สารคีเลตติ้ง (Chelating agent)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- สารคีเลตติ้งมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ตัวอย่างของสารคีเลตติ้งมีอะไรบ้าง?
- การบริหารยาและข้อควรระวังของการใช้ยาประเภทคีเลตติ้งเป็นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาสารคีเลตติ้งอย่างไร?
- สารคีเลตติ้งมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โลหะหนัก (Heavy metal)
- ดีเฟอริโพรน (Deferiprone)
- อีดีเทตแคลเซียมไดโซเดียม (Edetate calcium disodium)
- ดีเฟอร็อกซามีน (Deferoxamine)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
บทนำ
สารคีเลตติ้ง หรือ สารคีเลต(Chelating agent) ส่วนมากจะเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่สามารถรวมตัว หรือดักจับโลหะ และช่วยลดความเป็นพิษของโลหะนั้นมิให้ทำอันตรายต่อร่างกาย รวมถึงสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์หลายประเภทอย่าง เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นคว้าและหาประโยชน์จากสารคีเลตติ้ง โดยสรุปออกมา เป็นข้อๆดังนี้
1. ใช้ดักจับโลหะหนักที่ก่อให้เกิดพิษในร่างกาย
2. ใช้ดักจับโลหะในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อช่วยในเรื่องความคงตัว
3. ใช้บำบัดน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนด้วยโลหะหนักต่างๆ
4. ใช้ป้องกันหม้อต้มไอน้ำไม่ให้มีตะกัน หรือมีการรวมตัวของขยะที่ปนด้วยโลหะต่างๆเพื่อป้องกันการอุดตัน
5. ใช้เป็นสารเพิ่มความคมชัดของการทำเอ็มอาร์ไอ(MRI scan) ทำให้แพทย์วินิจฉัย ความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกายได้อย่างแม่นยำขึ้น
6. ใช้ผลิตเป็นอาหารเสริมให้กับฟาร์มปศุสัตว์ โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า การใช้กรดอะมิโนเป็นสารคีเลตติ้งเข้าจับกับแร่ธาตุที่เป็นกลุ่มโลหะบางอย่าง ทำให้การดูดซึมโลหะผ่าน เข้าสู่ร่างกายของสัตว์ได้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันได้พัฒนาสารคีเลตที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึม ธาตุเหล็กได้ง่ายยิ่งขึ้น สารคีเลตที่กำลังศึกษาดังกล่าวมีชื่อว่า Ferrous bisglycinate
สารคีเลตติ้งมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
คีเลต(Chelate) มาจากภาษากรีก หากแปลเป็นภาษาไทยหมายถึง ก้ามปู ลักษณะการทำงานของก้ามปู คือ การหนีบหรือจับ ดังนั้นสารคีเลตติ้ง(Chelating agent)จึงหมายถึง สารประกอบที่มีหน้าที่คอยดักจับโลหะที่อยู่ในรูปของสารละลาย โดยสารคีเลตติ้งจะมีการแบ่งปันอิเล็กตรอน(Electron)ที่อยู่ในโมเลกุลของตัวมันไปยังโลหะที่มีประจุไฟฟ้าบวก เพื่อเข้ารวมตัวกัน การแบ่งปันอิเล็กตรอนดังกล่าวจะทำให้เกิดแรงดึงดูดประจุโลหะและกลายเป็นพันธะเคมีที่มีชื่อเรียกว่า โคออร์ดิเนตโคเวเลนต์ (Coordinate covalent bond)
สารคีเลตติ้งยังถูกแบ่งตามการแบ่งปันอิเล็กตรอนดังนี้
- Monodentate: เป็นสารคีเลต ที่แบ่งปันอิเล็กตรอน 1 ตัวให้กับโลหะ
- Bidentate: เป็นสารคีเลตที่สามารถแบ่งปันอิเล็กตรอน 2 ตัวให้กับโลหะ
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันอิเล็กตรอนแบบ 3ตัว(Tridentate), 4ตัว(Tetradentate), 5ตัว (Pentadentate) อีกด้วย สารคีเลตติ้งที่รวมตัวกับโลหะจะเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนและมีชื่อเรียกว่า คีเลต(Chelate) ซึ่งง่ายต่อการกำจัดทิ้งหรือการนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆต่อไป
*หมายเหตุ:
- สารคีเลตติ้ง(Chelating agent) อาจเรียกในชื่ออื่นว่า Ligands, Chelants, Chelators, หรือ Sequestering agent
- คีเลต(Chelate) หมายถึง สารประกอบเชิงซ้อนที่เกิดจากการรวมตัวของ สารคีเลตติ้งและโลหะที่มีประจุบวก(Chelating agent + Metal ion)
ตัวอย่างของสารคีเลตติ้งมีอะไรบ้าง?
