สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย (Immunomodulators)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 24 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งสารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมกินยา/ใช้สารปรับภูมิคุ้มกันควรทำอย่างไร?
- สารปรับภูมิคุ้มกันมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้สารปรับภูมิคุ้มกันอย่างไร?
- สารปรับภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสารปรับภูมิคุ้มกันอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressants or Immunosuppressive agents)
- ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)
- อินเตอร์ลิวคิน (Interleukins)
- วัคซีน (Vaccine)
บทนำ
ระบบภูมิคุ้มกัน(ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)ของร่างกาย เป็นระบบที่มีความสำคัญในฐานะช่วยป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นระบบที่มีความซับซ้อน ประกอบไปด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันหลายชนิดทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ดี มีบางภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่เป็นปกติ ทำให้เกิดโรคขึ้น เช่น โรคแพ้ภูมิตนเอง /โรคออโตอิมมูน(Autoimmune Diseases) เช่น โรคเกรฟส์ (Graves’ disease)/โรคคอพอกตาโปน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) โรคสะเก็ดเงิน(Psoriasis) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นต้น
สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย/สารปรับภูมิคุ้มกัน(Imunomodulators)/ยาปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย/ยาปรับภูมิคุ้มกัน(Immunomodulatory drug)เป็นกลุ่มของยาที่ช่วยในการปรับระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับผู้ป่วยหรือกับสภาวะที่มีควาหมาะสมในทางการแพทย์
สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายแบ่งออกได้เป็นสองชนิดคือ
1. กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) เป็นกลุ่มยาที่ใช้เพื่อรักษาในภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากเกินจากภาวะปกติ ดังที่กล่าวไปในย่อหน้าที่แล้ว รวมไปถึงการให้ยากลุ่มนี้เพื่อกดภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้ลดลงในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อป้องกันร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านอวัยวะใหม่(Transpant rejection)
2. กลุ่มยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (Immonoenhancers) เป็นกลุ่มยาที่ใช้เพื่อกระตุ้นการทำงานระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เป็นปกติ ปัจุบันมีการใช้ในผู้ป่วยโรคติดเชื้อ และผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) ยาในกลุ่มนี้ เช่น วัคซีนต่างๆ วิตามินต่างๆ และฮอร์โมนบางชนิด(เช่น Growth hormone)
ปัจจุบันการรักษาด้วยการปรับภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นที่นิยมนำมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น และมีการศึกษา พัฒนา วิจัยยาชนิดใหม่ๆ ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่ออวัยวะเป้าหมายในการรักษาโรคของอวัยวะนั้นๆมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยานั้นๆน้อยลง
สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีการทำงานใน 2 รูปแบบคือการกดภูมิคุ้มกันหรือการเสริมสร้างภูมิคุมิกัน ปัจจุบันมีการนำมารักษาโรคต่างๆ ดังต่อไปนี้
ก. กลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน: ได้แก่
1. ใช้ในการรักษาโรคแพ้ภูมิตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune Diseases) เช่น โรคลูปัส (Systemic Lupus Erthematosus; SLE) โรคเกรฟส์ (Graves’ disease) หรือโรคคอพอกตาโปน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคโครห์น (Chron’s Disease) เป็นต้น
2. ใช้ในการป้องกันและรักษาการต่อต้านอวัยวะใหม่ในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง
3. ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น โรคมะเร็งศีรษะและลำคอ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
ข. กลุ่มยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน: ได้แก่
1. ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดเรื้อรัง หรือ ติดเชื้อซ้ำ
2. ใช้ในการป้องกันโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคแกรนูโลมาทัสเรื้อรัง (Chronic Granulamatous Disease; CGD) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างสารที่ใช้กำจัดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เข้าสู่ร่างกายได้ ผู้ป่วยจะมีภาวะการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราซ้ำๆ, โรคอิมมิวโนโกลบูลินอีสูง (Hyperimmonoglubulinemia E syndrome; HIES หรือ Job’s syndrome)
3. ใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น การใช้วัคซีนบีซีจีในการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะเริ่มเกิดโรค/ระยะศูนย์
สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย มีกลไกการทำงานในรายละเอียดแตกต่างกันไปตามกลุ่มยาและชนิดของยา ตั้งแต่ยาในกลุ่มเดิมที่ออกฤทธิ์อย่างไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ยาในกลุ่มเสตียรอยด์ ยาที่ก่อให้เซลล์เป็นพิษ เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) จนถึงยาชนิดใหม่ๆที่มีการทำงานจำเพาะกับระบบภูมิคุ้มกันมากขึ้น เช่น การพัฒนายาในรูปแบบโมโลโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies) และยาที่ปรับภูมิคุ้มกันผ่านการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกายหรือผ่านสารสื่อประสาทในระบบภูมิคุ้มกัน (Cell Signaling) ได้แก่ อินเตอร์ลิวคิน (Interleukins) ไซโตไคน์ (Cytokines) และคีโมไคน์ (Chemokines) รวมไปถึงยาปรับภูมิคุ้มกันในกลุ่มอิมีน (Immunomodulatory imide drugs; IMiDs) ที่ทำงานร่วมกับสารภูมิคุ้มกัน อิมมิวโนโกลบูลินจี (Immunoglobulin G) อินเตอร์ลิวคิน 6 และ Tumor Necrosis Factor (TNF) หรือสารสื่อประสาทชนิดที่พบว่าทำให้มะเร็งตายได้ เป็นต้น
สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีรูปแบบการจัดจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบเภสัชภัณฑ์ อาทิ
- ยาชนิดเม็ดรับประทาน (Oral Tablets) เช่น ยาในกลุ่มเสตียรอยด์ (เช่นยาเพรดนิโซโลน/Prednisolone, ยาเด็กซามาธาโซน/Dexamethasone), ยาในกลุ่มที่เป็นพิษแก่เซลล์ (เช่น ยาเมโธเทรกเซท/Methotrexate), ยาในกลุ่มที่ยับยั้งแคลซินูริน(Calcineurin inhibitor)ซึ่งกดการทำงานของเซล์เม็ดเลือดขาว (เช่น ยาไซโคลสปอริน/Cyclosporin), ยาในกลุ่มเสริมสร้างภูมิต้านทาน เช่น ยาเลวามิโซล (Levamisole) เป็นต้น
- ยาชนิดฉีด (Injection) หรือการหยดเข้าหลอดเลือด(Infusion) เช่น ยาในกลุ่มที่เป็นพิษแก่เซลล์ เช่น ยาเมโธเทรกเซท, ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี ได้แก่ ยาริทูซิแมบ (Rituxinab) และยาซีทูซีแมบ (Cetuximab) เป็นต้น
- ยาชนิดยาผงพร้อมผสมเพื่อเป็นยาฉีด (Powder for Injection) หรือหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Powder for Infusion) ได้แก่ ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี เช่น ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab), ยาในกลุ่มที่เป็นพิษแก่เซลล์ เช่น ยาซัยโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)
- ยาใช้ภายนอก ประเภทยาทาผิวหนัง เช่น ยาทาโครลิมัส (Tacrolimus)
สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยา/สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย มีขนาดและความถี่ในการบริหารยา (หรือการใช้/ให้ยา) แตกต่างกันไปตามข้อบ่งใช้ และสภาพร่างกายตัวผู้ป่วย เช่น ความรุนแรงของโรคที่กำลังดำเนินอยู่ โรคประจำตัวอื่นๆที่เป็นร่วมอยู่ การทำงานของตับ ของไต รวมไปถึงยาอื่นๆที่ผู้ป่วยใช้ร่วมอยู่ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
เมื่อมีการสั่งสารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งใช้ยา/สารปรับภูมิคุ้มกันร่างกาย ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการ แพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน โดยเฉพาะหากใช้ยาอื่นใดที่มีฤทธิ์ในการกดหรือเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการใช้ยาต้านมะเร็ง เช่น ยาเคมีบำบัด
- ประวัติการเกิดโรคต่างๆ โรคประจำตัว ทั้งที่เคยเป็นมาในอดีตและโรคที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็ง เนื้องอก โรคติดเชื้อ (โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่มีลักษณะเรื้อรัง) ทั้งจากเชื้อไวรัส (เช่น โรคอีสุกอีใส โรคเริม งูสวัด) และโรคไวรัสตับอักเสบ
