สารกันเสียในยา (Pharmaceutical Preservatives)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารกันเสีย หรือ วัตถุกันเสีย บางคนเรียกว่า สารกันบูด(Preservative) เป็นสารเติมแต่งในผลิตภัณฑ์อาหาร ยาต่างๆ หรือเครื่องสำอาง เพื่อประโยชน์ในการชะลอการเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ(เชื้อฯ)ในผลิตภัณฑ์ หรือเพื่อให้อายุของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อยู่ได้นานขึ้น

สารกันเสียมีที่ในการใช้ในปัจจุบัน มีทั้งสารที่ได้จากธรรมชาติ และสารที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น โดยทั่วไป จะใช้สารกันเสียในผลิตภัณฑ์รูปของเหลวหรือที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากมีปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อฯได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแห้ง อย่างไรก็ดี ยาชนิดเม็ดแห้งหลายชนิดก็มีการใช้สารกันเสียเพื่อประโยชน์ความคงตัวของยา

ในทางเภสัชกรรม/ทางยา สารกันเสีย ไม่ได้หมายความถึงสารที่ช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงสารที่ช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวและมีอายุนานขึ้น สารกันเสียได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตยาซึ่งมีมาแต่ในอดีต และได้มีการศึกษากันอย่างแพร่หลายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเมื่อมีการผลิตยาในระดับอุตสาหกรรม สารกันเสียที่ถูกเลือกนำมาใช้ในการผลิตยานั้น ต้องได้รับการทดสอบแล้วว่า สามารถชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้หรือช่วยในเรื่องของความคงตัวของยาในช่วงระยะเวลาที่กำหนด มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้/ผู้บริโภค/ผู้ป่วย และมีความเข้ากันได้ดีกับตำรับยานั้นๆ

สารกันเสียในยามีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

สารกันเสียในยา

สารกันเสียในยาควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผู้ใช้ยา

2. ไม่เป็นพิษหรืออันตรายต่อผู้ใช้ยา

3. มีความคงตัวทั้งทางกายภาพและทางเคมี

4. มีความเข้ากันได้ดีกับสารอื่นๆในตำรับยา

5. ทีคุณสมบัติในการต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด

6. คุณสมบัติในการกันเสียของสารกันเสีย ควรเกิดขึ้นได้แม้ใช้ในปริมาณน้อยๆ

7. คุณสมบัติกันเสียของสารฯมีความคงตัวตลอดกระบวนการผลิต อายุของยา และในระหว่างการใช้ยา

ข้อบ่งใช้และข้อห้ามใช้สารกันเสียในยาคืออะไร?

การใช้สารกันเสียในยาส่วนใหญ่ เป็นการใช้ในผลิตภัณฑ์รูปแบบของเหลว เช่น ยาน้ำชนิดรับประทาน ยาหยอดตา หรือยาพ่นจมูก ที่สามารถใช้ได้หลายๆครั้ง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ยาที่แห้งไม่นิยมใช้สารกันเสียเนื่องจากไม่ได้มีน้ำซึ่งเป็นปัจจัยในการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเป็นส่วนประกอบ

อย่างไรก็ดี ยาบางชนิดแม้จะเป็นของเหลวก็ไม่นิยมใช้สารกันเสีย เช่น ยาน้ำชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือด ยาฉีดเข้าในข้อ หรือเข้าในไขสันหลัง/น้ำไขสันหลัง เป็นต้น โดยยาเหล่านี้จะได้รับการผลิตแบบปราศจากเชื้อและใส่ในบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว ยาหยอดตาบางชนิดก็ไม่มีสารกันเสียเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ยาหยอดตาเหล่านี้หลายๆครั้ง ผู้บริโภคควรสอบถามเภสัชกรขณะได้รับหรือซื้อยาว่า ยานั้นๆอยู่ได้นานเท่าไหร่หลังจากเปิดใช้ยาไปแล้ว เช่น ยาหยอดตาไม่ว่าก่อนใช้ ยาจะอยู่ได้นานประมาณ 1-2 ปี แต่เมื่อเปิดใช้ ยาจะอยู่ได้นานเพียง 1 เดือนนับจากวันเปิดขวดยา

สารกันเสียในยามีกี่ประเภท? และมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไรบ้าง?

สารกันเสียในยาสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ดังต่อไปนี้

ก. สารที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย (Antimicrobial Agents) เป็นสารที่มีคุณสมบัติต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียหลายกลุ่ม โดยออกฤทธิ์ผ่านการยับยั้งการสร้างกำแพงเซลล์/ผนังเซลล์(Cell wall)ของเชื้อแบคทีเรีย, ยับยั้งการสังเคราะห์สารโปรตีน, หรือยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) และ (RNA) ของเชื้อฯ เช่นสารกันเสีย เอธานอล (Ethanol), เบนโซเอท (Benzoates), โซเดียมเบนโซเอท (Sodium Benzoate), โพรพิโอเนท (Propionates), และไนเตรท (Nitrates)

โซเดียมเบนโซเอท เป็นสารกันเสียที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและทางยา เนื่องจากมีความสามารถในการละลายในของเหลวได้ดี อย่างไรก็ดี พบว่าสารนี้อาจส่งผลให้มีกลิ่นรบกวนในผลิตภัณฑ์บางชนิด และสามารถใช้ได้ในสารที่มีช่วงความเป็นกรด-ด่างจำเพาะเท่านั้น

ข. สารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) เป็นสารที่ช่วยยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation/ปฏิกิริยาในการถ่ายเทออกซิเจน) ซึ่งอาจทำให้ฤทธิ์ของคุณสมบัติของยาเปลี่ยนแปลงไป เช่นสารกันเสีย ซัลไฟท์ (Sulfites), วิตามินอี (Vitamin E), วิตามินซี (Vitamic C), บิวทิเลทไฮดรอกซีแอนิซอลหรือบีเอชเอ (Butylatedhydroxyanisole; BHA), บิวทิเลทไฮดรอกซีโทลูอีนหรือบีเอชที (Butylatedhydroxytoluene; BHT)

สารในกลุ่มนี้ เติมแต่งเพื่อเพิ่มความคงตัวของยาเป็นหลัก แต่สารบางชนิดอย่างวิตามินอีหรือวิตามินซี ไม่ได้มีส่วนช่วยในการชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อในผลิตภัณฑ์ วิตามินอีซึ่งละลายได้ในไขมันมีข้อจำกัดการใช้ในผลิตภัณฑ์จำพวกน้ำมันหรือไขมันเท่านั้น ขณะที่วิตามินซีก็มีความไวต่อแสงมาก และไม่คงตัวในผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นด่างหรือที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุโลหะหนัก ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินซีจึงต้องได้รับการปกป้องจากแสงแดด

สารบีเอชเอมีการนำมาใช้ในทางยา เช่น เป็นส่วนประกอบของยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin)ชนิดแคปซูลรับประทาน ใช้รักษาโรคสิว ยาโลวาสแตติน (Lovastatin)ชนิดเม็ดรับประทาน ใช้รักษาโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ส่วนสารบีเอชทีมีใช้มากในอุตสาหกรรมอาหาร

ค. สารคีเลต (Chelating Agents) เป็นสารที่มีคุณสมบัติจับกับแร่ธาตุประจุบวกเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อน ทำให้แร่ธาตุประจุลบไม่สามารถเข้าทำปฏิกิริยาได้ ทำให้สารมีความคงตัวมากขึ้น ใช้ในกรณีที่สารสำคัญในตัวยาเป็นสารประจุบวก สารคีเลตที่นำมาใช้ในทางยา เช่น เช่น อีดีทีเอ (EDTA, Ethylene-Diamine-Tetra-Acetic acid ) โพลีฟอสเฟต (Polyphosphate) และกรดซิตริก (Citric Acid)

อีดีทีเอ เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญในปัจจุบันในการใช้เป็นสารคีเลตทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง และทางยา ยาเสตียรอยด์ชนิดใช้ทาภายนอกบางชนิด ใช้อีดีทีเอเป็นส่วนประกอบ ในทางการแพทย์ก็มีการใช้อีดีทีเอในการรักษาผู้ป่วยที่เกิดพิษจากปรอทและตะกั่วในรูปของโซเดียมแคลเซียมอีดีเทต (Sodium calcium edetate)

ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของการใช้สารกันเสียเป็นอย่างไร?

