอไรด์(Sodium chloride หรือ NaCL)ขนาดความเข้มข้น 0.45 และ 0.9% หรือแม้แต่การนำเด็กซ์โตรสไปผสมกับสารละลายอิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ชนิดอื่นๆ และได้สูตรตำรับอีกมากมายจนขยายผลเกิดเภสัชภัณฑ์ที่นำมาบำบัดโรคได้หลายประเภท อาทิ เช่น
- Peritoneal dialysis solution with 1.5% Dextrose ใช้เพื่อฟอกเลือดโดผ่านเครื่องไตเทียม
- Oral rehydration solution สำหรับรับประทานเมื่อมีอาการท้องเสีย
- Acetra solution เป็นสารละลายที่ถูกเตรียมเพื่อทดแทนการสูญเสียของเหลวในร่างกาย เนื่องจากบาดแผลไฟไหม้หรือจากอาการท้องเสีย
- Eye irrigation solution ใช้สำหรับชะล้างตาระหว่างทำการผ่าตัด
- ใช้ผสมสารอาหารประเภทกรดอะมิโน ไตรกลีเซอร์ไรด์ อิเล็กโทรไลต์ เพื่อเป็นสารอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดดำ
- ใช้ผสมกับยา Marcaine เพื่อใช้เป็นสูตรตำรับของยาชาเฉพาะที่
อนึ่ง สารละลายเด็กซ์โตรสยังมี ข้อห้าม ข้อควรระวัง ที่ควรทราบดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้ผลิตภัณฑ์ประเภทข้าวโพด/แพ้สารละลายเด็กซ์โตรส ด้วยเด็กซ์โตรสเป็นน้ำตาลที่ถูกสกัดมาจากข้าวโพด
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะโคม่าด้วยมีน้ำตาลในเลือดเกินเหตุจากโรคเบาหวานหรือภาวะโคม่าที่เกิดจากโรคตับ
- ไม่ควรใช้สารละลายเด็กซ์โตรสกับเด็กทารกแรกเกิด นอกจากมีคำสั่งแพทย์ เนื่องจากทารกมีโอกาสแพ้สารละลายเด็กซ์โตรสได้ง่าย
- การใช้เข็มฉีดยาเพื่อเปิดทางของหลอดเลือดดำในการนำสารละลายเด็กซ์โตรสเข้าหลอดเลือดดำ จะต้องเป็นเข็มฉีดยาใหม่ และใช้เข็มฉีดยานี้กับผู้ป่วยเพียงครั้งเดียว ห้ามใช้เข็มฉีดยาซ้ำ
- ห้ามใช้สารละลายเด็กซ์โตรสที่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปน เช่น ฝุ่นผงต่างๆ
- ต้องตรวจเลือดก่อนและหลังให้สารละลายเด็กซ์โตรสเพื่อวัดระดับเด็กซ์โตรส/น้ำตาลในเลือดว่าเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
- การใช้สารละลายเด็กซ์โตรส อาจทำให้มีปัสสาวะมากขึ้น
- กรณีที่เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากเด็กซ์โตรสที่รุนแรง เช่น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึก อึดอัด/ หายใจไม่ออก/ แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก ต้องหยุดให้สารละลายเด็กซ์โตรสทันที และรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที
สารละลายเด็กซ์โตรสจัดเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายกรณี การจะเลือกใช้สารละลายนี้ที่ความเข้มข้นใดๆก็ตาม จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว
สารละลายเด็กซ์โตรสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
สารละลายเด็กซ์โตรสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- บำบัดรักษาภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง
สารละลายเด็กซ์โตรสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของสารละลายเด็กซ์โตรสคือ เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย, ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำของร่างกาย, และยังส่งผลทำให้ลดการสูญเสียโปรตีนในเลือดด้วย นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการสะสมไกลโคเจน(Glycogen)ที่เป็นสารคาร์โบไฮเดรตในตับ และกรณีที่ใช้สารละลายนี้ร่วมกับยาอินซูลิน จะกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายดูดโปแตสเซียมในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ของร่างกายเพิ่มขึ้น เป็นผลให้เกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำลง ด้วยกลไกเหล่านี้เอง จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
สารละลายเด็กซ์โตรสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารละลายเด็กซ์โตรสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น สารละลายที่ประกอบด้วยสาร Dextrose หลายความเข็มข้น เช่น 2.5, 5, 10, 20, 25, 30, 38, 40, 50, 60 และ 70%
สารละลายเด็กซ์โตรสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
สารละลายเด็กซ์โตรสมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น สำหรับบำบัดรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น
- ผู้ใหญ่:ให้สารนี้ผ่านทางหลอดเลือดดำ โดยคำนวณเป็นน้ำหนักของเด็กซ์โตรส 10–25 กรัม
- เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีลงมา: ให้สารละลายนี้ทางหลอดเลือดดำโดยคำนวณน้ำหนักของเด็กซ์โตรส ขนาด 0.25-0.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง
- เด็กอายุมากกว่า 6 ปี: ให้สารละลายนี้ทางหลอดเลือดดำขนาด 0.5–1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ครั้ง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา/สารละลายนี้ และระยะเวลาในการใช้ยา/สารละลายนี้ที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยา/สารละลายนี้ของแพทย์ได้ การใช้ยา/สารละลายนี้ที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมสารละลายเด็กซ์โตรส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะ สารละลายเด็กซ์โตรส อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
สารละลายเด็กซ์โตรสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สารละลายเด็กซ์โตรสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อหลอดเลือด: เช่น เกิดลิ่มเลือดในบริเวณที่เข็มฉีดยาแทงเข้าบริเวณผิวหนัง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจเกิด ไข้ หมดสติ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมาก มีน้ำตาลในปัสสาวะ
มีข้อควรระวังการใช้สารละลายเด็กซ์โตรสอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้สารละลายเด็กซ์โตรส เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/ แพ้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากข้าวโพด
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินอยู่แล้ว
- ห้ามใช้กับผู้ที่มี ภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด มีภาวะโคม่าเหตุจากตับ
- กรณีให้ยา/สารละลายนี้โดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ ต้องปรับขนาดการหยดสารละลายเด็กซ์โตรสโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ การให้สารละลายนี้ในอัตราที่เร็วจน เกินไปสามารถสร้างภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากตามมา
- ตรวจปัสสาวะและตรวจเลือดเพื่อวัดระดับเด็กซ์โตรส/น้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ตามคำแนะนำของแพทย์
- การใช้สารละลายเด็กซ์โตรสกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องมาจากคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้สารละลายนี้ที่หมดอายุ
- ห้ามเก็บสารละลายนี้ที่หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมสารละลายเด็กซ์โตรสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
สารละลายเด็กซ์โตรสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
สารละลายเด็กซ์โตรสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้สารละลายเด็กซ์โตรสร่วมกับยาที่ใช้ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อตรวจหา โรคมะเร็ง โรคหัวใจ รวมถึงโรคลมชัก อย่างเช่น ยาFludeoxyglucose f18 (Fludeoxyglucose Fluoride 18, ยาสารกัมมันตรังสี) เพราะจะรบกวนการทำงานของ ยาFludeoxyglucose f18 ส่งผลให้การตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าวคลาดเคลื่อน
ควรเก็บรักษาสารละลายเด็กซ์โตรสอย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์สารละลาย/ยาเด็กซ์โตรสภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
สารละลายเด็กซ์โตรสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
2.5% Dextrose Injection (2.5% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Baxter |
5% Dextrose Injection (5% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Braun |
10% Dextrose Injection (10% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Braun |
20% Dextrose Injection (20% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Baxter |
25% Dextrose Injection (25% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Hospira |
30% Dextrose Injection (30% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Baxter |
38% Dextrose Injection (38% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Braun |
40% Dextrose Injection (40% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Braun |
50% Dextrose Injection (50% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Braun |
60% Dextrose Injection (60% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Baxter |
70% Dextrose Injection (70% เด็กซ์โตรส อินเจ็คชั่น) | Hospira |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Intravenous_sugar_solution[2017,July22]
- https://www.drugs.com/cdi/dextrose.html[2017,July22]
- https://www.drugs.com/monograph/dextrose.html[2017,July22]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/dextrose/?type=brief&mtype=generic[2017,July22]