- แจ้งให้แพทย์/เภสัชกร/พยาบาลทราบ หากอยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
- แจ้งให้แพทย์/เภสัชกร/พยาบาลทราบถึงประวัติการรับวัคซีนตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ผู้ใช้ยาที่มีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนในช่วงเวลาที่ได้รับยากลุ่มนี้ เนื่องจากความเสี่ยงในการติดเชื้อจะมากขึ้นกว่าบุคคลทั่วไปที่มีภูมิคุ้มกันในระดับปกติ
หากลืมกินยา/ใช้สารปรับภูมิคุ้มกันควรทำอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ว หากลืมรับประทานยา ให้ทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับมื้อยาถัดไปแล้ว ให้ข้ามไปทานมื้อยาถัดไปตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หากเป็นยาในรูปแบบการฉีดหรือหยดยาที่ต้องให้ในสถานพยาบาล ให้รีบติดต่อสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการนัดหมายการให้ยา
ยาบางชนิดอาจมีวิธีการบริหารพิเศษ ในกรณีที่ลืม ผู้ป่วยควรสอบถามจากเภสัชกรขณะรับยานั้นๆว่า ควรปฏิบัติอย่างไรกรณีลืมการใช้ยานั้นๆ
สารปรับภูมิคุ้มกันมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สารปรับภูมิคุ้มกันอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ ในกรณีที่เป็นยาฉีดหรือหยดเข้าหลอดเลือด ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บบริเวณที่ฉีด มีอาการปวดบวมในบริเวณนั้นเป็นเวลาประมาณ 2-3 วันภายหลังการบริหารยา ซึ่งอาการเหล่านี้โดยทั่วไปจะค่อยๆบรรเทาลงและหายไปเอง แต่หากอาการเหล่านี้มีความรุนแรงมากขึ้น หรือไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล
กรณีเป็นยากลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง อาการแสดง เช่น การเจ็บคอบ่อยครั้ง มีไข้ มีอาการคล้ายเป็นโรคหวัดบ่อยๆ
ยา/สารปรับภูมิคุ้มกันบางชนิด อาจทำให้เกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร เภสัชกรอาจแนะนำให้รับประทานยาหลังอาหารเพื่อช่วยลดผลข้างเคียงของยา
ยา/สารปรับภูมิคุ้มกัน อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเสีย เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วย
ยา/สารปรับภูมิคุ้มกันบางชนิดมีฤทธิ์ในการกดไขกระดูก ทำให้การสร้างเม็ดเลือดน้อยลง ผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดต่ำจะมีอาการ ซีด เหนื่อยง่าย เลือดหยุดไหลยากเมื่อมีบาดแผลเป็นต้น ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยต้องรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที
หากอาการไม่พึงประสงค์จากยาปรับภูมิคุ้มกันมีความรุนแรง เช่น เกิดผื่นคันทั่วตามผิวหนัง ปวดท้องมาก ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง หรืออาเจียนอย่างรุนแรง การหายใจไม่เป็นปกติ มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผู้ป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที ทั้งนี้รวมไปถึงการแพ้ยา เช่น อาการ ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า บวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก เกิดผื่นคันขึ้นตามลำตัว หน้ามืด ความดันโลหิตตก/ต่ำ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที/ฉุกเฉิน
เนื่องจากยาในกลุ่มสารปรับภูมิคุ้มกันร่างกายมีจำนวนมาก ยาแต่ละชนิดอาจมีผลข้างเคียงจากยาแตกต่างกันไป รวมถึงอาการพิษ(ผลข้างเคียงที่รุนแรง) ผู้ป่วยควรรับฟังคำแนะนำจาก แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร อย่างเคร่งครัด และศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมถึงผลข้างเคียงและพิษของยานั้นๆในเอกสารกำกับยาของตัวยานั้นๆ
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยา/สารปรับภูมิคุ้มกัน เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด หรือทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
มีข้อควรระวังการใช้สารปรับภูมิคุ้มกันอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยา/สารปรับภูมิคุ้มกัน เช่น
- ไม่ใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานั้นๆหรือส่วนประกอบของยานั้นๆ
