สมองล้า (Brain fog)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ: สมองล้าคือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดสมองล้า?
- สมองล้ามีอาการอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยสมองล้าอย่างไร?
- รักษาสมองล้าอย่างไร?
- สมองล้ามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ป้องกันสมองล้าได้ไหม?อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- นอนไม่หลับ (Insomnia)
- สุขลักษณะการนอน สุขอนามัยการนอน (Sleep hygiene)
- สมองเสื่อม (Dementia)
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
บทนำ: สมองล้าคือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
สมองล้า(Brain fog) คือ อาการเกิดจากสมองทำงานผิดปกติชั่วคราวจากสมองพักผ่อนไม่พอ, ที่มักมีสาเหตุ เช่น ความเครียด, วิตกกังวล, อ่อนเพลีย/อาการล้า, นอนหลับไม่พอ, การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศในร่างกายโดยเฉพาะเอสโตรเจน, ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ฯลฯ, จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง เกิดปัญหาใน กระบวนการรับรู้และความเข้าใจ, ขี้ลืมโดยเฉพาะความจำระยะสั้น, คิดไม่ออก, นึกคำไม่ได้, สับสน, ไม่มีสมาธิ, การคำนวณผิดพลาด, แต่ไม่มีอาการง่วงกลางวัน หรือ ง่วงซึม, ซึ่งสมองล้าจะหายได้เองเมื่อสาเหตุหมดไป
สมองล้า เป็นอาการพบบ่อยทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดที่ชัดเจน เพราะผู้ป่วยมักไม่ค่อยมาโรงพยาบาล อาการนี้พบได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่จะพบบ่อยขึ้นในผู้สูงอายุ, พบทุกเพศ พบบ่อยในเพศหญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน และวัยหมดประจำเดือนเพราะเป็นวัยมีการต่ำลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง
อนึ่ง: ชื่ออื่นของสมองล้า คือ Clouding of conscious, Mental fog
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดสมองล้า?
สมองล้า เกิดจากสมองอ่อนเพลีย/อ่อนล้าจนกระบวนการทำงานด้อยประสิทธิภาพลงในด้าน การรับรู้ ความเข้าใจ และ ความจำ ซึ่งอาการจากสมองล้าจะเกิดชั่วคราวจนกว่าสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจะได้รับการดูแลแก้ไข
ทั้งนี้ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของสมองล้ามีหลากหลาย ได้แก่
ก. ความเครียด โดยเฉพาะความเครียดสะสมเรื้อรัง
ข. นอนหลับกลางคืนไม่เพียงพอ หลับไม่ลึก หลับๆตื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดซ้ำๆ เช่นจาก
- เมาค้าง
- โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
- นอนกรน
ค. การขาดสมดุลของฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะเอสโตรเจน เช่น สตรีวัยใกล้หมดประจำเดือน, วัยหมดประจำเดือน, ช่วงการตั้งครรภ์, หรือในช่วงการปรับการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนเพศที่รวมถึง ชนิดและ/หรือปริมาณฮอร์โมนที่ใช้
ง. ขาดสารอาหารต่างๆ ที่พบบ่อย เช่น ภาวะขาดวิตามินบี12
จ. ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคบางชนิด: เช่น
- ยาแก้แพ้
- ยาเคมีบำบัด
- ยากลุ่ม แอนตี้มัสคารินิก
ฉ. โรคบางโรคที่มี กระบวนการอักเสบเกิดในร่างกาย, ความผิดปกติของระดับฮอร์โมนที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศ, ภาวะอ่อนเพลีย/อ่อนล้า, การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด, สมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย, ฯลฯ เช่น
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- โรคซึมเศร้า
- โรคไฟโบรมัยอัลเจีย
- กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง
- โรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(โรคเอมเอส), โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
- ไมเกรน
- โรคซีด
- โรคเบาหวาน
- ภาวะขาดน้ำ
- มีประวัติเคยเป็นโรคโควิด-19
สมองล้ามีอาการอย่างไร?
