สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ (Acetate ringer’s solution)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารละลายริงเกอร์อะซิเตต(Acetate ringer’s solution) ประกอบไปด้วยเกลือแร่หลายชนิดที่นำมาละลายในน้ำกลั่น และผ่านกระบวนการอบไอน้ำทำให้ปราศจากเชื้อ(Sterilization) ความเข้มข้นของเกลือแร่ในสารละลายริงเกอร์ อะซิเตต จะมีความเหมาะสมต่อ ผู้ที่สูญเสียเลือดอันเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุ ผู้ที่เสียเลือดจากการผ่าตัด ผู้ที่มีแผลไหม้ตามร่างกายที่รุนแรง และผู้ที่มีภาวะท้องเสีย/ท้องร่วงรุนแรง

สารละลายริงเกอร์ อะซิเตต มีส่วนประกอบของเกลือแร่ต่างๆต่อน้ำกลั่น 1 ลิตร ดังนี้

  • เกลือโซเดียม 130 มิลลิโมล(Millimole)
  • เกลือโปแตสเซียม 4 มิลลิโมล
  • เกลือแคลเซียม 2.7 มิลลิโมล
  • เกลือคลอไรด์ 108 มิลลิโมล
  • เกลืออะซิเตต 28 มิลลิโมล

เกลือแร่แต่ละตัวดังกล่าว มีหน้าที่และประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  • แคลเซียม: ใช้เป็นส่วนประกอบของฟัน-กระดูก และยังมีหน้าที่สำคัญต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ การนำกระแสประสาท รวมถึงการแข็งตัวของเลือดเพิ้อเกิดเป็นลิ่มเลือด
  • โซเดียม: เป็นเกลือที่ใช้ควบคุมสมดุลของน้ำ และการทำงานของกระแสประสาท ในร่างกาย
  • โปแตสเซียม: มีความจำเป็นต่อการทำงานของหัวใจ ไต กล้ามเนื้อ เส้นประสาท และระบบการย่อยอาหารของร่างกาย
  • คลอไรด์: เป็นเกลือที่ใช้เป็นส่วนประกอบของกรดไฮโดรคลอริก(Hydrochloric acid ย่อว่า HCl)ในกระเพาะอาหารเพื่อใช้กับกระบวนการย่อยอาหารรวม ถึงเพื่อสร้างสมดุลของปริมาณน้ำในร่างกาย ตลอดจนช่วยทำให้การทำงานของไตเป็นไปอย่างปกติ
  • อะซิเตท: ใช้เป็นแหล่งการผลิตเกลือไบคาร์บอเนต(Bicarbonate)โดยมีกระบวนการเปลี่ยน อะซิเตท ไปเป็นไบคาร์บอเนตที่เนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ ซึ่งไบคาร์บอเนตมีความจำเป็นในกระบวนการย่อยอาหาร และช่วยรักษาสมดุลของกรดแลคติก(Lactic acid)ที่เกิดขึ้นขณะที่ร่างกายมีการออกกำลังกาย หรือมีภาวะผิดปกติต่างๆ เช่น ภาวะช็อก มีการติดเชื้อในกระแสโลหิต หัวใจวาย เป็นต้น

การใช้สารละลายริงเกอร์ อะซิเตต จะมีในสถานพยาบาลเท่านั้น และคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์อยู่ในหมวดยาอันตราย ดังนั้นการใช้สารละลายนี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งและดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

สารละลายอะซิเตทริงเกอร์

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • สำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกายด้วยอุบัติเหตุ หรือมีการเสียเลือดมาก หรือใช้กับผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้/แผลไหม้รุนแรง รวมถึงผู้ที่มีอาการท้องเสียรุนแรง
  • เป็นสารละลายที่ใช้ทดแทนของเหลวในร่างกาย ก่อนและหลังหัตถการผ่าตัด

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีกลไกการออกฤธิ์โดย จะช่วยชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป พร้อมกับช่วยปรับความเป็นกรด–ด่างของเลือดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นสภาพจากการสูญเสีย น้ำ เกลือแร่ และเลือด ได้เร็วขึ้น

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

สารละลายอะซิเตทริงเกอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • สารละลาย ที่มีขนาดความจุ 500 , 1000 และ 2000 มิลลิลิตร/ขวด

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ที่ให้กับผู้ป่วย ต้องหยดเข้าหลอดเลือดดำตามคำสั่งแพทย์ โดยอาศัยผลการตรวจสอบร่างกายของผู้ป่วยมาเป็นแนวทางการคำนวณอัตราการหยดสารละลาย และปริมาณของสารละลายที่ต้องให้ผู้ป่วย และระหว่างการให้สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ จะต้องมีการตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆร่วมด้วย อาทิ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต เป็นต้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวม สารละลายอะซิเตทริงเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะสารละลายอะซิเตทริงเกอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ผื่นคันตามผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หัวใจเต้นช้า ง่วงนอน

มีข้อควรระวังการใช้สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/แพ้สารละลายอะซิเตทริงเกอร์
  • ห้ามใช้ร่วมกับยา Ceftriaxone โดยให้ทางหลอดเลือดดำ ด้วยจะเกิดการตกตะกอนของเกลือแคลเซียมกับยา Ceftriaxone ได้ง่าย
  • หยุดการให้สารละลายนี้ทันที หากพบว่าขณะผู้ป่วยได้รับยา/สารละลายนี้แล้วมีอาการแพ้เกิดขึ้น แล้วรีบแจ้งแพทย์/พยาบาล ทันที
  • ระวังการให้สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์กับผู้ป่วยที่มีภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง รวมถึงผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเลือดเป็นด่าง(Alkalosis) ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่อยู่ในภาวะบวมน้ำ
  • ระวังการใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • การหยดสารละลายอะซิเตท ริงเกอร์เข้าหลอดเลือดดำ จะต้องใช้อัตราการหยดที่เหมาะสม โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะเสียสมดุลเกลือแร่ในกระแสเลือด
  • ห้ามใช้ยา/สารละลายนี้ที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยา/สารละลายนี้ที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ร่วมกับยา Ceftriaxone ด้วยจะเกิดการตกตะกอนระหว่างแคลเซียมจากสารละลายแลคเตทริงเกอร์กับยา Ceftriaxone

ควรเก็บรักษาสารละลายอะซิเตท ริงเกอร์อย่างไร?

สามารถเก็บสารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยา/สารละลายให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง

สารละลายอะซิเตท ริงเกอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Acetar (อะซิตาร์)Thai Otsuka

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3771004/[2017,Aug12]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/acetar-acetar-5[2017,Aug12]
  3. https://www.symptomfind.com/nutrition-supplements/role-of-electrolytes-in-the-body/[2017,Aug12]
  4. http://www.ajkd.org/article/S0272-6386(82)80043-7/abstract[2017,Aug12]
  5. http://www.foodpyramid.com/dietary-minerals/chloride/[2017,Aug12]
  6. http://www.mgwater.com/bicarb.shtml[2017,Aug12]
  7. http://www.ndrugs.com/?s=ringer-acetate&t=side%20effects[2017,Aug12]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/calcium-chloride-with-ceftriaxone-474-0-557-0.html[2017,Aug12]