สมองฝ่อ (Cerebral Atrophy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 15 มกราคม 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- สมองมนุษย์เรานั้นเติบโตตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
- สมองมนุษย์เราทำงานอะไรบ้าง?
- สมองของมนุษย์เราหยุดการเจริญเติบโตเมื่อใด?
- สมองฝ่อคืออะไร? ใช่สมองเสื่อมหรือไม่?
- นอกจากอายุแล้ว อะไรอีกที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้สมองฝ่อ?
- สมองฝ่อมีอาการอย่างไร?
- สมองฝ่อเกิดขึ้นทั้งสมองหรือเป็นบางส่วน?
- การฝ่อของสมอง แพทย์ทราบได้อย่างไร?
- แพทย์บอกว่าผลตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบภาวะสมองฝ่อ ควรทำอย่างไร?
- รักษาสมองฝ่ออย่างไร?
- สมองฝ่อแล้วรักษาหายไหม? การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากสมองฝ่อไหม?
- วิธีการชะลอการฝ่อของสมองมีหรือไม่?
- การฝึกสมองหรือออกกำลังสมองมีประโยชน์หรือไม่?
- การออกกำลังสมองด้วย Neurobic คืออะไร?
- การออกกำลังสมองทำอย่างไร?
- ถ้าพบว่าตนเองมีภาวะสมองฝ่อและเริ่มมีอาการหลงลืมควรทำอย่างไร?
- ผู้สูงอายุควรหมั่นใช้สมองหรือหยุดใช้สมอง?
- อาหารช่วยลดและ/หรือป้องกันสมองฝ่อมีหรือไม่?
- สรุป
บทนำ
“แม่สามีดิฉัน เป็นโรคสมองฝ่อ (Brain atrophy หรือ Cerebral atrophy) ใครพอมีความ รู้บ้างเกี่ยวกับโรคสมองฝ่อ ช่วยดิฉันด้วย เพราะตอนนี้ดิฉันและสามีเครียดมาก”
ผมเห็น คำถามนี้ในเว็บ (Web) แห่งหนึ่ง มีคนเข้าไปตอบเป็นจำนวนมาก บางคำแนะนำ ผมอ่านแล้วก็ตกใจว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับสมองฝ่อที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดความทุกข์ นอกจากมีภาวะ/โรคสมองฝ่อแล้วยังก่อให้ เกิดภาวะ/โรคใจฝ่ออีก 1 โรค ผมจึงเขียนบทความนี้ เพื่อให้เราเข้าใจได้ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสมองฝ่อ
ทั้งนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมาย ฝ่อ หมายถึง เหี่ยวยุบ เหี่ยวแฟบ “สมองฝ่อในความหมายทั่วไป จึงหมายถึง เนื้อสมองเหี่ยวยุบหรือเหี่ยวแฟบ”
สมองมนุษย์เรานั้นเติบโตตั้งแต่อายุเท่าไหร่?
สมอง (Brain) เป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกายที่เติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ และช่วงอายุ 0-6 ปีแรก การพัฒนาการสูงสุดของสมองอยู่ที่อายุ 12 ปี สมองจึงเป็นอวัยวะที่มีการพัฒนาการเร็วที่สุด ที่สำคัญคือ สมองไม่ได้เป็นอวัยวะธรรมดาที่พัฒนาอย่างอิสระ แต่เป็นอวัยวะที่เป็นตัวควบคุมและจัดระเบียบ ประสานงานกับระบบต่างๆของร่างกายที่ต้องมีการพัฒนา การขึ้นมา ด้วยอวัยวะต่างๆต้องถูกเชื่อมโยงและเหนี่ยวนำหรือกระตุ้นโดยสมอง อาจกล่าวได้ว่าสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด
สมองมนุษย์เราทำงานอะไรบ้าง?
สมองเป็นอวัยวะที่ควบคุมทุกระบบของร่างกาย ได้แก่
- การเจริญเติบโตของร่างกาย
- การทำงานและพัฒนาของระบบต่างๆในร่างกาย เช่น
- ระบบต่อมไร้ท่อ
- ระบบทางเดินหายใจ
- ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
- ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ชาย (ในผู้ชาย)
- และระบบสืบพันธุ์สตรี (ในผู้หญิง)
- รากฐานของการพัฒนาทุกด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติ ปัญญา ความเฉลียวฉลาด ภาษา วัฒนธรรม การสื่อสาร การสนใจ การตัดสินใจ คุณธรรม
หรือกล่าวได้ว่าสมอง เป็นปัจจัยกำหนดศักยภาพ อนาคตและคุณภาพชีวิตของคนเรา พวกเราจึงให้ความสนใจกับสมองเราอย่างมาก เช่น พยายามหาอาหาร หายาเพื่อมาบำรุงสมอง ไม่อยากให้สมองฝ่อหรือเสื่อม
สมองของมนุษย์เราหยุดการเจริญเติบโตเมื่อใด?
