การสะแกนกระดูก โบนสะแกน โบนสแกน (Bone scan)

สารบัญ

บทนำ

การสะแกนกระดูกทั้งตัว (Bone scan) เป็นการตรวจทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (การตรวจโดยใช้ยาซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี) เพื่อหาพยาธิสภาพในกระดูกซึ่งมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ต่างๆมากมาย

สะแกนกระดูก

การสะแกนกระดูกมีประโยชน์อย่างไร?

การสะแกนกระดูก เป็นการตรวจที่ให้ความไว (Sensitivity, ความสามารถในการตรวจพบ)สูงมากในการตรวจพบรอยโรคของกระดูก จึงนิยมใช้เป็นการตรวจคัดกรอง (Screening) โรคกระ ดูกหลายชนิด แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจนี้ให้ความจำเพาะเจาะจง (Specificity, ความแม่นยำในการวินิจฉัยว่า เป็นโรคอะไร) ในการวินิจฉัยโรคไม่สูงนัก ทำให้อาจต้องมีการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การเอกซเรย์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพอวัยวะนั้นๆ

ดังนั้น สรุป ประโยชน์สำคัญของการสะแกนกระดูก คือ การตรวจเบื้องต้น (การตรวจคัดกรอง) ที่เป็นการตรวจภาพกระดูกทั้งตัวจากการตรวจเพียงครั้งเดียว เพื่อหาว่า กระดูกทั้งตัวมีรอยโรคเกิดที่กระดูกชิ้นใดบ้าง เช่น ในโรคมะเร็ง การสะแกนกระดูกจะช่วยการวินิจฉัยว่า อาจมีโรคมะ เร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกแล้ว เป็นต้น

ข้อบ่งชี้เพื่อตรวจสะแกนกระดูกมีอะไรบ้าง?

แพทย์จะส่งตรวจสะแกนกระดูกโดยมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ดังนี้

  • ตรวจวินิจฉัยภาวะการกระจายของมะเร็งชนิดต่างๆไปยังกระดูก (Bone Metastasis)
  • ตรวจวินิจฉัยมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ(มะเร็งที่เกิดจากเซลล์กระดูกเอง)
  • ตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกหัก
  • ตรวจวินิจฉัยภาวะกระดูกติดเชื้อ
  • ตรวจประเมินผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการใส่ข้อเทียม
  • ตรวจกระดูกอันมีผลมาจากความผิดปกติของกระบวนการทำงานของกระดูก (Metabolism) เช่น ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ ทำงานมากเกินปกติ
  • ตรวจภาวะกระดูกขาดเลือด (Avascular necrosis)

ข้อห้ามในการตรวจสะแกนกระดูกมีอะไรบ้าง?

มีข้อห้ามการตรวจสะแกนกระคูก คือ ห้ามตรวจในผู้ป่วยตั้งครรภ์

แต่สำหรับผู้ป่วยโดยทั่วไปไม่มีข้อห้ามใดๆทั้งสิ้น การตรวจนี้จะไม่มีผลต่อโรคทางอายุร กรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต และอื่นๆ

ในกรณีเด็กอ่อน ก็สามารถรับการตรวจได้เมื่อมีข้อบ่งชี้ ตัวอย่าง เช่น เพื่อการวินิจฉัยภาวะกระดูกติดเชื้อ หรือการปิดของกระหม่อมในกรณีเด็กหัวบาตร/หัวโต (Closure of the fontanel in case of hydrocephalus )

ผลข้างเคียงจากการตรวจสะแกนกระดูกมีอะไรบ้าง?

สารเภสัชรังสีที่ใช้ฉีดยาในการตรวจสะแกนกระดูก จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆทั้งสิ้นแก่ผู้รับการตรวจ อย่างไรก็ตาม มีรายงานพบอัตราการแพ้ยา ได้ 2-3 รายต่อการฉีดยา 100,000 ครั้ง

ขั้นตอนการตรวจสะแกนกระดูกเป็นอย่างไร?

ขั้นตอนการตรวจสะแกนกระดูก จะเริ่มจากแพทย์ส่งผู้ป่วยไปยังแผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพื่อขอนัดการตรวจ (ซึ่งบางโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยน้อย จะสามารถให้การตรวจในวันนั้นได้เลย) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะอธิบายขั้นตอนการตรวจ พร้อมแจกเอกสารวิธีเตรียมตัวตรวจ รวมทั้งการเซ็นต์ใบยินยอมรับการตรวจ

  • การเตรียมตัวตรวจ โดยทั่วไป ไม่มีการเตรียมตัวพิเศษใดๆทั้งสิ้น โดยเมื่อถึงวันนัด ผู้ ป่วยควรมาก่อนเวลานัดประมาณ 30 นาที เพื่อขั้นตอนในการทำเอกสาร พร้อม บัตรประจำตัวโรง พยาบาล บัตรประชาชน และใบนัดตรวจ
  • ขบวนการตรวจ เมื่อถึงเวลาตรวจ ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารเภสัชรังสี/ยาสารกัมมันตรังสี ที่เรียกว่า 99mTc-MDP [ซึ่งสารนี้เป็นอนุพันธ์ของสารฟอสเฟต (Phosphate)] เข้าทางหลอดเลือดดำ สารเภสัชรังสีนี้จะเข้าจับกับเนื้อกระดูก (Calcium Hydroxyapatite) เท่าๆกันทั้งโครงกระ ดูกทั้งตัว แต่เนื้อกระดูกที่มีพยาธิสภาพ (เป็นโรค/มีรอยโรค) จะมีการจับสารรังสีนี้มากขึ้น หรือ น้อย กว่าปกติ

