สฟิงโกไมอีลิน (Sphingomyelin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สฟิงโกไมอีลิน(Sphingomyelin) หรือย่อว่า SPH เป็นอนุพันธ์ของสารประเภทไขมัน พบมากในเยื่อหุ้มเซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณส่วนแอกซอนของเซลล์ประสาท (Nerve cell axons) ในสฟิงโกไมอีลินยังประกอบด้วยหน่วยย่อยต่างๆอาทิ Phosphocholine , Sphingosine, และกรดไขมัน(Fatty acid)

นักวิทยาศาสตร์พบว่า สฟิงโกไมอีลินมีความเสถียรต่ออุณหภูมิร่างกายที่ 37 องศาเซลเซียส(Celsius) สามารถคงสภาพโครงสร้างเคมีในตัวมันเองได้ดีกว่าไขมันประเภทฟอสโฟไลปิด (Phospholipids)ชนิดอื่นๆ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวมันอยู่ในเซลล์ประสาทได้ยาวนาน จากความเสถียรและองค์ประกอบของสฟิงโกไมอีลินทำให้ไขมันประเภทนี้มีบทบาทสำคัญในการส่งสัญญาณกระแสประสาทของสมองซึ่งมีความสัมพันธ์กับความคิดอ่าน การเรียนรู้ การจดจำ ตลอดจนกระทั่งการพัฒนาสติปัญญาของแต่ละบุคคล

หน้าที่ของสฟิงโกไมอีลินมีอะไรบ้าง?

สฟิงโกไมอีลิน

หน้าที่ของสฟิงโกไมอีลิน ได้แก่

1. สฟิงโกไมอีลินเป็นองค์ประกอบสำคัญและมีเป็นจำนวนมากในไมอีลินชีท(Myelin sheath)/ปลอกประสาท ซึ่งพบมากในเซลล์ประสาทส่วนที่เรียกว่า แอกซอน(Axons) หน้าที่ของไมอีลินชีท คือ เพิ่มความเร็วการนำกระแสประสาทของร่างกาย โดยสฟิงโกไมอีลินเป็นสารจำพวกไขมันที่ช่วยทำให้การทำงานของสมองและไขสันหลังเร็วและดีขึ้น

2. การเสื่อมสภาพของสฟิงโกไมอีลิน จะทำให้ได้สารประเภทไขมันที่มีลักษณะแข็ง มีจุดหลอมเหลวประมาณ 40 องศาเซลเซียส เราเรียกไขมันประเภทนี้ว่า Ceramide เซลล์ที่ตายแล้วจะพบ Ceramide เป็นปริมาณมาก นักวิทยาศาสตร์จึงนำปริมาณ Ceramide มาเป็นสัญญาณบ่งบอกสภาพการตายของเซลล์ในร่างกายและพยายาม เชื่อมโยงการใช้ Ceramide เป็นตัวชี้วัดผลกระทบของเซลล์มะเร็งที่มีต่อเซลล์ปกติ และยังต้องการเวลาในการหาข้อสรุปอีกสักระยะหนึ่ง

3. ใช้สฟิงโกไมอีลินเป็นตัวบ่งบอกการเจริญเติบโตของปอดในเด็กทารกแรกคลอด ปอดของทารกจะต้องมีสารลดแรงตึงผิวเพื่อทำให้แรงดันในถุงลมลดลง สารลดแรงตึงผิวดังกล่าวประกอบด้วย ไขมัน โปรตีน และ Glycoprotein จากการวิจัยพบว่า ส่วนของไขมันจะมีองค์ประกอบของ Lecithin(L) และ Sphingomyelin(S) ซึ่งหากสัดส่วนของ L : S น้อยกว่า 1.5 จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก(Respiratory distress syndrome) ทางคลินิกจึงใช้อัตราส่วนของ L : S มาประเมินการทำงานของปอดในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

4. สฟิงโกไมอีลินที่อยู่บริเวณผิวของเยื่อหุ้มเซลล์จะทำให้ตัวเซลล์มีความแข็งแรง ช่วยป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่จะเข้ามาทำอันตรายต่อเซลล์

ประโยชน์ของสฟิงโกไมอีลินต่อร่างกายมีอะไรบ้าง?