ปัจจุบันพบว่า สารคีเลตติ้งมีอยู่หลายรายการที่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงสารคีเลตติ้งที่ใช้เป็นยารักษาโรคเท่านั้น ได้แก่
- Deferoxamine: ใช้บำบัดอาการที่ได้รับพิษจากโลหะจำพวกธาตุเหล็ก มีเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด
- Deferiprone: ใช้กำจัดธาตุเหล็กในร่างกายเกินเช่นเดียวกับ Deferoxamine มีเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทานแบบเม็ด, แคปซูลและยาน้ำ
- Deferasirox: บำบัดอาการธาตุเหล็กในร่างกายเกิน จัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดชนิดรับประทาน
- Dimercaptosuccinic acid หรือ Succimer : เป็นยาคีเลตติ้งที่ใช้กำจัดพิษของตะกั่ว ปรอท และสารหนู จัดจำหน่ายในรูปแบบยาแคปซูลแบบรับประทาน
- Trientine: ใช้กำจัดพิษของตะกั่ว, ปรอท และทองแดง จัดจำหน่ายในรูปยาแคปซูลแบบรับประทาน
- Penicillamine: สามารถกำจัดโลหะทองแดงในร่างกายที่มากเกินไป สามารถใช้รักษาโรควิลสันส์ (Wilson’s disease, โรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยมาก ที่มีการสะสมทองแดงในร่างกายสูงผิดปกติ) บำบัดภาวะปัสสาวะมีสารซีสตีน(Cystine กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้) และใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ จัดจำหน่ายในลักษณะยาเม็ดชนิดรับประทาน
- Edetate calcium disodium: ใช้กำจัด ตะกั่ว สังกะสี และแมงกานีส จัดจำหน่ายในรูปของยาฉีดที่ต้องเตรียมเป็นสารละลายแล้วหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ
การบริหารยาและข้อควรระวังของการใช้ยาประเภทคีเลตติ้งเป็นอย่างไร?
ก่อนที่จะได้รับยาประเภทคีเลตติ้ง ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ การตรวจเลือด เพื่อประเมินว่ามีโลหะชนิดใดในร่างกายเกินระดับปกติ
ระหว่างที่ได้รับยาคีเลตติ้ง ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจระดับโลหะในเลือด พร้อมกับประเมินผลการรักษาตามที่แพทย์นัดหมาย
ยาคีเลตติ้ง สามารถสร้างผลข้างเคียงต่างๆกับร่างกายได้แตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิดของตัวยา นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังอีกหลายประการ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและก่อให้เกิดประสิทธิผลต่อการรักษา ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาคีเลตติ้งตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
ควรเก็บรักษาสารคีเลตติ้งอย่างไร?
สามารถเก็บสารคีเลตติ้ง ดังนี้
- เก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยา/สารนี้ที่หมดอายุแล้ว และ
- ห้ามทิ้งยา/สารนี้ลงในแม่น้ำลำคลอง หรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
สารคีเลตติ้งมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
สารคีเลตติ้ง มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Desferal (เดสเฟอรอล) | Novartis |
GPO-L-One (จีพีโอ-แอล-วัน) | GPO |
Ferriprox oral solution (เฟอร์ริพร็อกซ์ ออรัล โซลูชั่น) | ApotexAventis |
Kelfer (เคลเฟอร์) | Cipla |
Exjade (เอ็กเจด) | Novartis |
Chemet (เคเมท) | Recordati RareAventis |
CALCIUM DISODIUM VERSENATE (แคลเซียม ไดโซเดียม เวอเซเนต) | MEDICIS |
Penicillamine GPO (เพนิซิลลามีน จีพีโอ) | GPO |
Syprine (ไซพรีน) | Valeant Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- http://www.pharmainfo.net/navyasai/blog/chelating-agents [2018,July28]
- https://www.drugs.com/drug-class/chelating-agents.html [2018,July28]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Chelating_agents [2018,July28]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dimercaptosuccinic_acid [2018,July28]
- https://www.rxlist.com/chemet-drug.htm#description [2018,July28]
- https://www.drugs.com/mtm/trientine.html [2018,July28]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00566 [2018,July28]
- http://www.valeant.com/Portals/25/Pdf/PI/Syprine-PI.pdf [2018,July28]