สมองของเด็กในช่วงแรกของชีวิต มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วภายใน 4 ปีแรกจะพัฒนาสูงถึง 80% และโตขึ้นจนใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ที่อายุ 10-12 ปี และจะค่อยๆมีขนาดใหญ่ที่สุดและเจริญเติบโตเต็มที่ตอนอายุ 25 ปี
แต่สมองเราไม่ได้หยุดการเรียนรู้ สมองเรายังสามารถพัฒนาความรู้ได้ตลอดชีวิต บางคนเข้าใจว่าพออายุมากแล้วไม่สามารถเรียนรู้ได้ ควรหยุดงาน หยุดใช้สมอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดมากๆ ดังนั้น หลังจากอายุ 25 ปี เนื้อสมอง ขนาดสมองจะค่อยๆลดลง หรือ ที่เราเรียก ว่าสมองฝ่อ แต่ยังสามารถมีการเรียนรู้และพัฒนาการให้ดีได้อย่างต่อเนื่องและไม่มีการหยุดการพัฒนา
สมองฝ่อคืออะไร? ใช่สมองเสื่อมหรือไม่?
สมองฝ่อ คือ เนื้อสมองมีปริมาณลดลง มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เป็นการเสื่อมของร่าง กายและอวัยวะตามธรรมชาติไม่ใช่โรค และอวัยวะอื่นๆก็มีการฝ่อด้วย เช่น ผิวหน้าเหี่ยวย่น ผมหงอก ผมร่วง ฟันโยก ฟันหลุด ตามัว หูตึง ดังนั้น สมองฝ่อกับสมองเสื่อมมีความแตกต่างกัน “โรค/ภาวะสมองฝ่อไมใช่โรคสมองเสื่อม”
นอกจากอายุแล้ว อะไรอีกที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้สมองฝ่อ?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของสมองฝ่อนอกจากอายุแล้ว ได้แก่
- อุบัติเหตุที่ศีรษะ
- การทานยากันชักไดแลนติน (Dilantin)
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน (เช่น โรค SLE: เอส แอล อี) โรคไตวาย โรคติดเชื้อในสมอง (เช่น สมองอักเสบ) โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
สมองฝ่อมีอาการอย่างไร?
สมองฝ่ออาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ อย่างที่บอกไปแล้วว่า เป็นการเติบโตของสมองที่ลดจำนวนเซลล์ของสมอง ขนาดของเซลล์ที่ลดลง แต่ความสามารถ ศักยภาพของสมองไม่ได้ลดลง ก็ไม่เป็นปัญหา ไม่มีอาการ ไม่ต้องกังวลใจ ถ้าใครเป็นสมองฝ่อ ที่จริงแล้วก็ไม่แตกต่างกับหน้าเหี่ยวย่น หูตึง กรณีที่มีอาการของสมองฝ่อ ได้แก่ ความจำไม่ค่อยดี หลง ลืม สติปัญญาลดลง อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง คล้ายกับอาการของโรคสมองเสื่อม แต่โรคสมองฝ่อไม่เหมือนกับโรคสมองเสื่อม และไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์
สมองฝ่อเกิดขึ้นทั้งสมองหรือเป็นบางส่วน?
สมองฝ่อเกิดขึ้นได้ทั้งทั่วสมอง หรือเพียงบางส่วนของสมอง ขึ้นกับสาเหตุหรือเป็นไปตามธรรมชาติ
- สมองฝ่อทั่วทั้งสมอง เกิดโดยธรรมชาติ เช่น โรคอัลไซเมอร์
- สมองฝ่อเฉพาะส่วน เช่น เกิดจาก อุบัติเหตุต่อสมอง การผ่าตัด ยากันชัก โรคสมองเสื่อมบางชนิด โรคหลอดเลือดสมอง
การฝ่อของสมอง แพทย์ทราบได้อย่างไร?
แพทย์จะวินิจฉัยได้ว่าเป็นสมองฝ่อหรือไม่ โดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือตรวจสนามแม่เหล็กไฟฟ้า/เอมอาร์ไอสมอง
แพทย์บอกว่าผลตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบภาวะสมองฝ่อ ควรทำอย่างไร?
