สารพิษจากเชื้อรา น่ากลัวกว่าที่คิด (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 15 ตุลาคม 2562
- Tweet
สารพิษไมโครทอกซินมีมากมายหลายชนิด แต่ที่พบมากในร่างกายมนุษย์และสัตว์ ได้แก่ สารพิษอะฟลาทอกซิน (Aflatoxins) สารพิษโอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A) สารพิษพาทูลิน (Patulin) สารพิษฟูโมนิซิน (Fumonisins) สารพิษซีราลีโนน (Zearalenone) เป็นต้น
สารพิษอะฟลาทอกซิน (Aflatoxins) เป็นสารพิษไมโครทอกซินที่มีพิษมากที่สุด เกิดจากเชื้อรา Aspergillus flavus และ Aspergillus parasiticus ที่เจริญเติบโตในดิน ผักที่เน่าเปื่อย หญ้าแห้ง และธัญพืช โดยพบบ่อยใน
- อาหารซีเรียลที่ทำจาก ข้าวโพด ข้าวฟ่าง (Sorghum) ข้าวสาลี และข้าว
- น้ำมันเมล็ดพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ทานตะวัน และเมล็ดฝ้าย
- เครื่องเทศ เช่น พริกแห้ง พริกไทยดำ ผักชี มะขาม และขิง
- ถั่วที่มีเปลือกแข็ง (Tree nuts) ต่างๆ เช่น ถั่วพิสทาชิโอ อัลมอนด์ วอลนัท ถั่วบราซิล (Brazil nut)
- น้ำนมของสัตว์ที่ถูกเลื้ยงด้วยอาหารปนเปื้อนเชื้อรา
การได้รับสารพิษอะฟลาทอกซินในปริมาณที่มากสามารถทำให้เกิดการเป็นพิษเฉียบพลันจากอะฟลาทอกซิน (Aflatoxicosis) และสามารถทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากตับถูกทำลาย นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า สารพิษอะฟลาทอกซินเป็นสารเคมีก่อมะเร็งที่มีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สารพันธุกรรม (Genotoxic) และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งตับในมนุษย์
สารพิษโอคราท็อกซิน เอ (Ochratoxin A) เกิดจากเชื้อรา Aspergillus และ Penicillium พบใน
- อาหารซีเรียลและผลิตภัณฑ์ของซีเรียล
- เมล็ดกาแฟ
- ผลไม้เถาแห้ง (Dry vine fruits)
- ไวน์และน้ำองุ่น
- เครื่องเทศ
- ชะเอม (Liquorice)
สารพิษโอคราท็อกซิน เอ เกิดขึ้นในขั้นตอนของการเก็บรักษาพืชผล ก่อให้เกิดความเป็นพิษในสัตว์ โดยสิ่งที่พบมากที่สุดคือ มีผลทำลาย ไต พัฒนาการของทารก และระบบภูมิต้านทาน
สารพิษพาทูลิน (Patulin) เกิดจากเชื้อรา Aspergillus, Penicillium และ Byssochlamys มักพบใน
- แอปเปิ้ลเน่าและผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล เช่น น้ำแอปเปิ้ลที่ติดเชื้อรา
- ผลไม้ที่ขึ้นรา
- ธัญพืช
สารพิษพาทูลินมีผลในการทำลายตับ ม้าม ไต และระบบภูมิต้านทานของร่างกาย และถือเป็นสารเคมีที่มีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สารพันธุกรรมเช่นกัน
แหล่งข้อมูล:
- Mycotoxins. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/mycotoxins [2019, October 14].
- Mycotoxin: Its Impact on Gut Health and Microbiota. https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fcimb.2018.00060/full [2019, October 14].