อาการสมองล้าที่พบบ่อย คือ
- รู้สึกอ่อนเพลีย/ล้าเกินเหตุ
- ขาดสมาธิ ถึงแม้จะรู้ตัวและพยายามตั้งใจให้มีสมาธิก็ตาม
- ขี้ลืมผิดปกติ ขี้ลืมโดยไม่สัมพันธ์กับอายุ
- ลืมสิ่งที่จะพูด, นึกคำไม่ออก ทั้งๆที่ใช้ประจำ
- ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานที่ทำได้ถึงแม้จะรู้ตัวและพยายามแล้วก็ตาม
- สับสน ตัดสินใจทั้งทำ หรือ ไม่ทำ ไม่ได้, แก้ปัญหาไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องเฉพาะหน้าทั้งๆที่เคยทำได้ดี
- รู้สึกสมองไม่แจ่มใส, มึนงงตลอดเวลา, คิดริเริ่มไม่ได้, ขุ่นมัว
- หงุดหงิดง่าย, อารมณ์แปรปรวน
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
- อาการต่างๆเกิดต่อเนื่อง
- อาการต่างๆเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ
- อาการต่างๆมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สังคม การงาน การเรียน
- มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ และ/หรือ ควบคุม ดูแล แก้ไข สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงนั้นๆให้ดีขึ้นหรือกลับมาเป็นปกติไม่ได้
- มีพฤติกรรมผิดปกติต่อเนื่อง ไม่ทำ หรือ จำไม่ได้ในสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ เช่น แปรงฟัน, จำทางกลับบ้านไม่ได้
- กังวลในอาการเหล่านั้น
แพทย์วินิจฉัยสมองล้าอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการสมองล้าได้จาก
- ประวัติอาการต่างๆ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติอุบัติเหตุต่อสมอง ผลกระทบของอาการต่างๆต่อชีวิต
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
- อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยแยกโรคตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือด เช่นดู โรคเบาหวาน, โรคซีด
- ตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
- การตรวจทางจิตเวช
รักษาสมองล้าอย่างไร?
แนวทางรักษาสมองล้า คือ การรักษาและดูแลปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ ที่สำคัญคือ
ก. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- นอนหลับให้เพียงพอ, ต้องมีสุขลักษณะการนอน
- ลดความเครียด เช่น พยายามเข้าใจชีวิต และเข้าใจความผิดหวังจากสิ่งที่คาดหมาย
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร
- กินวิตามิน แร่ธาตุ เสริมอาหาร ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนซื้อใช้เอง
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
ข. รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ให้ได้ดี (แนะนำ อ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่รวมถึง วิธีรักษา, การดูแลตนเอง, และการป้องกัน, ได้จากเว็บ haamor.com)
สมองล้ามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
สมองล้าเป็นภาวะที่ดูแลรักษาให้หายได้ทั้งจากตนเองและจากแพทย์ แต่ถ้าไม่แก้ไข ปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง อาจนำไปสู่
- การเสียคุณภาพชีวิตและเกิดปัญหาในชีวิต ทั้งในด้าน ครอบครัว การเรียน การงาน สังคม
- เกิดโรคด้านจิตเวชตามมา เช่น
- โรคซึมเศร้า
- โรคสมองเสื่อม
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีสมองล้า ได้แก่ พยามดูแลแก้ไขสิ่งที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ได้แก่
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่นเดียวกับที่กล่าวใน ‘หัวข้อ วิธีรักษาฯ’
- รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็น สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ ให้ได้ดี
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อ
- อาการมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การงาน การเรียน และ/หรือ
- อาการแย่ลง มีอาการต่อเนื่อง และ/หรือ
- กังวลในอาการ
ป้องกันสมองล้าได้ไหม?อย่างไร?
วิธีป้องกันสมองล้า จะเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’ คือ
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวใน ‘วิธีรักษาฯ’
- ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็น สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ให้ได้ดี
- ปรึกษา ครอบครัว ผู้ใหญ่ เพื่อน แพทย์/จิตแพทย์ เมื่อมีปัญหาในการงาน และ/หรือในชีวิต อย่าแก้ไขเองตามลำพัง
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Clouding_of_consciousness [2021,Feb20]
- https://www.medicinenet.com/brain_fog/article.htm [2021,Feb20]
- https://www.ohsu.edu/womens-health/brain-fog-vs-dementia [2021,Feb20]