เมื่อทราบว่า มีสมองฝ่อ ควรทำความเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรกว่า เรามีอาการผิดปกติของสมองหรือไม่ ถ้าไม่มีความผิดปกติ ก็ไม่ต้องกังวลใจอะไรทั้งสิ้น หรือมีอาการแต่ไม่ได้เกี่ยว ข้องกันเลย เช่น บางคนปวดศีรษะจากความเครียด หรือว่าวิงเวียนศีรษะ ไปตรวจเอกซเรย์คอม พิวเตอร์สมอง เพราะกังวลใจว่าจะมีโรคทางสมอง จึงขอแพทย์ตรวจ และผลการตรวจก็พบว่ามีสมองฝ่อ ดังนั้นไม่ต้องตกใจและไม่ต้องกังวลใจใดๆ
รักษาสมองฝ่ออย่างไร?
การรักษา/ภาวะโรคสมองฝ่อ ขึ้นกับผู้ป่วยมีอาการหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการอะไร ก็เป็นเพียงการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจทางรังสี (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ ) ของสมองเท่านั้น ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาใดๆ แต่ก็แนะนำให้ออกกำลังสมอง (จะกล่าวถึงในหัว ข้อต่อๆไป) ให้สม่ำเสมอ จะสามารถช่วยให้สมองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สมองฝ่อแล้วรักษาหายไหม? การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
ถ้าตรวจพบว่ามีสมองฝ่อ การรักษาสมองไม่ให้ฝ่อหรือให้กลับมาเป็นปกตินั้นไม่สามารถทำได้ แต่เราสามารถทำให้สมองมีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าเดิมได้ และชะลอการฝ่อหรือการเสื่อมของสมองได้ โดยการออกกำลังสมอง (จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อๆไป) และรักษาโรคที่เป็นโรคประจำตัว และสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของสมองฝ่อ
มีผลข้างเคียงจากสมองฝ่อไหม?
โรค/ภาวะสมองฝ่อที่พบจากการตรวจทางรังสีของสมอง โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆนั้น ไม่ถือว่าเป็นโรค จึงไม่มีผลข้างเคียงใดๆจากการตรวจพบ แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน คือ แพทย์บอกผลตรวจกับผู้ป่วยว่าตรวจพบสมองฝ่อ ผู้ป่วยก็ตกใจ อาจเป็นเพราะแพทย์ไม่ได้อธิบายให้ผู้รับการตรวจเข้าใจในรายละเอียด หรืออธิบายแล้วแต่ก็ยังไม่เข้าใจ หรือตกใจกับคำว่าสมองฝ่อ จนส่งผลให้มีอาการของการตกใจ หรือวิตกกังวลมากเกินไป หลังจากทราบผลการตรวจ ซึ่งพบบ่อยมากในการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ได้มีโปร แกรมการตรวจสุขภาพสมองดังกล่าว แต่ขาดการอธิบายในรายละเอียด จึงก่อให้เกิดผลข้าง เคียงทางใจตามมามากมาย เหมือนที่ผมเกริ่นตั้งแต่ต้น ว่าสมองฝ่อไม่อันตรายเท่าใจฝ่อ
วิธีการชะลอการฝ่อของสมองมีหรือไม่?
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สมองมนุษย์เรานั้นจะพัฒนาและเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี และต่อจากนั้นจะค่อยๆมีการฝ่อของสมอง แต่โชคดีที่สมองเราสามารถพัฒนาการเรียนรู้ความ สามารถได้ตลอดเวลาโดยการฝึกสมอง ซึ่งมีประโยชน์อย่างชัดเจน ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้น ข้อมูลทางการแพทย์ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าช่วยป้องกันสมองฝ่อ
การฝึกสมองหรือออกกำลังสมองมีประโยชน์หรือไม่?
การฝึกสมอง หรือ การออกกำลังสมอง (Neurobic exercise) สามารถเพิ่มจำนวนแขนง/เส้นใยของเซลล์ประสาท (Axon, มีหน้าที่ในการลำเลียงข้อมูลสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท) ได้ตลอดชีวิต สามารถเพิ่มความเชื่อมโยงของเซลล์สมอง ทำให้สมองมีการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต โดยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การฝึก ใช้สมองตลอดเวลา ไม่ทำอะไรซ้ำซาก ก็จะกระตุ้นให้สมองมีการแตกแขนงเส้นใยประสาทให้แตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น สมองเราก็จะดีขึ้น
การออกกำลังสมองด้วย Neurobic คืออะไร?
