สมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ สมองอักเสบจากภูมิต้านตนเอง (Autoimmune encephalitis)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 19 มกราคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติคืออะไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ?
- โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติได้อย่างไร?
- โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติรักษาอย่างไร?
- โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร?
- โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติป้องกันได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus) / โรคเอสแอลอี (SLE)
- โรคหนังแข็ง (Scleroderma): มารู้จักโรคหนังแข็งกันเถอะ
บทนำ
สมองอักเสบเป็นโรคที่ร้ายแรงต่อระบบประสาท และอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ถ้าได้รับการรักษาล่าช้า สาเหตุของสมองอักเสบมีหลายสาเหตุ เช่น ไวรัสสมองอักเสบ สมองอักเสบจากเชื้อรา ฝีสมอง (สมองอักเสบจากแบคทีเรีย) และสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ/สมองอัก เสบจากภูมิต้านตนเอง/สมองอักเสบจากโรคออโตอิมมูน (Autoimmune encephalitis) ซึ่งเป็นโรคที่เพิ่งมีการรายงานไม่นานมานี้ และพบมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ เรามารู้จักโรคนี้กันดี กว่า
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติคืออะไร?
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ คือ โรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายทำงานผิดปกติ โดยภูมิคุ้มกันที่จะต้องคอยปกป้องร่างกายให้ปลอดภัย แต่กลับตอบ สนองผิดปกติ กลับมีการทำร้ายเนื้อเยื่อสมองทั่วทั้งสมอง ทำให้เกิดเนื้อเยื่อสมองอักเสบ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้น
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นโรคพบได้ไม่บ่อย แต่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าพบมากน้อยเพียงใด ปัจจุบันที่มีการรวบรวมจากการรายงานผู้ป่วยทั่วโลก ที่ได้รับการตรวจวินิจ ฉัยยืนยันแน่ชัดว่าเป็นโรคนี้ มีมากกว่าร้อยราย แต่อาจมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยอีกจำนวนหนึ่ง จึงทำให้เราไม่ทราบสถิติของโรคอย่างแท้จริง
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ?
ส่วนใหญ่โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ พบในผู้ใหญ่ คือ ช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลาง คน และในผู้ที่เป็นโรคเนื้องอก หรือมะเร็งรังไข่ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนทั่วไป แต่โรคนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับโรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ และไม่มีความสัมพันธ์กับโรคที่เกี่ยว ข้องกับภูมิคุ้มกัน/โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองชนิดอื่นๆ เช่น โรคเอสแอลอี (SLE)
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบบ่อยและทำให้แพทย์คิดถึงโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ ได้แก่
- มีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น เอะอะโวยวาย สับสน ซึม
- มีความผิดปกติด้านการพูด เช่น พูดน้อยลง นึกคำพูดลำบาก หรือไม่พูด
- มีความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว โดยมักจะพบการเคลื่อนไหวผิดปกติบริเวณ ปาก ลิ้น ไหล่ คอ
- ชัก ทั้งแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว นิ่งเหม่อ หรือแบบพฤติกรรมผิดปกติ
- มีไข้
- ในระยะยาว จะมีความจำเสื่อม หลงลืม
อนึ่ง
- อาการผิดปกติดังกล่าวที่แตกต่างจากสมองอักเสบสาเหตุอื่นๆ คือ ความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหว การพูดที่น้อยลง ความผิดปกติด้านการพูด และจากความจำที่สูญเสียไป
- อาการผิดปกติทั้งหมด เกิดโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น ผู้ป่วยมักจะเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มต้นด้วยอาการผิดปกติทางพฤติกรรม ไม่มีเรื่องเครียดหรือการติดเชื้อเป็นตัวกระตุ้น
- ในกรณีที่เกิดร่วมกับเนื้องอก หรือมะเร็งรังไข่ อาการผิดปกติต่างๆ อาจเกิดก่อน หรือเกิดภายหลัง การเกิดโรคเนื้องอก หรือมะเร็งรังไข่ ได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ญาติควรพาผู้ป่วยพบแพทย์ทันที ที่มีอาการผิดปกติข้างต้น เช่น เคลื่อนไหวผิดปกติ พฤติกรรมผิดปกติ ซึม หรือชัก ไม่ควรซื้อยามาทานเอง และควรพาไปโรงพยาบาล ไม่ควรพาไปที่คลินิก
แพทย์วินิจฉัยโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติจาก อาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ สมอง ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่พบความผิดปกติ และการเจาะหลังเพื่อการตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF) ที่อาจพบ มีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น มีระดับโปรตีนและน้ำตาลปกติ และส่งตรวจทางภูมิ คุ้มกันที่ให้ผลบวกต่อแอนติบอดี (Antibody/สารภูมิต้านทาน) ชนิดที่เฉพาะต่อโรคนี้
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ ได้แก่ การให้ ยาสเตียรอยด์ ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณาให้ยาอิมมูโนกลอบบูลิน (Immuno globulin, ยาที่เป็นสารภูมิต้านทาน) ทางหลอดเลือดดำ หรือให้ยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์
ทั้งนี้ ในระยะแรก การรักษาจะเป็นการรักษาในโรงพยาบาลนานประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค หรือผลการรักษาโรคนี้ ให้ผลดีระดับปานกลาง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีปัญ หาเรื่องความจำที่เสียไป แต่จะค่อยๆดีขึ้นในระยะยาวมากกว่า 2 ปี หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญ หาเรื่องสมองเสื่อมตามมาในระยาวได้
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงของโรคนี้ ในช่วงนอนโรงพยาบาลคือ การติดเชื้อในโรง พยาบาล เช่น ปอดติดเชื้อ/ปอดอักเสบ เป็นต้น ส่วนระยะยาว คือ เรื่องความจำที่สูญเสียไป บางรายกลายเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ ?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคนี้ ได้แก่
- ผู้ป่วยต้องทานยาที่แพทย์จัดให้อย่างสม่ำเสมอ ครบถ้วน ไม่ขาดยา ซึ่งยาส่วนใหญ่ที่ได้นั้นอาจเป็นยากันชัก หรือยาที่ควบคุมพฤติกรรม ถ้าทานไม่สม่ำเสมอ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นรุนแรงขึ้น และ
- หมั่นฝึกฝนด้านความจำและพฤติกรรมตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ สม่ำเสมอ ตลอดไป เพื่อเป็นการพัฒนาด้านสมองให้ดีขึ้น เพื่อป้องกัน หรือชะลอการเกิดสมองเสื่อม
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
ผู้ป่วยโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติ ควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการ และ/หรือ พฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิม
- มีไข้ และ/หรือ
- มีอาการต่างๆกลับเป็นซ้ำ หรือเลวลง เช่น ชัก พูดลำบาก และ/หรือนึกคำพูดไม่ออก
- กังวลในอาการ
ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร?
การดูแลผู้ป่วยโรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติที่เหมาะสม คือ
- การกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมและใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ
- ฝึกสอนเรื่องการพูด ความจำ การเข้าสังคมให้ผู้ป่วยใหม่ (ตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ) เพราะผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถด้านนี้ไป และ
- ควรต้องพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัดเสมอ
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกติป้องกันได้อย่างไร?
โรคสมองอักเสบเหตุภูมิคุ้มกันผิดปกตินี้ ปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันได้ ยังไม่มีวัคซีน หรือยาที่ใช้ป้องกันโรคนี้
สรุป
ถ้าท่านมีญาติหรือคนรู้จัก ที่มีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรแนะนำให้รีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาล เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