ประโยชน์ของสฟิงโกไมอีลินต่อร่างกาย เช่น

1. เป็นองค์ประกอบใน Myelin sheath ของเซลล์ประสาททำให้เพิ่มประสิทธิภาพการ นำส่งกระแสประสาท จึงเป็นเหตุให้การทำงานของสมองและของไขสันหลังเป็นไปอย่าง ปกติ นอกจากนี้ สฟิงโกไมอีลินยังช่วยปกป้องและเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์ ประสาท ทำให้มีอายุการทำงานยาวนานขึ้น

2. สฟิงโกไมอีลินที่ได้จากอาหาร จะช่วยยับยั้งการดูดซึมของไขมันคอเลสเตอรอลจาก ลำไส้เล็ก จึงเป็นการช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งส่งผลดีต่อตับ รวมถึง ระบบหลอดเลือดและหัวใจไม่ให้มีการสะสมคอเลสเตอรอลมากจนเกินไป

3. ใช้สฟิงโกไมอีลินเป็นเครื่องชี้วัดสุขภาพของร่างกาย เช่น

  • การมีระดับสฟิงโกไมอีลินในเลือดสูง ส่งผลลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ
  • อัตราส่วนของ Lecithin : Sphingomyelin(L:S) ในปอดเด็กทารก ช่วยวินิจฉัยสภาวะ การเจริญของปอดในเด็กทารก
  • ใช้ประเมินสภาพการตายของเซลล์ในร่างกาย

4. สฟิงโกไมอีลินจะถูกเปลี่ยนเป็น Ceramide ซึ่งเป็นไขมันที่มีความแข็งแรงและ มีการกักเก็บ Ceramide ไว้ที่เซลล์ผิวหนัง ทำให้สามารถป้องกันการสูญเสียความชื้น ออกนอกร่างกายได้เป็นอย่างดี

สารอาหารประเภทใดที่มีสฟิงโกไมอีลิน?

นอกจากการสังเคราะห์สฟิงโกไมอีลินในร่างกายแล้ว การบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมก็มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มปริมาณของสฟิงโกไมอีลินในร่างกาย

สำหรับอาหารที่มีการตรวจพบสฟิงโกไมอีลิน เช่น น้ำนมมารดา เราจึงมักได้ยินคำพูดที่ว่า เด็กที่ดื่มนมแม่จะแข็งแรงและฉลาด นอกจากนี้ เรายังพบสฟิงโกไมอีลินใน ไข่แดง นมวัว

อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหารทุกประเภท ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลและความต้องการของร่างกาย การรับประทานอาหารมีประโยชน์ครบ5หมู่ และถูกสัดส่วนจะทำให้ร่างกายได้รับสฟิงโกไมอีลินได้อย่างเพียงพออยู่แล้ว

ส่วนการที่จะทราบว่า ร่างกายอยู่ในภาวะขาดสฟิงโกไมอีลินหรือไม่นั้น ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยแต่เพียงผู้เดียว

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sphingomyelin [2018,aug18]
  2. http://himedialabs.com/TD/TC279.pdf [2018,aug18]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Myelin#Function [2018,aug18]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Lecithin%E2%80%93sphingomyelin_ratio [2018,aug18]
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3567029/ [2018,aug18]
  6. https://biology.stackexchange.com/questions/57945/what-do-sphingolipids-do-in-humans [2018,aug18]
  7. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3765565/ [2018,aug18]
  8. https://lipidworld.biomedcentral.com/articles/10.1186/1476-511X-12-125 [2018,aug18]
  9. http://www.public.iastate.edu/~duahn/teaching/Neobiomaterials%20and%20Bioregulation/Egg%20Components.pdf [2018,aug18]
  10. https://www.jdsjournal.com/article/S0923-1811(12)00238-1/fulltext [2018,aug18]