การออกกำลังสมองด้วย Neurobic คือ การฝึกทักษะสมอง นำแนวคิดการออกกำลังกายแบบแอโรบิกส์ ทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการขยับกล้ามเนื้อหลายๆส่วนมาประยุกต์ กลายเป็นวิธีบริหารสมองที่ใช้ประสาทสัมผัสไปกระตุ้นกล้ามเนื้อสมองหลายๆส่วน ให้ขยับและตื่นตัว ส่ง ผลให้เซลล์ประสาทแตกกิ่งก้านสาขา มีการเชื่อมโยงสื่อสารกันมากขึ้น เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ส่งผลให้สมองแข็งแรงขึ้น
การออกกำลังสมอง เกิดจากการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่
- การได้ยิน
- มองเห็น
- ได้กลิ่น
- ลิ้มรส
- และสัมผัสอารมณ์
ให้มีการเชื่อมโยงกัน เมื่อฝึกสมองบ่อยๆ จะมีการหลั่งสาร ชื่อ นิวโรโทรฟิน (Neurotrophin, สารโปรตีนชนิดหนึ่ง) หรืออาหารสมอง ทำให้เซลล์สมองมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น จึงแข็งแรงมากขึ้น
การออกกำลังสมองทำอย่างไร?
การออกกำลังสมอง ประกอบด้วย
- เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน เพราะการทำแบบเดิมโดยไม่คิดนั้น สมองจะไม่ถูกกระตุ้น เช่น เปลี่ยนลำดับกิจกรรมการใช้ชีวิต ตัวอย่าง เคยทานอาหารเช้าหลังอาบน้ำ ก็เปลี่ยนเป็นทานอาหารเช้าก่อนอาบน้ำ ดูทีวีรายการใหม่ ใช้มือซ้ายทำงานแทนมือขวา
- ใช้ประสาทสัมผัสมากขึ้น ได้แก่ การคลำสัมผัสของแทนการมองหา พูดร่วมกับการแสดงท่าทาง เล่นเกมฝึกสมอง เช่น ไพ่ หมากรุก เกมความจำต่างๆ ฝึกคิดเลข จำสิ่งของ บอกชื่อสัตว์ให้เร็วและมากที่สุดในเวลาที่จำกัด
- หาประสบการณ์ใหม่ เช่น ฝึกทำกิจกรรมใหม่ๆ เดินทางไปเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง
ถ้าพบว่าตนเองมีภาวะสมองฝ่อและเริ่มมีอาการหลงลืมควรทำอย่างไร?
สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีภาวะสมองฝ่อหรือเริ่มหลงลืม คือ
- ต้องหมั่นฝึกสมอง ออกกำลังสมองดังกล่าวแล้ว
- ตรวจสุขภาพว่ามีโรคหรือสาเหตุอะไรที่ทำให้หลงลืม เช่น โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบา หวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อที่จะได้แก้ไขและรักษาให้ถูกต้อง
ผู้สูงอายุควรหมั่นใช้สมองหรือหยุดใช้สมอง?
คำถามนี้เป็นสิ่งที่พบว่า คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าที่ไม่ถูกต้องอย่างมาก เพราะเข้าใจว่าผู้สูงอายุไม่ควรใช้สมอง ควรพักผ่อนมากๆ เพื่อถนอมสมองที่ฝ่อให้อายุสมองยืนนาน เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะการใช้สมองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ยิ่งเป็นการสิ่งเสริมให้เซลล์สมองมีการพัฒนาและมีการเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น ศักยภาพของสมองก็ยิ่งมีสูงขึ้น
อาหารช่วยลดและ/หรือป้องกันสมองฝ่อมีหรือไม่?
เนื่องจากการทำงานของสมองเกี่ยวกับสารสื่อประสาทโดยเฉพาะ สารที่ชื่อว่า อะซีทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความจำ พบว่ามีอาหารหลายชนิดที่มีการศึกษาว่า ช่วยบำรุงสมอง เช่น หอมหัวใหญ่ พริก ขิง ใบบัวบก ปลาทะเล เป็นต้น อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมเท่านั้น การดูแลร่างกายให้แข็งแรง ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพประจำปี ฝึกออกกำลังสมองสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่สำคัญ และถ้าร่วมกับทานอาหารที่มีคุณ ภาพข้างต้น ก็จะยิ่งทำให้สมองเรามีความแข็งแรงมากขึ้น
สรุป
ผมหวังว่าท่านผู้อ่านคงมีความสบายใจมากขึ้น ว่าสมองฝ่อไม่อันตรายอย่างที่คิด มันก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้น สุดท้ายย้ำอีกครั้งว่า สมองฝ่อไม่เท่ากับโรคสมองเสื่อม โชคดีครับ