การใช้สารกันเสียในตำรับยา ทำให้เกิดข้อกังวลในเรื่องของความปลอดภัยของสารกันเสียต่อผู้ใช้ยา หน่วยงานด้านยาในหลายประเทศทั่วโลกมีการทบทวนและตรวจสอบความปลอดภัยของสารกันเสียอย่างต่อเนื่อง เช่น สถาบันยาและเครื่องมือแพทย์ของประเทศเยอรมัน (German Federal Institute for Drugs and Medicinal Devices) ได้เสนอให้ยกเลิกการใช้สารเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzalkonium Chloride)ในผลิตภัณฑ์ยาที่บริหารทางจมูก/ใช้ทางจมูกเนื่องจากมีผลต่อระบบสารมูก และขนกวัด(Ciliated cell,เซลล์ที่มีขนใช้เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม)ในจมูก เป็นต้น

ปัจจุบันองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicine Agency) ได้กำหนดเกณฑ์และคำแนะนำการใช้สารกันเสียในยาในระเบียบการขึ้นทะเบียนยา และข้อแนะนำในการใช้สารเติมแต่งในผลิตภัณฑ์ยา ได้แก่ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ แต่หากใช้แล้วต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสารกันเสียกับสารอื่นๆในตำรับและใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

*ผู้ป่วยกลุ่มเด็ก แนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับยาที่มีส่วนประกอบของสารกันเสีย แม้แต่ผลิตภัณฑ์ยาทางตา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิด ดังนั้น ผู้ผลิตควรพัฒนาตำรับยาที่ ไม่ใช้สารกันเสียด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเด็กสามารถเข้าถึงยานั้นๆได้

*แม้ว่าข้อกำหนดของการใช้สารกันเสียในยาไม่ได้ครอบคลุมกลุ่มผู้ป่วยทุกกลุ่ม อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตยาต้องทำการศึกษาทดลองทางคลินิก เพื่อแสดงให้เห็นว่ายามีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยในกลุ่มอื่นๆด้วย เช่นในผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ซึ่งหากไม่ได้ทำการทดสอบหรือไม่ปลอดภัย ก็ต้องแจ้งแก่หน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนยา และต้องระบุในเอกสารกำกับยา

ผลข้างเคียงของสารกันเสียมีอะไรบ้าง?

โดยทั่วไป สารกันเสียที่ใช้ในทางยามีอยู่ในปริมาณน้อยและไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อเซลล์ของมนุษย์ อย่างไรก็ดี สารกันเสียอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น

  • แอลกอฮอล์และกรดเบนโซอิก(Benzoic acid)อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและเยื่อบุผิวต่างๆ
  • สารพาราเบน (Parabens) ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตา และต่อหลอดอาหารจึงไม่ใช้ในผลิตภัณฑ์ยาหยอดตา หรือในยาที่ให้ผ่านทางหลอดอาหาร
  • สารเบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (BKC, Benzalkonium Chloride) อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้บ้างแต่พบได้น้อย สารชนิดนี้ไม่ควรใช้ร่วมกับคอนแทคเลนส์เนื่องจากสารนี้สามารถจับกับเลนส์ และก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อตาได้

ข้อแนะนำสำหรับคนทั่วไปในวิธีเลือกใช้ยาที่มีสารกันเสีย

โดยทั่วไป สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ยามีปริมาณน้อยและมีความปลอดภัย แต่หากเลือกใช้ยาที่ใช้กับผู้ป่วยกลุ่มพิเศษ อาทิ ผู้ป่วยเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ สตรีให้นมบุตร ผู้มีประวัติโรคไต ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ยานั้นๆ รวมถึงหากกำลังใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ก็ควรสอบถามเภสัชกรก่อน เช่น การเลือกยาหยอดตาที่เหมาะสมหากกำลังใส่คอนแทคเลนส์ เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. HIGHLIGHTS OF PRESCRIBING INFORMATION. Durezol (difluprednate ophthalmic emulsion) 0.05%. US FDA https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/022212lbl.pdf [2017,Dec23]
  2. Lovastatin Drug Description. US FDA https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/019643s088lbl.pdf [2017,Dec23]
  3. Shaikh SM, Doijad RC, Shete AS, Sankpal PS; A Review on: Preservatives used in Pharmaceuticals and impacts on Health; PharmaTutor; 2016; 4(5); 25-34.
  4. David P. Elder, Patrick J. Crowley. Antimicrobial Preservatives Part Three: Challenges Facing Preservative Systems http://www.americanpharmaceuticalreview.com/Featured-Articles/38874-Antimicrobial-Preservatives-Part-Three-Challenges-Facing-Preservative-Systems/ [2017,Dec23]
  5. Piotr Kozarewicz. Preservatives: Are they safe? European Medicines Agency. March 2010. http://www.ema.europa.eu/docs/en_GB/document_library/Presentation/2010/09/WC500096784.pdf [2017,Dec23]