- ควรใช้ยาตามที่ระบุไว้ที่ฉลากของตัวยาหรือฉลากยาที่เภสัชกรจัดหาไว้ให้ ไม่เพิ่มหรือลดชนาดยาด้วยตนเอง และไม่หยุดใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- แพทย์อาจตรวจค่าปฏิบัติการอื่นๆ เช่น การตรวจเลือดดูค่าCBC ดูการทำงานของตับและของไต รวมไปถึงการตรวจหาระดับยาในกระแสเลือดในบางกรณี จึงมีความสำคัญมากที่ผู้ป่วยจะต้องเข้าพบแพท/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกๆครั้ง
- ผู้ป่วยควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรทราบทุกครั้งถึงยาที่กำลังใช้อยู่เมื่อไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- โดยทั่วไป ยาในกลุ่มสารปรับภูมิคุ้มกัน ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตร ผู้ป่วยต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ แม้ว่า เพียงสงสัยว่าจะตั้งครรภ์
- ยาในกลุ่มนี้บางชนิดพบในน้ำอสุจิได้ด้วย ผู้ชายที่ใช้ยาในกลุ่มนี้บางชนิดจำเป็นต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีการใช้ถุงยางอนามัยชายด้วย ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร เพิ่มเติมถึงยาที่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดจากฝ่ายชาย และปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมทั้งในผู้ป่วยหญิงหรือชายก็ตาม
- ยาแต่ละชนิดในกลุ่มนี้มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกโรคที่เคยเป็น และที่กำลังเป็นอยู่ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งหากได้รับการวินิจฉัยโรคต่างๆ ในระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้
- ไม่แบ่งปันยากลุ่มนี้ให้ผู้อื่นใช้ เพราะผู้ที่มีอาการใกล้เคียงกันอาจไม่ไม่ได้เป็นโรคเดียวกัน ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์ ยาใกลุ่มนี้ต้องใช้ในความควบคุมของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยา/สารปรับภูมิคุ้มกัน ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
สารปรับภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาในกลุ่มสารปรับภูมิคุ้มกัน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างหลากหลาย โดยทั่วไปจะมีปฏิกิริยากับยาที่มีผลในการกดภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำเกินไป เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ, ปฏิกิริยากับวัคซีนต่างๆ แม้ว่าวัคซีนจะมีความปลอดภัยในผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันปกติ, แม้แต่ยาเลวามิโซล (Levamisole) ซึ่งเป็นยาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาที่กดภูทั้มิคุ้มกัน เนื่องจากจะทำให้ยาที่ใช้ร่วมกันไม่ได้ประสิทิผลเต็มที่ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเว้นแต่แพทย์จะให้ใช้ได้
ยาในกลุ่มสารปรับภูมิคุ้มกัน ยังอาจมีปฏิกริยาระหว่างยากับยารักษาะเร็งชนิดอื่นๆ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยาต่างๆเสมอ
ข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยา อาจศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เอกสารกำกับยา ของตัวยานั้นๆ เนื่องจากยาแต่ละชนิดมีรายละเอียดปฏิกิริยาระหว่างยาแตกต่างกันออกไป หรือสอบถามได้จากแพทย์และเภสัชกร
ควรเก็บรักษาสารปรับภูมิคุ้มกันอย่างไร?
โดยทั่วไป การเก็บยา/สารปรับภูมิคุ้มกัน (ชนิดยาเม็ดรับประทาน) ควรเก็บในที่แห้งและเย็น หลีกเลี่ยงการเก็บในที่ชื้น เช่น บริเวณที่ใกล้ห้องน้ำหรือห้องครัว เก็บในที่ที่แสงแดดไม่สามารถส่องได้ถึงโดยตรง และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาบางชนิดอาจวิธีการเก็บรักษาพิเศษ ควรสอบถามจากเภสัชกรขณะรับยา ส่วนยาประเภทฉีด ควรสอบถามฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายานั้นๆ
บรรณานุกรม
- Autoimmune Diseases Fact Sheet. https://www.womenshealth.gov/a-z-topics/autoimmune-diseases[2017,Aug5]
- Kinjan Metha. Immunomodulators. https://www.slideshare.net/kinjan92/immunomodulators[2017,Aug5]
- Levamisole Drug Interaction. https://www.drugs.com/drug-interactions/levamisole-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Aug5]
- Sarathal KC. Immunomodulators. https://www.slideshare.net/rahulbs89/immunomodulators-37394791[2017,Aug5]
- พรสภัส บุญสอน. ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants or Immunosuppressive agents). http://haamor.com/th/ยากดภูมิคุ้มกัน[2017,Aug5]