จากนั้นผู้ป่วยจะรอประมาณ 2-6 ชม.หลังจากฉีดยา (ขึ้นกับโปรแกรมการตรวจของแต่ละหน่วยงาน) ในระหว่างการรอนี้ ผู้รับการตรวจมักได้รับคำแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ การรอเวลาและดื่มน้ำดังกล่าวก็เพื่อเพิ่มการจับของสารรังสีในเนื้อกระดูก และลดปริมาณรังสีในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (เนื้อ เยื่ออ่อน) รอบๆกระดูก (Soft tissue uptake) ซี่งมีผลให้ภาพที่ได้จากการตรวจมีคุณภาพที่ดี แปลผลได้ถูกต้องมากขึ้น

การดื่มน้ำจะทำให้ถ่ายปัสสาวะมากขึ้น ข้อสำคัญต้องระวังไม่ให้น้ำปัสสาวะปนเปื้อนลงบนร่างกาย หรือเสื้อผ้า เพราะเครื่องตรวจจะตรวจพบได้ ซึ่งจะเป็นผลให้การแปลผลทำได้ยากและอาจคลาดเคลื่อนผิดพลาด จึงแนะนำให้ใช้กระดาษชำระเช็ดน้ำปัสสาวะที่ค้างอยู่ให้แห้งเสมอ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายนั้น การดื่มน้ำปริมาณมากอาจเป็นข้อห้าม ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่จำเป็น ต้องดื่ม

เมื่อได้เวลาตามกำหนด ผู้ป่วยจะได้รับการเรียกให้เข้าห้องตรวจ โดยการตรวจจะทำโดยให้ผู้ป่วยนอนราบ/นอนหงายบนเตียงตรวจ ผู้ป่วยควรนอนอย่างผ่อนคลาย หายใจตามปกติ เพียงแต่ไม่ขยับตัวในระหว่างการตรวจ แล้วเครื่องตรวจอันได้แก่ เครื่องถ่ายภาพรังสีแกมมา จะค่อยๆเคลื่อนผ่านผู้ป่วย (เครื่องสะแกนจะสูงเหนือตัวผู้ป่วย ไม่มีการสัมผัสตัวผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงนอนได้อย่างปกติ รู้สึกปกติ ไม่มีการเจ็บปวด หรือ มีบาดแผล) พร้อมกับถ่ายภาพรังสีที่อยู่ในโครงกระ ดูก ซึ่งทั่วไปจะใช้เวลาสะแกนตรวจประมาณ 20-30 นาที

หลังการตรวจสะแกนกระดูกปฏิบัติตัวอย่างไร?

หลังการตรวจ ผู้รับการตรวจสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากสารเภสัชรังสีที่ใช้เป็นสารรังสีพลังงานต่ำ (มีความสามารถในการทะลุทะลวงต่ำ) มีความสามารถให้รังสีได้เพียงระยะ เวลาสั้นๆ (ประมาณ 6 ชั่วโมง) และในขบวนการตรวจซึ่งใช้เวลานาน สารรังสีนี้ก็จะมีการสลายตัว และถูกขับออกจากร่างกายในปริมาณมาก ทำให้เหลือค้างในร่างกายเพียงเล็กน้อย จึงไม่เป็นอัน ตรายต่อคนรอบข้าง สารเภสัชรังสีนี้ไม่ขับออกทางน้ำนม ผู้รับการตรวจจึงสามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามในรอบ 24 ชั่วโมงหลังการตรวจ น้ำปัสสาวะที่ขับถ่ายออกมา (สารกัมมันต รังสี/สารรังสีนี้จะขับถ่ายออกจากร่างกายทางปัสสาวะ) จะยังมีสารรังสีปนอยู่ จึงควรถ่ายปัสสาวะลงในโถส้วม และระมัดระวังการเปื้อนของน้ำปัสสาวะออกมาภายนอก แล้วจึงกดน้ำชะล้าง 2-3 ครั้ง

แปลผลตรวจอย่างไร? ทราบผลตรวจเมื่อไหร่?

ภายหลังการตรวจ แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์จะเป็นผู้แปลผล โดยจะพิจารณาจาก การกระ จายตัวของสารรังสีในโครงกระดูก ที่ความผิดปกติจะเห็นได้จากการจับสารรังสีที่มากหรือน้อยกว่าปกติ

ระยะเวลาที่ใช้แปลผลตรวจขึ้นกับความซับซ้อนของรายละเอียดของตัวโรค และปริมาณมากน้อยของผู้ป่วย ซึ่งอาจใช้เวลา 20-60 นาที หรือ 2-3 วัน

ภาพตัวอย่าง การตรวจสะแกนกระดูก

ภาพสะแกนกระดูกปกติ

ภาพสะแกนกระดูกปกติ

 
ภาพสะแกนกระดูกของมะเร็งกระดูกปฐมภูมิ

ภาพสะแกนกระดูกของมะเร็งกระดูกปฐมภูมิิ

 
ภาพสะแกนกระดูกแสดงมะเร็งกระจายมายังกระดูก

ภาพสะแกนกระดูกแสดงมะเร็งกระจายมายังกระดูก